ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหล้ากว่า 50 คนเดินทางมายังสธ. ร้อง “หมอชลน่าน” แสดงจุดยืนค้านขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 เหตุอุบัติเหตุเมาแล้วขับจะพุ่งสูง กระทบเหยื่ออีกเพียบ! ด้านผู้ช่วยรมว.สาธารณสุข และอธิบดีกรมควบคุมโรครับเรื่อง ชี้มีคณะอนุกรรมการวิชาการติดตามประเมินผล หากประกาศใช้แล้วไม่ดี สามารถยกเลิกได้

 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหยื่อเมาแล้วขับ และภาคีสมาชิก กว่า 50 คน แต่งตัวเป็นเหยื่ออุบัติเหตุเลือดท่วมตัว ชูป้าย “หยุดผับบาร์ตี4 หยุดเพิ่มภาระทางการแพทย์”  ยื่นหนังสือถึงนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สารณสุข เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงจากเวลา 02.00 น. ออกไปเป็นเวลา 04.00 น. ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีรศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้รับมอบ

นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงาน ภปค.  กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ก้าวหน้าระดับหนึ่ง แต่วันนี้รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งไม่มีใครไม่เห็นด้วย แต่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจต้องไม่เป็นการเพิ่มปัญหาใหม่ หรือสร้างภาระเพิ่มให้กับประชาชน ดังนั้น การที่รัฐบาลจะขยายการปิดสถานบันเทิง เป็นเวลา 04.00 น. ใน 4 จังหวัด แล้วกระทรวงทบวงกรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ลุ้นกันเต็มที่ โดยเฉพาะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ซึ่งอดีตเป็นรมว.สาธารณสุข ก็เคยคัดค้าน แต่พอไปอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยกลับเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นปกติ ถือเป็นหน้าที่ของท่าน แต่การคัดค้านก็เป็นหน้าที่ของเรา รัฐบาลจะต้องมองให้รอบด้าน ไม่ใช่แค่คิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีการง่ายๆ อย่าไปหลงเชื่อธุรกิจว่าการขยายเวลาปิดผับ แล้วจะช่วยเรื่องธุรกิจมหาศาล ไม่ปฏิเสธว่ามีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่เรามั่นใจอย่างยิ่งว่าได้ไม่คุ้มเสียแน่นอน ที่สำคัญขอให้นพ.ชลน่าน แสดงจุดยืนปกป้องประชชน ไม่ใช่ตามนาย ถ้าจะตามนายอย่างเดียวให้ไปอยู่ที่กระทรวงอื่น

นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์  กล่าวว่า เครือข่ายที่มาวันนี้เพราะพวกเรามีจุดยืนเดียวกัน แต่ก็ต้องถามนพ.ชลน่านว่า มีจุดยืนเดียวกันกับเราหรือไม่ ซึ่งฟังจากคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดท่านก็ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมดกับการขยายเวลาปิดผับบาร์ตี 4 ทำให้ใจเราชื้น แต่เท่าที่ดูความมุ่งมั่นของรัฐบาลนายเศรษฐาซึ่งก็เป็นนักธุรกิจ ตั้งใจจะเอาให้ได้ ทำให้เราสงสัยมากเพราะมีหลายเรื่องที่น่าทำ มากกว่า โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เนื่องจากแต่ละปีมีชาวต่างชาติมาตายบนท้องถนนประเทศไทยปีละกว่า 500 คน บาดเจ็บ กว่า 16,000 คน ซึ่ง 25-30% มาจากการเมาแล้วขับ ขณะเดียวกันเว็บไซต์ประกันภัยการท่องเที่ยวระดับโลกมีการสำรวจ 50 ประเทศท่องเที่ยวทั่วโลก ปรากฏว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความอันตรายในลำดับที่ 12 เพราะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยทางถนน การทะเลาะวิวาท การคุกคามทางเพศ ดังนั้นภาพที่เห็นว่าสวยหรู มีการเพิ่มรายได้นั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่มันใช่เรื่องที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ แต่สิ่งที่จะได้คือคนเสียชีวิต บาดเจ็บพิการจากคนเมา ความรุนแรงในครอบครัว การคุกคามทางแพทย์ เพิ่มขึ้นแต่นอน

 

