ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาเภสัชกรรมประกาศเภสัชกรรายใด “แขวนป้าย” ไม่ปฏิบัติหน้าที่ร้านขายยามีบทลงโทษพักใช้ใบอนุญาตฯ เป็นเวลา 2 ปี เผยปี 65 พบเรื่องร้องเรียนเข้ามากว่า 100 คดี อันดับ 1 แขวนป้าย อันดับ 2 โฆษณาโซเชียลมีเดีย

 

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาเภสัชกรรม อาคารมหิตลาธิเบศร ภก.ดร.สุวิทย์ ธีรกุลชน อุปนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวภายในการเปิดบ้านพูดคุยปัญหาสินค้าด้านสุขภาพเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ว่า  ที่ผ่านมาพบปัญหาจำนวนมากในการใช้สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ และหลายคนก็เชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นความจริง สภาเภสัชกรรม มีบทบาทในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งในเรื่องการใช้ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เครื่องสำอาง ดังนั้น หากสงสัยหรือไม่แน่ใจการใช้ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ก็สามารถเข้าถึงเภสัชกรประจำร้านขายยาที่มีเภสัชกรทุกร้าน หรือโรงพยาบาล ซึ่งมีเภสัชกร หรือโทรสอบถามที่สภาเภสัชกรรม จะมีระบบให้ฝากข้อมูล ซึ่งจะติดต่อกลับอีกครั้ง นอกจากนี้ เรายังมีเครือข่ายต่างๆ ทั้งจุฬาฯ มหิดล มีระบบให้เข้ามาเว็บไซต์หาข้อมูลได้

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีมีเภสัชกรให้ข้อมูลการใช้ยา การทาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบางชนิดว่า สามารถรักษาฝ้า หรือทำหน้าใสได้ ภก.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ทางสภาเภสัชกรรมไม่ได้ให้ผู้ประกอบวิชาชีพ สนับสนุนผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง การแนะนำให้ใช้ตัวไหนก็ไม่สามารถทำได้

เภสัชกรไม่สามารถโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ ขัดวิชาชีพ

เมื่อถามว่าปัจจุบันมีวิชาชีพแพทย์ และเภสัชกรมาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในแพลตฟอร์มออนไลน์ บางรายมีจำหน่ายจะทำได้หรือไม่ ภก.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า แพทย์ หรือเภสัชกร สามารถให้คำแนะนำกลางๆ การแจ้งให้ทราบข้อมูลทั่วไป แต่การสนับสนุนการขายผลิตภัณฑ์ หรือการโฆษณาโดยใช้วิชาชีพทำไม่ได้

ถามต่อว่าหากการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ใดๆ แต่ไม่ระบุว่าเป็นวิชาชีพใดได้หรือไม่ ภก.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นส่วนบุคคล แต่หากเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ทุกคนรู้จักว่า คนนี้เป็นแพทย์ เป็นเภสัชกรก็จะไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย หรือต้องการร้องเรียนใดๆ สามารถแจ้งมาที่สภาเภสัชกรรมผ่านทางเว็บไซต์ของสภาได้

ปี 65 มีเรื่องร้องเรียนเข้ามา 100 กว่าคดี อันดับ 1 แขวนป้าย อันดับ 2 โฆษณาโซเชียล

ผู้สื่อข่าวถามว่า อย่างปี 2565 ที่ผ่านมาสภาฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนใดมากที่สุดและมีบทลงโทษแล้วหรือไม่   ภก.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาประมาณ 100 กว่าคดี โดยอันดับที่ 1 คือ เภสัชกรแขวนป้าย ไม่อยู่ประจำร้านขายยา ไม่ปฏิบัติหน้าที่  และอันดับ 2.โฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งที่ผ่านมาเราก็มีการพิจารณามาเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการตักเตือนมากกว่า อย่างไรก็ตาม บทลงโทษเกี่ยวกับวิชาชีพ ก็จะมีตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต ตั้งแต่ 3 เดือน หรือ 2 ปี ไปจนถึงเพิกถอนใบอนุญาต

ปี 66 เริ่มบทลงโทษเภสัชกร แขวนป้าย พักใช้ใบอนุญาต 2 ปี

ภก.ดร.สุวิทย์ กล่าวอีกว่าล่าสุดในปีนี้ สภาเภสัชกรรม มีมติให้เพิ่มบทลงโทษพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม กรณีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้ที่ของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (แขวนป้าย) หลังการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนในร้านขายยาแผนปัจจุบัน (GPP) ได้บังคับใช้เต็มรูปแบบ โดยสภาเภสัชกรรมจะวางบทลงโทษพักใช้ใบอนุญาตฯ เป็นเวลา 2 ปี สำหรับเภสัชกรที่กระทำความผิด ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์การพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2563

“ หากประชาชนพบเห็นเภสัชกรมีพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำความผิดทางจรรยาบรรณวิชาชีพ สามารถแจ้ง เพื่อดำเนินการสอบสวนพิจารณาโทษทางจรรยาบรรณวิชาชีพ สามารถดาวน์โหลดเอกสาร สส1. แบบการแจ้งเรื่องกล่าวหาหรือกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ได้ที่ https://bit.ly/3AGaQV2 หรือแจ้งสายด่วน ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โทร . 1556” ภก.ดร.สุวิทย์ กล่าว

 

เภสัชกรต้องอยู่ประจำร้านอย่างน้อย 3 ชม.

ภก.ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า เภสัชกรจะต้องอยู่ประจำร้านยาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงที่เป็นระยะเวลาปฏิบัติการ และขึ้นกับว่าแจ้งแบบไหน ถ้าแจ้งว่าปฏิบัติการในร้าน 3 ชั่วโมงก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่จะไม่สามารถไปทำอีกร้านได้ ต้องประจำร้านใดร้านหนึ่ง ยกเว้นบางกรณีที่ผู้ปฏิบัติการไม่อยู่แล้วขอคนอื่นมาช่วยแทนเป็นบางครั้ง เช่น ลาป่วย ไปทำธุระ ก็ให้แจ้งชื่อ อย.ไปว่าขอคนนี้มาเป็นตัวแทน ซึ่งก็จะแทนร้านนั้นร้านนี้ได้ แต่ว่าแทนเฉพาะช่วงเภสัชกรคนนั้นไม่อยู่ ส่วนกรณีเภสัชกรเปิดร้านยาเองก็ตาม อาจเปิดได้หลายร้านในฐานะผู้รับอนุญาต แต่ผู้ปฏิบัติการในร้านก็ต้องเป็นได้แค่ร้านเดียว หากเปิดหลายร้านก็ต้องไปจ้างมาเพิ่ม โดยหลักการเปิดร้านยาต้องมีเภสัชกรอยู่แล้ว ที่บอกว่าเภสัชกรไม่พอ จริงๆ แล้วพอ แต่อยู่ที่ว่าจะไปอยู่หรือไม่ สิ่งที่ต้องคือต้องทำให้เภสัชกรไปอยู่ร้าน

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org