เด็กกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ - บุหรี่ไฟฟ้า 1 ใน 10 คน มิหนำซ้ำเด็กอายุ 13-15 ปี ติดบุหรี่แล้วกว่า 37 ล้านคนทั่วโลก และเด็กเยาวชนมีอัตราสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงมากขึ้น ทันตแพทย์ชี้ความร้อนจากบุหรี่ ทำลายเนื้อเยื่อในช่องปากอย่างรุนแรง ถูกเผาเป็นรอยแผลแตกต่างจากร้อนใน รักษายาก ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าไม่แตกต่าง มีนิโคตินสารเสพติดอันตราย
เนื่องใน วันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี โดยแต่ละหน่วยงานด้านสุขภาพต่างออกมาให้ข้อมูลถึงพิษภัยบุหรี่ ทั้งบุหรี่มวน และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งแม้ปัจจุบันกฎหมายจะห้ามนำเข้า ซื้อขาย บุหรี่ไฟฟ้า แต่กลับยังมีการลักลอบอย่างเนืองๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ยังคงมีการซื้อขาย คนขายก็ไม่เกรงกลัวกฎหมาย และอันตรายต่อลูกหลานคนไทย
ล่าสุด ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะผู้จัดการโครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลถึงพิษภัยบุหรี่มวน และบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพช่องปาก ภายในกิจกรรม“รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ” ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ โดย ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สสส. ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา
เด็กกรุงเทพฯ สูบบุหรี่ - บุหรี่ไฟฟ้า 1 ใน 10 คน
ทพ.อดิเรก ยังเผยผลการสำรวจโดยทันตบุคลากร ปี 2566 พบเด็กในกรุงเทพฯ เคยสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าถึง 9% หรือพบทุก 1 ใน 10 คน สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่พบอายุเฉลี่ยของผู้เริ่มสูบบุหรี่มีอายุน้อยลง มีเด็กอายุ 13-15 ปี ติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าถึง 37 ล้านคนทั่วโลก และที่น่ากังวลคือเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มวัยที่มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงมากกว่าวัยอื่นๆ ซึ่งข้อมูลผลกระทบจากบุหรี่ และควันบุหรี่ที่มีต่อช่องปาก โดยเฉพาะในเด็กๆ พบว่า บุหรี่และควันบุหรี่ รวมถึงความร้อนจากควันบุหรี่ มีผลอย่างมากต่อเนื้อเยื่อในช่องปาก
มีกฎหมายห้ามจำหน่ายบุหรี่กับเด็ก แต่ยังลักลอบ มีช่องว่างเพียบ!
โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ยิ่งขณะนี้เริ่มสูบบุหรี่อายุน้อยลงเรื่อยๆ อย่างอายุ 13 ปี ก็เริ่มสูบและเข้าถึงบุหรี่ แม้จะมีกฎหมายห้ามจำหน่ายบุหรี่เด็ก แต่ยังมีช่องรั่วไหลพอสมควร โดยเฉพาะเด็กที่โตมาในบ้านที่คนในครอบครัวสูบบุหรี่ จะมีแนวโน้มสูบบุหรี่ง่ายขึ้น เพราะมองเป็นพฤติกรรมปกติที่คนในบ้าน คนในครอบครัวก็สูบ และบางครั้งเอามาสูบ คนก็ไม่ห้าม เพราะมองว่าไม่เป็นไร
ความร้อนจากบุหรี่ ทำลายเนื้อเยื่อช่องปาก
“สิ่งเหล่านี้น่ากลัวมาก เนื่องจากความร้อนจากบุหรี่ ควันบุหรี่ ทำให้เกิดความระคายเคืองอย่างรุนแรงต่อเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก แม้ฟันอาจไม่มีปัญหาในเด็กอายุขนาดนั้น แต่เนื้อเยื่อในช่องปากจะถูกเผา จนเป็นรอยแผล ที่ไม่ใช่แผลร้อนใน แต่เป็นแผลอีกประเภทหนึ่งที่เกิดจากความระคายเคือง รักษายาก การหายค่อนข้างลำบาก” ทพ.อดิเรก กล่าว
