ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.ชี้กรณี “หมอสมิทธิ์” โพสต์เข้าใจคลาดเคลื่อน ต้องแยก 2 ประเด็น ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์  กับ KPI  ด้านสสจ. ติงหมอแชร์โซเชียลฯทำเข้าใจผิด ทั้งๆที่กัญชาสูตรแพทย์แผนไทยช่วยผู้ป่วยประคับประคอง บรรเทาปวด ส่วนเรื่องตัวชี้วัด ไม่เกี่ยวกับการใช้กัญชา

 

จากกรณีผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์   นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย และหนึ่งในกรรมการแพทยสภา โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า มีการสั่งการจาก สสจ.ในจังหวัดหนึ่งให้แพทย์สั่งจ่ายกัญชาในผู้ป่วยแบบประคับประคอง หรือ palliative care ทุกเคส เรียกว่าคล้ายสั่งให้เป็นตัวชี้วัด (KPI)  พร้อมทั้งแนบข้อมูลไกด์ไลน์การใช้กัญชาทางการแพทย์ของกรมการแพทย์ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และมีกลุ่มแพทย์จำนวนหนึ่งแชร์เรื่องนี้อย่างกว้างขวาง แต่ต่อมาผศ.นพ.สมิทธิ์ ได้ตัดคำว่า สสจ. ตัวชี้วัดออกจากโพสต์นั้น

 

แยก 2 ประเด็น ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ กับ KPI

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าว ว่า  ทราบเรื่องนี้แล้ว เบื้องต้นต้องแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ 1. การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จากกัญชา มีข้อมูลการศึกษาว่า สามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้จริง โดยในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยแบบประคับประคอง  เนื่องจากช่วยบรรเทาอาการปวดได้ และกัญชาทางการแพทย์ก็มีตำรับจำนวนมากที่มีการศึกษาวิจัยเป็นที่รองรับ และ 2.เรื่อง KPI ตรงนี้ทราบว่าเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากมีการตัดถ้อยคำออก และเหลือเฉพาะบางถ้อยคำไว้ จนเมื่อมีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้

 

สสจ.แจงข้อมูลชัด กัญชาบรรเทาอาการผู้ป่วยประคับประคอง ไม่ได้บังคับKPI

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) แห่งหนึ่ง กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่มีการเผยแพร่ข้อมูลไม่หมด และทำให้คนเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ เนื่องจากข้อมูลจริงๆ เริ่มจากการประชุมผู้บริหารเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพ ซึ่งมีการหารือแนวทางการให้บริการประชาชนให้เข้าถึงสุขภาพทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่หญิงตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิด วัยรุ่น วัยทำงาน ผู้สูงอายุ ไปจนถึงการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคมะเร็ง และผู้ป่วยแบบประคับประคอง หรือ palliative care ซึ่งพบว่า มีผู้ป่วยประคับประคองกลุ่มหนึ่งที่ติดเตียงอยู่บ้าน ที่ปกติจะมีทีมลงเยี่ยมบ้านอยู่แล้ว จึงเสนอว่าควรให้การดูแลอย่างดีที่สุด

“อย่างกลุ่มที่เจ็บป่วยประคับประคอง เราจะมีทีมลงไปดูแล มีการใช้ทั้งยาแพทย์แผนปัจจุบัน และแพทย์แผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เป็นสูตรตำรับแพทย์แผนไทยที่เป็นยากินถึง 15 ขนาน โดยนำมาใช้ในการบรรเทาอาการเจ็บปวด ช่วยให้ผ่อนคลาย ไม่ทนทุกข์ทรมาน ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าเป็นยารักษา แต่กลับมีกลุ่มแพทย์จำนวนหนึ่งเข้าใจคลาดเคลื่อน และนำข้อมูลไม่ครบไปเผยแพร่ ประกอบกับไปเอาไกด์ไลน์จากกรมการแพทย์มาตีแผ่ว่า กรมการแพทย์ไม่ได้แนะนำใช้ในการรักษา เมื่อเผยแพร่ออกไปคนก็เข้าใจผิด”

นพ.สสจ. รายเดิม กล่าวอีกว่า  จริงๆ สูตรกัญชาที่เป็นตำรับแพทย์แผนไทยก็ใช้กันมานาน และเป็นการบรรเทาอาการ หรือแม้แต่สูตรตำรับ ยาศุขไสยาศน์ ก็ช่วยเรื่องทำให้เจริญอาหารมากขึ้น และหลับพักผ่อนดี  อย่างไรก็ตาม ส่วนเรื่องที่แชร์กันว่าเป็น KPI ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิดอีก เพราะจริงๆ KPI กำหนดเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองไม่ต่ำกว่า 5% ให้สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ช่วยตรงนี้ได้  แต่จากการประชุมมองว่า หากสามารถขยายการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้นย่อมดี หากขยายได้ และอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ก็จะเป็นประโยชน์ไม่ใช่หรือ  วัตถุประสงค์เราไม่ได้มองที่ KPI แต่เรามองว่า ผู้ป่วยประคับประคองควรได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงมากที่สุด  แต่กลายเป็นว่าการสื่อสารออกไปทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันหมด

 

"เข้าใจแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน พวกเรามีเป้าหมายร่วมกัน มีความห่วงใยความใส่ใจพี่น้องประชาชนโดยกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อลดทุกข์ ลดอาการปวด ช่วยให้นอนหลับพักผ่อนได้ ก่อนจะจากโลกนี้ไป  ทั้งหมดนี้มองว่าไม่ใช่ความขัดแย้งใดๆ เป็นเพียงการผิดคิวเรื่องการสื่อสารเท่านั้นเอง และขอวิงวอนให้ร่วมมือกันเป็นสะพานบุญด้วยกันดูและช่วยพี่น้องประชาชนของพวกเราด้วยกัน" นพ.สสจ. กล่าว

 

แฟ้มภาพ