ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เยี่ยมชมการจัดบริการผ่าตัดสมองและผ่าตัดข้อสะโพก โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ ชี้สามารถทำการรักษาผ่าตัดผู้ป่วยสมองและข้อสะโพกแก่ผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวนมากฟรี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง
 

เมื่อวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.พีระมน นิงสานนท์ ผอ.สปสช.เขต5 ราชบุรี ลงพื้นที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเยี่ยมชมการจัดบริการผ่าตัดสมองและผ่าตัดข้อสะโพกฟรีเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยบัตรทอง โดยมี นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ และทีมสหวิชาชีพให้การต้อนรับ


 
นพ.อารักษ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์มีพื้นที่ระยะทางค่อนข้างยาว อำเภอที่อยู่ไกลที่สุดคือ อ.บางสะพานน้อย ไกลมากถึง 120 กม. จึงจำเป็นที่จะต้องยกระดับโรงพยาบาลและการรักษาพยาบาล ทั้งในกรณีฉุกเฉินและกรณีซับซ้อน อีกทั้งยังเพิ่มการผ่าตัดนอกเวลาราชการเพื่อให้การรอคอยวันผ่าตัดของผู้ป่วยลดน้อยลง ผู้ป่วยบัตรทองจึงสามารถมั่นใจได้ว่า โรงพยาบาลพร้อมรองรับอย่างเต็มที่ตั้งแต่ขั้นตอนเข้ารับการรักษาตลอดจนการฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัด  ปัจจุบันโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด  278 เตียง มีผู้ป่วยในเฉลี่ยประมาณ 250 คน/วัน และมีอัตราการครองเตียงอยู่ที่ 89.34% ของจำนวนเตียงทั้งหมด
 
ขณะที่ในส่วนของผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดจากแผนกศัลยกรรมระบบประสาทย้อนหลังตั้งแต่ปี 2564 ถึงปี 2566 มีจำนวนรวม 569 เคส ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่าเทียมจากแผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ รวม 258 เคส นอกจาก 2 แผนกนี้แล้ว ยังมีแผนกจักษุที่ทำการผ่าตัดตาต้อกระจกซึ่งเป็นโรคที่มีจำนวนผู้ป่วยในมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยในช่วง 3 ปีนี้ได้ทำการผ่าตัดไปแล้วกว่า 1,948 เคส

“สิ่งที่สะท้อนจากตัวเลขเหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้ประชาชนสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว ประเด็นสำคัญที่สุดคือ การทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความหวังกับชีวิต สามารถประกอบอาชีพ สร้างรายได้แก่ครอบครัวโดยไม่ต้องทนทุกข์จากอาการเจ็บป่วยอีกต่อไป” นพ.อารักษ์ กล่าว

 

ด้าน นพ.อภิชาติ กล่าวว่า โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์มีความสามารถในการรองรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองและผ่าตัดข้อสะโพก ซึ่งเป็นหัตถการที่ผู้ป่วยและญาติมักจะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะต้องใช้เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญอย่างมาก ทำให้ต้นทุนการรักษาสูงตามไปด้วย 
 
อย่างไรก็ตาม  โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์เป็นอีกหนึ่งในโรงพยาบาลที่ให้บริการประชาชนผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพอย่างเต็มที่สามารถทำการผ่าตัดสมองตลอดจนผ่าตัดข้อสะโพกแก่ผู้ป่วยจำนวนมาก โดยไม่ต้องมีการส่งต่อไปโรงพยาบาลส่วนกลาง ทำให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองได้เข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที ทำให้หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว นอกจากจะไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาแล้วยังสามารถประหยัดค่าเดินทาง อีกทั้งหลังการผ่าตัดจะมีเจ้าหน้าที่ตามไปฟื้นฟูผู้ป่วยที่บ้านอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

 

 “สิทธิบัตรทองสามารถครอบคลุมได้ทุกโรค-ทุกกรณีที่ สปสช. ได้กำหนด ต่อให้เป็นค่ารักษาที่แพง การรักษาที่ยาก หรือมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งหากประชาชนมีความสงสัยก็สามารถประสานทางหน่วยบริการเพื่อที่จะได้รับคำชี้แจงได้ โดยสามารถโทรไปปรึกษาได้กับ สปสช.เขต หรือโทร 1330 เพื่อรับคำแนะนำได้” นพ.อภิชาติ กล่าว

