ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ย้ำการใช้กัญชาทางการแพทย์มาจากงานวิจัยสามารถบรรเทาอาการและรักษาโรคได้ เน้นความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ไม่สนับสนุนสันทนาการทุกรูปแบบ

เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 66 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในประเทศไทยมีการนำกัญชาซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่มีมายาวนานมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วย จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้มีการวิจัยสารกัญชามาใช้ทางการแพทย์ เพื่อให้มีการใช้ในผู้ป่วยอย่างปลอดภัยและผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาได้อย่างมีคุณภาพ  โดยดำเนินการครอบคลุมหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุขกว่า 90% ในปีงบประมาณ 2565 ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชา มากขึ้นถึง 159.64% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยประคับประคองกว่า 8,000 คน ส่วนการวิจัยมีกว่า 60 เรื่อง ครอบคลุมทั้งการปลูกการผลิต การใช้และการวางระบบเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ส่งผลให้ปัจจุบันมียากัญชาถึง 10 รายการถูกคัดเลือกเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับปี 2566 จะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งกรมการแพทย์ได้จัดทำคำแนะนำในการใช้กัญชาทางการแพทย์เป็น 3 กลุ่ม คือ ได้ประโยชน์ น่าจะได้ประโยชน์ และอาจจะได้ประโยชน์ 

ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ในการบรรเทาอาการและรักษาโรค

ซึ่งผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ในการบรรเทาอาการและรักษาโรค เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนชัดเจน ได้แก่ การศึกษาวิจัยติดตามการรักษาโรคลมชักรักษายากในเด็กด้วยสารสกัดกัญชา CBD สูง ร่วมกับยากันชักหลายชนิด เป็นระยะเวลา 12 เดือน จำนวน 14 ราย พบว่า ผู้ป่วยมีอาการชักรุนแรงลดลง 50% ในสัดส่วนครึ่งหนึ่ง และลดอาการชักได้ 100% สัดส่วน 14% ทุกรายมีผลข้างเคียงแต่ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และมักเกิดในช่วง 3 เดือนแรก จึงควรเริ่มยาในขนาดต่ำ เพิ่มขนาดอย่างช้าๆ และเฝ้าระวังผลข้างเคียง ถือว่าช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว  

ส่วนโรคพาร์กินสัน การใช้กัญชาทางการแพทย์ในกลุ่ม Cannabidiol เป็นยาเสริมการรักษาโรคพาร์กินสันจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย ซึ่งมีการศึกษาขนาดเล็กจำนวน 21 คน ใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ พบว่า คะแนนคุณภาพชีวิตดีขึ้นในกลุ่มที่ใช้ CBD ขนาด 300 มิลลิกรัม อีกการศึกษามีผู้เข้าร่วมวิจัย 4 คน พบว่า สาร CBD สามารถลดพฤติกรรมผิดปกติขณะนอน และมีการศึกษาในผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอาการทางจิต 6 คน ให้สาร CBD 150 มิลลิกรัมต่อวัน เพิ่มขนาดทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 150 มิลลิกรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า ลดอาการทางจิตได้โดยที่ไม่ทำให้อาการแย่ลงและไม่ก่ออาการข้างเคียง การดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคองผ่านคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ลดอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างการรักษา ไม่ได้มุ่งผลการรักษาต่อก้อนมะเร็งโดยตรง ดำเนินการตั้งแต่ปี 2563-2565 มีผู้รับบริการรายใหม่แผนปัจจุบัน 433 ราย แผนไทย 52 ราย ติดตามการรักษา 821 ครั้ง ให้คำปรึกษา 1,441 ครั้ง

ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอมากที่สุด รองลงมาคือมะเร็งด้านนรีเวช ปอด ฯลฯ ผู้ป่วย 70% อยู่ในระยะที่ 4 มักมาด้วยอาการนอนไม่หลับ 39% ปวด 35% หลังให้การดูแลมีอาการดีขึ้น 58% ส่วนการวิจัยสารสกัดกัญชาเพื่อรักษาโรคมะเร็งในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งได้ผลดีในเซลล์มะเร็งตับอ่อน เซลล์มะเร็งท่อน้ำดี และเซลล์มะเร็งเต้านม เมื่อศึกษาต่อในหนูทดลอง เปรียบเทียบ 5 กลุ่ม คือ กินยาหลอก ได้รับยาเคมีบำบัด ได้รับสารสกัดกัญชาขนาดต่ำ กลาง และสูง พบว่า สารสกัดกัญชาไม่มีผลต่ออัตราการกินอาหาร น้ำหนักตัว และผลทางโลหิตวิทยาของหนูทดลอง สามารถลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง และเพิ่มการตายแบบ Apoptosis ของเซลล์มะเร็งเต้านม

การวิจัยการนำสารสกัดจากกัญชา

ซึ่งผลวิจัยนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการประเมินความปลอดภัยและศักยภาพของสารสกัดกัญชาในการรักษาโรคมะเร็งในงานวิจัยในมนุษย์และผู้ป่วยมะเร็งได้ต่อไป  นอกจากนี้ยังมีการวิจัยการนำสารสกัดจากกัญชา CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้น เพื่อลดอาการถอนเมทแอมเฟตามีน ลดการกลับไปเสพซ้ำ และการวิจัยนำสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้นมาใช้ร่วมกับยาต้านอาการทางจิต เพื่อช่วยลดอาการทางจิต และลดพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง  การวิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์รักษาโรคผิวหนัง และเวชสำอาง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้บรรจุน้ำมันสารสกัดจากกัญชา 3 สูตร ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร เพื่อนำไปใช้รักษาประชาชนในสถานพยาบาล รวม 3 รายการ ประกอบด้วย 1.น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี THC เด่น ใช้เสริมการรักษาภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับเบื่ออาหาร หรือ ปวดในระดับปานกลาง 2.น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD เด่น รักษาโรคลมชักในเด็ก 3.น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD และ THC สัดส่วน 1 ต่อ 1 ใช้รักษาเสริมในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ซึ่งที่ผ่านมา น้ำมันสารสกัดกัญชาทั้ง 3 มีรายงานทางการแพทย์นำไปใช้กับผู้ป่วยพบว่าได้ผลดี