ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ.เผยกรมควบคุมโรคมีอนุกรรมการวิชาการติดตามประเมินผล หากรัฐบาลประกาศ “ขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4”  แบบโซนนิ่ง 4 จังหวัด เตรียมเก็บข้อมูล  ทั้งสุขภาพ อุบัติเหตุและอื่นๆ ทำเป็นข้อมูลวิชาการ รวบรวมตามข้อเท็จจริง  ส่วนกรณีเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากเหล้า สถานพยาบาลรักษาทั้งหมด ไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้

 

จากกรณีนโยบายภาครัฐที่จะให้มีการขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 ซึ่งจะเป็นสถานบริการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่โซนนิ่ง ภายใน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี นั้น

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะเตรียมพร้อมอย่างไร ว่า  ทาง สธ. ก็จะเฝ้าระวังเรื่องการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมอบให้กรมควบคุมโรคปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกัน ก็มีระบบเฝ้าระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน เช่น จำนวนผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ว่ามากน้อยขึ้นอย่างไร จำนวนการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับแอลกอฮอล์ การเกิดเหตุทะเลาะวิวาท อย่างไรก็ตาม ทางกรมควบคุมโรคมีคณะอนุกรรมการด้านวิชาการในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว ซึ่งก็จะมีการสรุปผลออกมาให้ทางกระทรวงฯ ทราบเป็นระยะ

เมื่อถามว่าจำเป็นต้องผ่อนปรนการกำหนดเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพื้นที่โซนนิ่งด้วยหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ในหลายเรื่องไม่ใช่กฎหมายที่กระทรวงฯ ดูแล ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ออกกฎหมาย ทางกระทรวงฯ จะดูแลเรื่อง 1.สถานที่ การควบคุมเวลา ควบคุมคนดื่ม ควบคุมการขาย และควบคุมการโฆษณา ดังนั้น ก็ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ 2.ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการและผลกระทบนั้น ก็ต้องมีการเฝ้าระวังโดยกรมควบคุมโรคต่อไป โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุที่สัมพันธ์กับการดื่มแอลกอฮอล์

 

“ตอนนี้ยังไม่เริ่มเปิดบริการถึงตี 4 แต่เมื่อเริ่มเปิดตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว เราก็จะเก็บข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แล้วประเมินตามหลักการวิชาการ ถึงจะบอกได้ว่าผลกระทบนั้นมากขึ้นหรือน้อยลง หน้าที่ของหน่วยงานรัฐคือทำตามกฎหมาย อันไหนอยู่ในกฎหมายเราก็ทำตามนั้น และต้องดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้น สธ.เป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวัง ข้อมูลวิชาการที่จะมาอธิบายว่ามีอะไรเกิดขึ้น” นพ.โอภาส กล่าว

 

นพ.โอภาสกล่าวว่า การดื่มแอลกอฮอล์มีหลายมิติ ไม่ใช่มิติทางการแพทย์อย่างเดียว ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมการดื่มด้วยอย่างในหลายประเทศ ไม่มีการควบคุมมากแต่อุบัติเหตุน้อย ขณะที่ประเทศไทยอุบัติเหตุมาก ซึ่งเรื่องนี้อาจขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการดื่มของแต่ละประเทศด้วย

ถามต่อว่าข้อมูลผลกระทบที่กรมควบคุมจะดำเนินการนั้น จะต้องเสนอต่อรัฐบาลก่อนจะมีการประกาศขยายเวลาเปิดสถานบริการหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีการเริ่มขยายเวลาเปิด จึงยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลกระทบหลังมีการขยายเวลา ซึ่งผลกระทบต่างๆ ตอนนี้เป็นการคาดการณ์จากข้อมูลประเทศอื่น แต่เมื่อไหร่ที่เป็นนโยบายนำสู่การปฏิบัติก็จะเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สธ. นำข้อมูลไปสู่การแจ้งเตือนทางภายนโยบายในการตัดสินใจ

เมื่อถามว่าในการกำหนดพื้นที่ให้ขยายเวลาเปิดได้ถึงตี 4 สธ.จำเป็นต้องเสนอความพร้อมเรื่องสถานพยาบาลหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า สถานพยาบาลของประเทศไทยควบคุมค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดเป้าหมาย สถานพยาบาลมีความพร้อม ทั้งการให้บริการและการส่งต่อผู้ป่วย

เมื่อถามย้ำถึงกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลว่าหากเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วยใดๆ จากการดื่มแอลกอฮอล์ ค่าใช้จ่ายในการรักษาจะไม่ครอบคลุมคนกลุ่มนี้ นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยทุกคน ทางการแพทย์เราดูแลให้หมดทุกคนไม่มีปัญหาอะไร แม้กระทั่งเวลามีการดื่มแอลกอฮอล์แล้วไปขึ้นรถเกิดอุบัติเหตุ เราก็ดูแลรักษาให้ แต่ที่จะมีประเด็นคือเรื่องของการเบิกค่าใช้จ่ายประกันส่วนตัวของบุคคล ที่อาจจะไม่สามารถเบิกได้ เพราะประกันอาจจะไม่ครอบคลุม