ด้าน นพ.สนธิเดช ว่องวุฒิกำจร นายแพทย์ชำนาญการพิเศษประสาทศัลยศาสตร์ ด้านสมอง รพ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เมื่อก่อนที่รพ. ยังไม่มีแพทย์เฉพาะทาง หรือ หากเกินศักยภาพในการรักษาผู้ป่วย จำเป็นต้องใช้ระบบส่งต่อไป รพ.ศูนย์ จ.ราชบุรี  หรือจ.สมุทรสาคร ซึ่งการเดินทางไกลค่อนข้างไกล แต่ปัจจุบันคนไข้ส่วนหนึ่งที่มีปัญหาจากอุบัติเหตุเลือดคลั่งในสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ ,เส้นเลือดในสมองแตก,มีเนื้องอกในสมองที่ไม่ซับซ้อน หรือเปลี่ยนกระโหลกเทียม สามารถมารับการรักษาที่รพ.ประจวบคีรีขันธ์ได้แล้ว

โดยใช้ระยะเวลาการผ่าตัดไม่เกิน 4 ชั่วโมง แต่ถ้าโรคมีความซับซ้อนเกินศักยภาพของโรงพยาบาลก็ต้องส่งต่อรพ.ที่มีศักยภาพมากกว่าและมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีความพร้อมมากพอ ซึ่งทำให้ต้องเพิ่มเวลาในการเดินทางไปอีก 2-3 ช.ม. อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงและต้องใช้ระยะเวลาการพักฟื้นเพิ่มมากขึ้น  ปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดด้านสมองเฉลี่ย 30 คน/เดือน แบ่งเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน(นอกเวลา) 20 คน ผู้ป่วยในเวลาราชการ 10 คน


 
ทั้งนี้ คณะฯ ยังได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดข้อสะโพกเทียม คือ นางณัฏฐ์ฐิพันธุ์ พิมพันธุ์ดี อายุ 71 ปี มีอาการกระดูกต้นขาข้างขวาหักจากการประสบอุบัติเหตุ ได้ทำการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้านขวาเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ปัจจุบันสามารถลุกเดินใช้ชีวิตประจำวันได้เกือบเป็นปกติ แต่ต้องมีการฟื้นฟูทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง มีการฝึกการเดินโดยใช้อุปกรณ์กระตุ้น รวมทั้งฝึกบริหารกล้ามเนื้อขา เกร็งกล้ามเนื้อต้นขา กระดกข้อเท้าลุกนั่ง
 
“การที่มีโรงพยาบาลที่พร้อมให้การผ่าตัดเป็นสิ่งที่ดีมาก ตอนรักษาอยู่โรงพยาบาลมา 13 วัน ลูกหลานเราก็ไม่ต้องเดือดร้อนไปส่งต่อที่อื่น ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ซัปพอร์ตเราเป็นอย่างดี ตอนไปถึงวันแรกยังไม่มีห้องพิเศษพักแต่พอมีห้องว่าเขาก็จัดให้เราทันที และข้อสะโพกเทียมที่ผ่าตัดมาสามารถใช้งานได้เหมือนข้อสะโพกปกติไม่มีอาการปวดหลังผ่าตัดเลย” นางณัฏฐ์ฐิพันธุ์ กล่าว
 

ขณะที่ นพ.จุมพล ฟูเจริญ รองผอ.รพ.ประจวบคีรีขันธ์(ภารกิจบริการปฐมภูมิ) และเป็นหัวหน้าสาขาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์(ศัลยกรรมกระดูกและข้อ) กล่าวว่า การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดใหญ่ ราคาค่อนข้างสูง ผู้ป่วยค่อนข้างเข้าถึงยาก ส่วนใหญ่เป็นสิทธิที่เบิกได้เช่น สิทธิข้าราชการ เป็นต้น ตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขึ้นมา สปสช.ได้จัดให้มีการเข้าถึงบริการมากขึ้น ทำให้คนไข้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่าเทียมมากขึ้น ซึ่งรพ.ประจวบคีรีขันธ์ สามารถผ่าตัดได้ประมาณเกือบ 20 ปีแล้ว และคนไข้ที่มารับบริการส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ พบประมาณ 80% เป็นสิทธิของบัตรทอง เป็นหลัก เมื่อผ่าตัดไปแล้ว สามารถทำให้มีผู้ป่วยคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่าเทียมมีอายุในการใช้งานได้ถึง 20-30 ปี ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยไม่เป็นพาระของคนในครอบครัวด้วย