ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. จับมือ พอช. จัดเวที “พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน เรื่องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ขับเคลื่อนงานคุ้มครองสิทธิบัตรทอง สร้างการรับรู้และเข้าถึงสิทธิ ขยายเครือข่ายสู่ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมแนะนำ กปท. กลไกการมีส่วนร่วมจัดทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพในระบบบัตรทองให้กับคนในชุมชน  

วันที่ 2 มิ.ย. 2566 ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า  เจตนารมณ์ของ “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “บัตรทอง 30 บาท” คือ การสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้ทุกคนเป็นเจ้าของระบบร่วมกัน ทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่งได้ดำเนินการผ่านกลไกต่างๆ ที่มีอยู่ในระบบ โดยในส่วนของผู้รับบริการที่เป็นประชาขนไทย ด้วยจำนวนประชากรผู้มีสิทธิที่มีจำนวนเกือบ 48 ล้านคน และความหลายหลากของกลุ่มประชากร ทำให้การแจ้งข้อมูลและการสื่อสารต่างๆ จากระบบฯ ยังเข้าไม่ถึง และมีจำนวนหนึ่งที่ยังขาดการรับรู้สิทธิและบริการต่างๆ ดังนั้นจึงต้องอาศัยเครือข่ายประชาชนต่างๆ ที่กระจายอยู่พื้นที่ เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายระบบบัตรทอง

 

 

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมาได้มีการจัดเวที “การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน เรื่องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ พอช. และผู้นำขบวนองค์กรชุมชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 130 คน เพื่อสร้างการรับรู้ในสิทธิบัตรทอง และนำไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของระบบ โดยร่วมเป็น “หน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545” หรือ “หน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ 50(5)” เพื่อร่วมดูแลและแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่        

ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า วันนี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญอันนำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นที่ทราบกันดีว่า พอช. เป็นองค์กรที่สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ให้กับคนในชุมชนทั้งในเขตเมืองและชนบท จากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2543 ทำให้ พอช. มีองค์กรชุมชนและเครือข่ายชุมชนอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งองค์กรชุมชนและเครือข่ายชุมชนเหล่านี้สามารถร่วมเป็นกลไกขับเคลื่อนและเป็นส่วนหนึ่งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ในทางกลับกันก็เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเองเช่นกัน เพราะสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ หากคนในชุมชนรู้สิทธิหลักประกันสุขภาพและสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขพื้นฐานได้ ก็จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาชุมชนในอนาคต

 


    
นอกจากนี้ยังมีการแนะนำการนำเสนอและจัดทำโครงการที่เป็นการสร้างเสริมสุขภาและป้องกันโรค โดยใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ให้กับผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการต่างๆ ที่เสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับคนในชุมชนด้วยกัน
    
“วันนี้เรามีตัวแทนองค์กรชุมชนจากกลุ่มต่างๆ และจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมาร่วมประชุม นับเป็นโอกาสอันดี นอกจากได้สร้างการรับรู้และความเข้าใจในสิทธิหลักประกันสุขภาพแล้ว ยังเป็นเวทีแห่งการรับฟังความเห็นปัญหา อุปสรรคต่างๆ และข้อเสนอในการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตลอดจนหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อที่ สปสช.จะได้ทำการรวบรวมเพื่อนำไปสู่การพิจารณาเพื่อปรับปรุงและแก้ไขต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว        
    
ด้าน นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า 
ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่าง สปสช. และ พอช.นี้ จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้ได้รับความรู้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ของระบบที่สามารถรับการบริการได้ รวมไปถึงการจัดทำโครงการต่างๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในชุมชน โดยใช้งบประมาณจากกองทุน กปท. ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้นี้ ผ่านไปยังกลไกระดับพื้นที่ ทั้งในระดับเขต ท้องที่ ท้องถิ่น จังหวัด จนเกิดการทำงานร่วมกันระหว่างขบวนองค์กรชุมชนต่อไป

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง