นายกสภาเภสัชกรรม แจงข้อมูลหลัง สส.เพื่อไทย เข้าใจคลาดเคลื่อนในการประชุมสภา อ้างร้านยาต้องปิดตัวจากผลกระทบ พรบ.วิชาชีพเภสัชกรรม เผยข้อเท็จจริง! คนละพ.ร.บ.ฯ เป็น พ.ร.บ.ยา ไม่ใช่พรบ.วิชาชีพเภสัชฯ หนำซ้ำการมีเภสัชกรประจำร้านยา ย่อมการันตีความปลอดภัยของประชาชน ขณะที่ข้อมูล อย. พบร้านยาเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดปี 67 มีถึง 1.9 หมื่นแห่ง ส่วนปชช.รับยาจากเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการถึง 1.2 ล้านคน
ตามที่นายทรงศักดิ์ ส่งเสริมอุดมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนครสวรรค์เขต 2 พรรคเพื่อไทย กล่าวในการประชุมสภา ฯ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ถึงผลกระทบจากการใช้พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 ทำให้ร้านยาปิดตัวลง เพราะไม่สามารถปฏิบัติตามให้เภสัชกรประจำร้านยาตลอดเวลา โดยระบุว่าได้รับหนังสือจากสมาคมร้านขายยา กระทั่งสมาคมฯ ออกแถลงการณ์ว่า ไม่ได้ส่งมอบหนังสือตามที่สส.เพื่อไทยระบุแต่อย่างใดนั้น
ข้อกำหนดร้านยาต้องมี “เภสัชกร” เป็นพรบ.ยา
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ถึงประเด็นดังกล่าว ว่า สืบเนื่องจากทาง สส.เพื่อไทย ได้กล่าวในการประชุมสภาว่า จาก “พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537” กำหนดว่า การส่งมอบยาอันตรายต้องทำโดยเภสัชกร ทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย และยังทำให้ร้านยาปิดหลายแห่งนั้น ข้อมูลดังกล่าว เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะการกำหนดว่าต้องมีเภสัชกรเป็นข้อกำหนดจาก พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ไม่ใช่พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรมฯ ที่มีเจตนารมณ์ต้องการให้เภสัชกร คุ้มครองความปลอดภัยการใช้ยาของประชาชน ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ และถูกต้องตามหลักจริยธรรม
เภสัชกร ประจำร้านยา เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวว่า การกำหนดให้ร้านยา ต้องมีเภสัชกร เป็นระบบสากลทำกันมานาน และมีการแบ่งระดับยาตามความเสี่ยง ซึ่งประเทศไทยกำหนดความเสี่ยงเป็น 3 ระดับ คือ 1.ยาที่ค่อนข้างปลอดภัย จะกำหนดเป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” ก็จะครอบคลุมอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ซึ่งพ.ร.บ.ยาไม่ได้กำหนดว่า ยาสามัญประจำบ้านต้องจ่ายจากเภสัชกร ปัจจุบันมีการจำหน่ายอยู่ 2.ยาอันตราย หากใช้ไม่ถูกต้องจะเกิดอันตรายมากกว่าโทษ กฎหมายจึงกำหนดว่าต้องจ่ายโดยเภสัชกร ซึ่งมีหน้าที่ในการซักถามอาการ ความจำเป็นในการรับยาดังกล่าว หากจำเป็นก็ต้องมีคำแนะนำเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ให้ครบถ้วน และ3.ยาควบคุมพิเศษ กฎหมายกำหนดว่าต้องจ่ายโดยเภสัชกร แต่ต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น
“เห็นได้ชัดว่าข้อกำหนดดังกล่าว มาจากพ.ร.บ.ยา ไม่ใช่ พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรมฯ แต่อย่างใด” นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว
พรบ.วิชาชีพเภสัชฯไม่ได้ทำให้ร้านยาปิดตัว
เมื่อถามว่าสส.เพื่อไทยบอกว่าได้รับร้องเรียนว่า พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม ทำให้ร้านยาปิดตัวลงจำนวนมาก รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวว่า ร้านยาเปิด หรือปิด เกิดขึ้นได้ตลอด มีหลายปัจจัย ทั้งเรื่องธุรกิจ ทั้งเรื่องการหาเภสัชกรที่ต้องสู้กันเรื่องเงินเดือน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2565 อย.เริ่มบังคับจริงจังว่า ร้านยาต้องมีเภสัชกรเพื่อให้เป็นสากล โดยปี 2565 มีร้านยาประมาณ 16,000 แห่ง ต่อมาปี 2566 มีร้านยาเพิ่มเป็น 17,900 แห่ง กระทั่งปี 2567 ณ ปัจจุบันมีถึง 19,000 แห่ง ดังนั้น การปิดตัวของร้านยามีหลายปัจจัย ไม่ใช่ว่า เพราะ อย.เข้มงวดจะทำให้ร้านยาปิดกิจการ
ชูโครงการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ปชช.เข้าถึง 1.2 ล้านคน
ผู้สื่อข่าวถามกรณีสส.เพื่อไทยระบุว่า การกำหนดเภสัชกรต้องประจำร้านยา ทำให้เกิดปัญหาเข้าถึงการรักษาเจ็บป่วยเล็กน้อย รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาเภสัชกรรม ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในการให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ โดยสามารถเข้ารับบริการร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันมีประชาชนเข้ารับบริการ 1.2 ล้านคน รวมเข้ารับบริการ 3 ล้านกว่าครั้ง แสดงว่าประชาชนเข้ารับบริการมากขึ้น ลดความแออัดในรพ.ใหญ่
“โครงการนี้ยังระบุว่า เภสัชกรจะต้องโทรถามผู้มารับบริการหลังจาก 3 วันว่า อาการดีขึ้นหรือไม่ หากอาการดีขึ้นจึงจะส่งเบิกกับทาง สปสช.ได้ โดยพบว่า 90%หายดีจากการเจ็บป่วยเล็กน้อย ปัจจุบันมีร้านยาเข้าร่วม 2 พันกว่าแห่ง และจะขยายให้ได้ 5 พันแห่งในปีนี้ ซึ่งร้านยาจะมีติดสติ๊กเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” โดยรับรองจากสภาเภสัชกรรม” นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว
ผู้ช่วยเภสัชฯ แทนเภสัชกรไม่ได้
เมื่อถามถึงข้อเสนอที่ทางสส.เพื่อไทยให้มีการอบรมผู้ช่วยเภสัชกรประจำร้านยาแทนเภสัชกร รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวว่า มีการอบรมผู้ช่วยเภสัชฯอยู่ แต่จะให้มาแทนที่เภสัชกรนั้นไม่ได้ เพราะจะมีเรื่องความเสี่ยงของการจ่ายยาด้วย สิ่งสำคัญต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค อีกทั้ง ไม่มีประเทศไหนอบรมผู้ช่วยเภสัชฯ มาแทนเภสัชกร
ถามถึงกรณียาที่มีความจำเป็นจะต้องส่งมอบโดยเภสัชกร ควรกำหนดรายการและแยกส่วนให้ผู้เข้ารับบริการติดต่อกับเภสัชกรได้ทางระบบออนไลน์ และให้พนักงานที่ผ่านการอบรมเป็นผู้ส่งมอบ รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวว่า การกำหนดกลุ่มยา มีการกำหนดอยู่แล้ว อย่างยาสามัญประจำบ้าน ไม่ต้องมีเภสัชกร ก็จำหน่ายได้ แต่สิ่งสำคัญต้องคำนึงความปลอดภัยของประชาชน อย่างยาอันตราย จำเป็นต้องมีเภสัชกร มีบุคลากรที่มีความรู้ในการจ่ายยา เพราะหากไปจ่ายยาอย่างไม่สมเหตุสมผล และก่ออันตรายก็จะผิดหลักวิชาชีพได้ ส่วนเรื่องการอบรมผ่านออนไลน์ หรือ Telepharmacy นั้น เจตนาจะเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล หรือข้อจำกัดของผู้ป่วย ซึ่งกฎหมายระบุว่าต้องทำได้ในร้านยาที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ กล่าวอีกว่า Telepharmacy หากจำเป็นต้องคุยกับผู้ป่วย ก็จะมีการจัดส่งยาให้ แต่ต้องเป็นไปตามร้านยาที่ได้รับอนุญาต อย่างกรณี 30 บาทรักษาทุกที่ มีการใช้ระบบนี้ในกรณีผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยสูงอายุ ไม่สะดวกมารับยาเอง เป็นต้น
ข่าวเกี่ยวข้อง :
-สมาคมร้านขายยา ออกแถลงการณ์แจงกรณี สส.เพื่อไทย อภิปรายประชุมสภาผลกระทบจากพรบ.วิชาชีพฯ
- 7887 views