ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นโยบายสาธารณสุขเลือกตั้ง 66

นโยบายสาธารณสุขเลือกตั้ง 66 พรรครวมไทยสร้างชาติ ชูนโยบายโรงพยาบาลวิสาหกิจเพื่อสังคม พรรคไทยสร้างไทย เพิ่มคุณภาพเป็นบัตรทองพลัส ใช้หมอ AI มาช่วยหมอจริง ปรึกษาแพทย์ผ่าน Telemedicine  

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา 5 สำนักข่าวประกอบด้วย Hfocus,  The Better,  Today,  The Active  และคมชัดลึก ผนึกกำลังร่วมจัดเวทีดีเบต "นโยบายสาธารณสุขเลือกตั้ง 66" ซึ่งมีตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมเพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็นสิทธิการรักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ 1.สิทธิสวัสดิการข้าราชการหรือกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลาง 2.กองทุนประกันสังคม 3.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ภาคประชาชนเสนอว่าควรมีการรวม 3 กองทุนให้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการเดียวให้ สำนักงานหลักประกันสุขแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นคนบริหารจัดการ 

พรรครวมไทยสร้างชาติ ชูนโยบายโรงพยาบาลวิสาหกิจเพื่อสังคมรักษาฟรีทุกสิทธิ์  

นพ.เหรียญทอง แน่นหนา คณะทำงานด้านสาธารณสุข พรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ความเห็นว่า ขณะนี้การรวมกองทุนยังมีอุปสรรค จึงจำเป็นที่จะต้องแก้ไขเรื่องสิทธิประโยชน์ของ 3 กองทุนที่แตกต่างกันก่อน แต่ไม่ได้เลิกล้มความคิดนี้ เนื่องจากพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคใหม่ จึงต้องศึกษาลงลึกโดยผู้มีประสบการณ์ภายในพรรค สมมติว่าการรวมกองทุนเป็นวิธีที่ดีที่สุดและสามารถทำได้โดยไม่กระทบผู้มีสิทธิแต่ละกองทุน ก็อาจดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ นโยบายสาธารณสุขของพรรครวมไทยสร้างชาติ เช่น

นโยบาลสาธารณสุขเชิงรุก

ด้วยการป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ ลดอุบัติการณ์เจ็บป่วยและเสียชีวิต ให้มีสุขภาวะ 4 มิติ ได้แก่ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางสังคม และสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งจะมีนโยบาย 3 สนับสนุน บวก 1 พัฒนา
•    สนับสนุนการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่เกื้อกูลต่อการมีสุขภาวะที่ดี
•    สนับสนุนภาคีสื่อสาร การรณรงค์เพื่อให้ประชาชนมีทักษะความรู้ความสามารถ สร้างเสริมสุขภาพตัวเอง เพื่อให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตให้มีสุขภาพที่ดี 
•    สนับสนุนให้มีชุมชนและสังคมเข้มแข็ง ช่วยขับเคลื่อนให้ภาครัฐกำหนดนโยบาย 
•    พัฒนาโครงสร้างให้สังคมเกิดสุขภาพที่ดี

นโยบาลสาธารณสุขเชิงรับ 

การสาธารณสุขเชิงรับ ต้องเป็นฐานปฏิบัติการเชิงรุกในเรื่องสาธารณสุขเพื่อสร้างนำซ่อมด้วย โดยมีเป้าหมายดังนี้
•    ระบบสาธารณสุขต้องมีการกระจายตัวอย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ 
•    ระบบสาธารณสุขต้องทันสมัย มีมาตรฐาน
•    ระบบบริการสาธารณสุขต้องพร้อมที่จะเผชิญปัญหาสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ รวมถึงโรคอุบัติซ้ำ 

นพ.เหรียญทอง กล่าวด้วยว่า สิ่งแรกที่ต้องเริ่มต้นทำทันที ต้องแก้ไขปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลรัฐ ลดการรอคอยของผู้ป่วย ผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นปัญหาของระบบบริการสาธารณสุข โดยใช้เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่สำคัญให้ทุกเขตและอำเภอมี 1 โรงพยาบาลวิสาหกิจเพื่อสังคมรักษาฟรีทุกสิทธิ์ เป็นแนวคิดให้มีภาคเอกชนที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เข้ามามีส่วนร่วม แก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.2562 

"นโยบายสาธารณสุขเลือกตั้ง 66"

"แนวคิดนี้จะนำมาสนับสนุนให้เกิดโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยพิจารณาพื้นที่ในเขตเมืองที่ยังขาดหน่วยบริการในจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่น เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ นครราชสีมา สงขลา อุบลราชธานีหรืออุดรธานี ใน 1 เขตควรมีอย่างน้อย 1 โรงพยาบาล เพื่อแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งจะดึงภาคเอกชนเข้ามาลงทุน โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุนตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เช่น ผู้ถือหุ้นร่วมลงทุนสร้างโรงพยาบาลสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ รวมถึงให้เช่าที่ดินราชพัสดุตามอัตราที่กรมธนารักษ์กำหนด เพื่อจูงใจให้บริษัทห้างร้านและนิติบุคคล มารวมตัวกันสร้างโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม" นพ.เหรียญทอง กล่าว

