ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"โครงการบางกอกน้อย 2" สร้างชุมชนสุขภาวะ

คณะแพทย์ศิริราช-สสส. สานพลังสร้างชุมชนสุขภาวะ เข้าถึงชุมชนบูรณาการระบบสุขภาพ “บางกอกน้อย 2” บูรณาการบุคลากรทางแพทย์-สหสาขาวิชาชีพ ขับเคลื่อนการแพทย์ฉุกเฉิน-มลพิษ-เพศวิถี-เฝ้าระวังเบาหวานความดัน โรคอ้วน ดูแลสุขภาพประชาชนสู่ความยั่งยืน

ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ในเชิงโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เตรียมความพร้อม เชิงระบบในพื้นที่ชุมชนกึ่งเมือง เพื่อเป็นต้นแบบเมืองสุขภาพดี (Healthy City) ชุมชนสุขภาพดี (Healthy Community) โดยเริ่มนำร่องในพื้นที่บางกอกน้อย และนำประสบการณ์ตลอดระยะเวลา 8 ปี มาถอดบทเรียนในหลายมุมมองนำมาสู่การพัฒนาเฟสถัดมา “โครงการบางกอกน้อยโมเดล 2” โดยวันนี้ (8 มิ.ย. 2566) คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว “ศิริราชรุกเข้าถึงชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพอย่างยั่งยืน ในโครงการบางกอกน้อยโมเดล 2” บูรณาการระบบสุขภาพเชิงรุก เพื่อขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน    

"โครงการบางกอกน้อย 2" สร้างชุมชนสุขภาวะ

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพของประชาชน เป็นเรื่องสำคัญที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเร่งดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ และพันธกิจหลัก ในส่วนของการจัดการศึกษา การฝึกอบรม การวิจัย การบริการทางการแพทย์ ในการขับเคลื่อน พร้อมเชื่อมโยงกลไกการบริหารในระบบสุขภาพ อีกทั้งยังพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับความหลากหลายทั้งเชิงกลไกและบริบทของพื้นที่ เพื่อการวางแผนการใช้ประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข สร้างโมเดลชุมชนสุขภาพดีเริ่มจากพื้นที่ "ชุมชนเขตบางกอกน้อย" ชุมชนโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งผ่านการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพของชุมชน แล้วนำไปออกแบบการแก้ไขปัญหาสุขภาพให้เหมาะสม

"โครงการบางกอกน้อย 2" สร้างชุมชนสุขภาวะ

"โครงการบางกอกน้อยโมเดลนั้นทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งผู้นำชุมชนและโรงเรียนต่าง ๆ โดยข้อมูลของประชาชนในชุมชนกึ่งเมือง ทำให้ทราบถึงปัญหาของคนในชุมชน แล้วจึงหาวิธีการให้ความรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สามารถดูแลตัวเองได้ ให้เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ต้องมาเป็นคนไข้ในโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปัญหามลภาวะหรือ PM 2.5 จึงได้นำความรู้ถ่ายทอดให้ประชาชนทุกกลุ่มอายุในชุมชนเพื่อไปดูแลสุขภาพ พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ป้องกันปัญหาโรคภัยที่จะตามมา" ศ.นพ.อภิชาติ กล่าว

ศ.นพ.อภิชาติ เพิ่มเติมด้วยว่า ภาระของโรงพยาบาลต่าง ๆ ในภาครัฐ ขณะนี้มีคนไข้ที่ล้นมาก หากสามารถส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพ ทั้งการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายที่เหมาะสม การดูแลตัวเอง รีบไปหาหมอเมื่อมีโรคภัยไข้เจ็บเพื่อรับการรักษาด้วยยาที่ถูกต้อง ให้คนในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลจิตใจ ทำให้มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงขึ้น ห่างจากโรค เมื่อคนไข้ไม่ต้องมาโรงพยาบาลก็ทำให้ภาระหมอลดน้อยลง การมารักษาย่อมมีผลเสียมากกว่าการที่ไม่ได้เป็น ถ้าประชาชนเอาใจใส่ ดูแลตัวเอง หาข้อมูล ปรีกษาผู้มีความรู้ เชื่อว่าสุขภาพคนไทยจะแข็งแรง

ส่วนปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน ศ.นพ.อภิชาติ เปิดเผยว่า ปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนเป็นปัญหาใหญ่ ทั้งเรื่องความวิตกกังวล ปัญหาซึมเศร้า และความว้าเหว่ ไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาภายในประเทศไทย แต่ยังเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ด้วยหลายสาเหตุ จากพฤติกรรมและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มักจะติดบ้าน ติดเตียงมากขึ้น พูดคุยกับลูกหลานน้อยลง จึงเป็นสิ่งที่ต้องมองทั้งระบบและดูแล ถ้าทำให้ทุกคนในชุมชนต่าง ๆ ออกไปข้างนอก มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและสังคม จะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพจิตให้น้อยลงได้