“ที่มาวันนี้ เพราะมีความเชื่อว่าจุดยืนของเรากับกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นจุดยืนเดียวกัน ที่จะต้องปกป้องคุ้มครองสุขภาพของประชาชน การขยายเวลาปิดผับ ท่านพร้อมหรือไม่ที่จะต้องเพิ่มโรงพยาบาล เพิ่มหมอ เพิ่มบุคลากร เพื่ออวยบรรดาผับ บาร์ ร้านเหล้า นายทุนเหล้าทั้งหลาย เราต้องลงทุนขนาดนั้นใช่หรือไม่ อยากให้เสียงของเรา เสียงของเหยื่นได้ยินไปถึงคนที่ผลักดันเรื่องนี้อย่างนายเศรษฐา นายกฯ อยากให้ท่านลองมาอยู่กับพวกเราสักหนึ่งวันก็พอ แล้วท่านจะรู้ว่าความทุกข์ยากของคนๆหนึ่ง จากที่เคยใช้ชีวิตได้ปกติ กลับต้องมาพิการเพราะคนเมา มันทุกข์ยากแสนสาหัส แล้วที่ผ่านมารัฐบาลเคยช่วยหรือเปล่า ถ้าไม่ช่วยก็อย่าซ้ำเติมด้วยนโยบาย ที่ทำร้ายพวกเราแบบนี้” นายชูวิทย์ กล่าว

 

ดังนั้นเครือข่ายจึงมีข้อเสนอดังนี้ 1. ขอแสดงจุดยืนคัดค้านเรื่องนี้อย่างสุดตัว และจะไปทุกที่ทุกเวทีที่มีการรับฟังความคิดเห็น หรือพูดคุยเรื่องนี้ 2. ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มน้ำหนักปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3. วันนี้เรายังเชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขยังมีความเป็นกลาง ยังเป็นที่พึ่ง ที่คาดหวังของประชาชน จึงขอให้จัดเสวนารับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการตัดสินใจในนโยบายนี้ เพราะเราไม่เชื่อกระทรวงมหาดไทย ไม่เชื่อกระทรวงการท่องเที่ยว ที่ตั้งธงว่าจะเอาเรื่องนี้ เราไม่เชื่อแม้กระทั่งรัฐบาลด้วยซ้ำไป และ 4. เครือข่ายฯ ยืนยันว่าเรายินดี จะยืนเคียงข้างกระทรวงสาธารณสุขแบบนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการทำให้คนในประเทศนี้มีสุขภาพที่ดี

 

รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนรับหนังสือได้กล่าวว่า ขอบคุณท่านที่มาประสานงานเรื่องนี้ทุกท่าน ตนมีความเห็นใจทุกท่าน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลจากการดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงน้องๆ ที่มาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้สังคมได้เห็นว่าผลของการดื่มแอลกอฮอล์เป็นอย่างไร หรือเมาและขับเป็นอย่างไร ตนเองก็เป็นหมอผ่าตัดทั่วไปและผ่าตัดหัวใจ เช่น เลือดออกในสมองหรือในช่องท้องจากอุบัติเหตุขับรถชนกันที่ส่วนใหญ่มาจากการเมาแล้วขับ เป็นภาระที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้เป็นคนคิดขึ้น แต่เราฐานะแพทย์ก็ต้องทำตามหน้าที่

 

รศ.นพ.เชิดชัยกล่าวว่า ในประเทศที่เจริญแล้วจะใช้ผลการวิจัยและพัฒนา เพื่อพิจารณาถึงเรื่องความไม่คุ้มค่าของการเปิดให้กินเหล้าถึงตี 4 แล้วมีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งความเสียหายมากกว่าที่จะได้เรื่องเศรษฐกิจ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวประเทศไทยก็มาด้วยเหตุอื่น เช่น ธรรมชาติ ดูวิถีชีวิต ศิลปะ วัดวาอาราม ดูสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติต่างๆ 

 

“อันนี้ต้องชั่งใจให้ดี ผมได้ปรึกษากับอธิบดีกรมควบคุมโรคถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการออกกติกาต่างๆ ก็ต้องมีการรับฟังความคิดเห็น ดังนั้นขั้นตอนต่างๆ ทางกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.ชลน่าน ได้เน้นย้ำว่าโรงพยาบาลทุกแห่งเป็นของประชาชน ไม่ว่าสังกัดไหนก็ต้องดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก ฉะนั้น เมื่อรับหนังสือนี้ไปแล้วผมจะนำเรียนท่าน รมว.สธ.ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อนำไปสู่การเสนอในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย ว่าจะทำอย่างไรเพราะเรายึดถือสุขภาพประชาชนเป็นสำคัญ เราอยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี เพื่อให้เกิดแรงงานไปทำงานต่างๆ ซึ่งก็ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้” รศ.นพ.เชิดชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากประกาศใช้แล้วมีผลกระทบจะสามารถยกเลิกได้หรือไม่ รศ.นพ.เชิดชัย กล่าวว่า ทุกอย่างทำได้หมด หากมีข้อมูลมีผลศึกษาชัดเจน

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  มีคณะอนุกรรมการวิชาการฯ พิจารณาประเมินผลกระทบต่างๆ จะมีการประเมินเรื่องนี้หรือไม่ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ใช่ คณะอนุกรรมการวิชาการฯจะทำหน้าที่ตรงนี้ โดยจะมีข้อมูลทั้งหมด และหากมีการประกาศนโยบายเมื่อไหร่ก็จะมีการติดตามผลด้วยเช่นกัน