นิโคตินใน “บุหรี่มวน-ไฟฟ้า” เป็นสารเสพติด
ทพ.อดิเรก กล่าวอีกว่า ดังนั้น การสูบบุหรี่จะส่งผลต่อเนื้อเยื่อในช่องปากของเด็ก โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อย จึงต้องระวังมาก และเนื่องจากปัจจุบันมีบุหรี่ไฟฟ้าออกมา ซึ่งควันจากบุหรี่ไฟฟ้า ไม่แตกต่างจากบุหรี่มวน เพียงแต่ไม่มีความร้อน แต่เนื้อเยื่อก็ได้รับความระคายเคืองเช่นกัน อีกทั้ง ยังซึมซับเอานิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้าเข้ากระแสเลือด ซึ่งนิโคติน เป็นยาเสพติด ไม่ต้องปฏิเสธว่าไม่ใช่สารเสพติด เพราะงานวิจัยทั่วโลกยืนยันว่า นิโคตินไม่ใช่สารกระตุ้นมีความสุข แต่เป็นสารเสพติด การให้เด็กมารับสารเสพติดบ่อยๆ ก็จะค่อยๆ ทำอันตรายต่อร่างกาย ต่อชีวิต ไม่เพียงการเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์แบบ การรับออกซิเจนก็น้อยลง โดยเจ้าตัวไม่รู้ว่าเกิดอันตราย
“อย่างกลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในสังคมที่เพื่อนๆ สูบบุหรี่ ไม่ว่าจะบุหรี่มวน หรือบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้อยู่ในภาวะจำยอม เพราะอยากอยู่กับกลุ่มเพื่อน แต่จริงๆ ต้องฝึกให้รู้จักปฏิเสธ ไม่ต้องกังวลว่า จะกลายเป็นตัวตลก หรือสังคมไม่ครบ แต่จริงๆ การปฏิเสธเป็นเรื่องดีกับสุขภาพ และเป็นสิ่งที่ควรทำ” นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าว
แนะพ่อแม่อย่าให้ค่าขนมเด็กมาก ต้องเข้าใจสื่อสารอย่างถูกต้อง
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทำอย่างไร เพราะเด็กๆ กลับรู้สึกชอบเนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าทำรูปลักษณ์เป็นตัวการ์ตูน และยังมีกลิ่นหอมเหมือนขนม ทพ.อดิเรก กล่าวว่า เริ่มจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องช่วยก่อน อย่าไปให้ทุนค่าขนมมากจนเกินไป ทำให้เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ เพราะปัจจุบันราคาไม่สูงมาก ที่สำคัญต้องช่วยกันรณรงค์ทุกภาคส่วน ถึงอันตรายบุหรี่ไฟฟ้า ประกอบกับตามกฎหมายห้ามนำเข้า ห้ามซื้อขาย “บุหรี่ไฟฟ้า” ในประเทศไทย แต่ก็ยังมีความพยายามจะแก้ถูกกฎหมายให้นำเข้ามาขายได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง ขอให้เลิกการกระทำแบบนี้ เพราะเป็นการทำร้ายอนาคตของชาติ ซึ่งมีน้อยมากๆ อยู่แล้ว เดิมประชากรเกิดใหม่ปีละ 8 แสน – 1 ล้าน แต่อย่างปัจจุบันเด็กเกิดน้อยเพียงปีละ 450,000 คน และอีก 20 ปีข้างหน้าคนเหล่านี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หากพวกเขาติดนิโคติน สารเสพติดพวกนี้ เราจะมีผู้ใหญ่ไม่สมประกอบเต็มไปหมด ประเทศจะอยู่กันอย่างไร
“พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเข้าใจอันตราย และทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ตั้งแต่ครอบครัว พ่อแม่ ครูอาจารย์ ทุกหน่วยงาน ยิ่งผู้ที่ทำธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า ขอให้เลิกอย่ามองแค่ผลประโยชน์ เพราะนี่คือการทำลายลูกหลานผู้อื่น และสุดท้ายก็กลับมาทำร้ายลูกหลานของตนเองด้วย” ทพ.อดิเรก กล่าวทิ้งท้าย
- 238 views