นพ.เหรียญทอง ยังกล่าวถึงนโยบายเพิ่มขีดความสามารถโรงพยาบาลชุมชนในชนบท ว่า โรงพยาบาลชุมชนในชนบท ที่มีขีดความสามารถน้อย ก็ใช้โรงพยาบาลเอกชนที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ขึ้นสมทบมาเป็นคู่สัญญากัน (Public-Private Partnerships) ช่วยดูว่า โรงพยาบาลในชนบทขาดอะไร ก็ไปจัดตั้งช่วยเหลือ เช่น จัดตั้งหน่วยไตเทียมในโรงพยาบาลชุมชนในชนบท และให้เบิกจ่ายตามระบบแต่ละกองทุน

พรรคไทยสร้างไทย เพิ่มคุณภาพเป็นบัตรทองพลัส ใช้หมอ AI มาช่วยหมอจริง

ด้าน ดร.สุวดี พันธุ์พาณิช พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า พรรคไทยสร้างไทย มีเป้าหมายเป็นสังคมอุดมสุขภาพหรือ Wellbeing Society ให้ประชาชนแข็งแรง รักษาเร็วและรักษาหาย โดยมีนโยบายสำคัญ เช่น

  1. นโยบายเพิ่มคุณภาพบัตรทอง เป็นบัตรทองพลัส นโยบายแรก 30 บาทพลัส สุขภาพดีทั่วหน้า เพราะต้องการให้คนไทยสุขภาพดี โดยใช้หมอ AI มาช่วยหมอจริงทำงาน ดูแลสุขภาพคนอยู่ในมือถือด้วย Telemedicine ป้องกัน รักษาโรค รวมถึงสะสมแต้ม เมื่อสุขภาพดีมีรางวัลให้ หากเจ็บป่วยเล็กน้อย คุยกับหมอจริงในมือถือได้เลย ตรวจเลือด ตรวจแล็ปได้ในคลินิกใกล้บ้าน รวมถึงรับยาได้ใกล้บ้าน หมอมือถือจะทำนัดให้พบแพทย์ในโรงพยาบาล ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวไปได้ทุกที่ ผู้ที่ใช้สิทธิร่วมจ่าย พรรคจะเข้าไปปรับปรุงบริการและการใช้สิทธิในโรงพยาบาลเอกชนให้มากขึ้น เพื่อลดภาระโรงพยาบาลรัฐ
  2. สังคมอุดมสุขภาพ โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น บ้าน วัด โรงเรียน ร้านอาหาร ที่ทำงาน ให้ทุกที่พัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เป็นมิตรกับสุขภาพกายและสุขภาพจิต ดูแลรักษาคนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง เช่น คนพิการและผู้สูงวัย ทำอาหารปลอดภัยไกลมะเร็ง ลดไขมัน ความดัน เบาหวาน รวมถึงชวนคนมาออกกำลังกาย นอกจากนี้ ยังสร้างศูนย์สุขภาพใกล้ชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบำนาญ 3,000 บาท ที่จะให้ผู้สูงอายุด้วย อีกทั้งยังดำเนินนโยบายลดความรุนแรงในเด็กและสตรี สำหรับการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ยุติครรภ์ปลอดภัย และสนับสนุนเงินให้กับหญิงตั้งครรภ์  
  3. เพิ่มค่าตอบแทนแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ในต่างจังหวัด เพื่อไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ในต่างจังหวัดไหลบ่ามาที่โรงพยาบาลเอกชน รวมถึงจัดหาเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลต่างจังหวัด สามารถรักษาโรคยากได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีแนวคิดให้เอกชนมาร่วมกับรัฐบาล ในเรื่องการรักษา เมื่อคนไข้แข็งแรง งบประมาณจะมีมากขึ้น สามารถนำไปจ้างพยาบาล บรรจุพยาบาล ให้หมอมาเรียนด้านจิตเวชมากขึ้น รวมถึงชวนหมอมาทำผลงานวิชาการมากขึ้น เพื่อให้ได้มาตรฐานโลก 

"นโยบายสาธารณสุขเลือกตั้ง 66"

ดร.สุวดี ยังกล่าวถึงนโยบาย Global Wellbeing Hub ซึ่งมีมูลค่าตลาดทั่วโลกประมาณ 150 ล้านล้านบาท โดยพรรคมีเป้าหมาย 1% เท่ากับ 1.5 ล้านล้านบาท ว่า ส่วนสำคัญจะมุ่งสร้างรายได้ เพื่อทำ Global Wellbeing hub ให้คนไข้ชาวต่างชาตินำเงินมาให้คนไทย ภาษีที่ได้กลับมาดูแลสุขภาพคนไทยได้มากขึ้น โดยยืนยันว่า นโยบายพรรคดังกล่าวจะไม่เป็นการแย่งทรัพยากรรัฐ ไม่เพิ่มความเหลื่อมล้ำ

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง 

นโยบายสาธารณสุข 3 พรรค แก้ปัญหารพ.แออัด  ไม่รวม 3 กองทุน  รักษาถึงบ้าน ให้ความสำคัญบุคลากร

“ชาติไทยพัฒนา” ชูนโยบายสุขภาพดีมีเงินคืน ส่วนก้าวไกล ชู “2 ลด 2 เพิ่ม” ลดชั่วโมงการทำงานของแพทย์-เพิ่มความครอบคลุมการรักษา

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org