ด้านนพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีศักยภาพในการสนับสนุนกระบวนการสร้างสุขภาพ และสุขภาวะของชุมชนบางกอกน้อยในมิติต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี สร้างการมีส่วนร่วมทางสุขภาพในชุมชนเมืองที่ครอบคลุมมิติด้านสุขภาพ สังคม ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม การร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรสามารถส่งมอบสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตให้กับสังคมต่อไปได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมา เกิดการเรียนรู้ในการทำงานร่วมกับชุมชน โดยรูปแบบร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน พร้อมทั้งผนวกการบูรณาการสหสาขาวิชาชีพขับเคลื่อนสู่การเรียนรู้กลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้เกิดโครงการที่มีประสิทธิภาพ และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุมกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ นอกจากนี้ ชุมชนได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ เปิดโอกาสให้พัฒนาศักยภาพในการจัดกิจกรรมส่งเสริมและดูแลสุขภาพได้ด้วยชุมชนเอง 

"โครงการบางกอกน้อย 2" สร้างชุมชนสุขภาวะ"

"สสส.เห็นความสำคัญเรื่องระบบบริการปฐมภูมิในกรุงเทพฯ ที่ยังเป็นปัญหา โดยเฉพาะงานสร้างเสริมสุขภาพ ชุมชนหลายแห่งมีคนเข้ามา โดยเฉพาะชุมชนเมืองที่เป็นชุมชนแนวดิ่ง การดูแลด้วยการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคในชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นถึงความสำคัญนี้ อีกทั้งมีจุดแข็งในการมีผู้เชี่ยวชาญลงไปทำงานในพื้นที่เพื่อสร้างเสริมสุขภาพคนในชุมชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเป็นต้นแบบกับคณะแพทย์อื่น ๆ ด้วย ทำให้คนในชุมชนมีความเชื่อมั่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อไม่ให้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังสร้างทัศนคติให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้เรื่องงานสร้างเสริมสุขภาพ ด้านอาจารย์แพทย์ก็สามารถทำงานสร้างเสริมสุขภาพกับชุมชนและนำไปสอนนักศึกษาแพทย์ สร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมทัศนคติให้กับนักเรียนแพทย์ นี่เป็นจุดสำคัญตั้งต้น หวังว่าจะมีคณะแพทย์อื่นมาร่วมทำงานสร้างเสริมสุขภาพชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ และขยายไปยังชุมชนรอบ ๆ เพิ่มเติมด้วย" นพ.พงศ์เทพ กล่าว

ทั้งนี้ การจัดการระบบสุขภาพชุมชนบางกอกน้อย ดำเนินงานผ่านโครงการทั้งหมด 8 โครงการ ได้แก่ 

  1. โครงการพัฒนาต้นแบบด้านการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในชุมชนกึ่งเมือง สร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้เกิดการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนรถพยาบาลมาถึง เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตแก่ผู้ป่วย 
  2. โครงการรูปแบบระบบการแจ้งเตือนมลพิษทางอากาศโดยชุมชนในบางกอกน้อยโมเดล พัฒนาระบบการแจ้งเตือนมลพิษทางอากาศ  พร้อมคำแนะนำการปฏิบัติในแต่ละวัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจ 
  3. โครงการบางกอกน้อยปลอดภัยไร้โรคอ้วน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ประชาชนห่างไกลจากโรคอ้วนและโรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) อย่างยั่งยืน 
  4. โครงการพัฒนาการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยชุมชนอย่างยั่งยืน ให้บริการเชิงรุกด้วยหลักการของการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยชุมชน (Community-based Rehabilitation) ประกอบด้วย 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ สุขภาพ ความเป็นอยู่ การศึกษา สังคม และการเสริมพลัง พร้อมทั้งอบรมวิทยากรชุมชน เพื่อดูแลคนในชุมชนของตนเอง 
  5. โครงการการพัฒนาต้นแบบการจัดการเรียนรู้เพศวิถีและการให้การปรึกษาทางเพศในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร อาศัยความร่วมมือของวัยรุ่น ผู้ปกครอง ครู และผู้บริหารโรงเรียน สำหรับการจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาผ่านกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ป้องกันปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ความรุนแรงด้านเพศสภาวะ และความไม่เท่าเทียม
  6. โครงการการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในชุมชน โดยการเรียนรู้ทางแอพพลิเคชั่น ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลที่นำไปสู่การปรับปรุงพฤติกรรมดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น
  7. โครงการแกนนำเฝ้าระวังเบาหวานและความดันโลหิตสูงในชุมชนเมืองวิถีใหม่ อบรมเชิงปฏิบัติการให้มีทักษะการตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้ว การใช้เครื่องวัดความดันโลหิต และสามารถแปลผลเบื้องต้นได้อย่างถูกต้อง เสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการตรวจคัดกรองเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้ด้วยชุมชนเอง 
  8. โครงการต้นแบบการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในศูนย์เด็กเล็กชุมชนบางกอกน้อย ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ร่วมจัดทำโปรแกรมกิจกรรมเด็กเล็ก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการช่วยเหลือตนเองที่ไม่ซับซ้อน

""โครงการบางกอกน้อย 2" สร้างชุมชนสุขภาวะ"

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘บางกอกน้อยโมเดล’ รพ.ศิริราช รุกเข้าถึงชุมชนเพิ่มคุณภาพชีวิตชาวบางกอกน้อย

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง