สปสช. แจงข้อเสนอ “ร่วมจ่าย” หรือ “Ontop” ทำได้ตามเงื่อนไขมาตรา 5 พรบ.หลักประกันสุขภาพฯ ต้องเป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวก ผู้ป่วยในเป็นหลัก เช่น ต้องการห้องพิเศษ แต่จ่ายเพิ่มค่ารักษา รีเควสยา ทำไม่ได้ ขัดเจตนารมณ์กฎหมาย โต้กลับคนห่วงระบบสาธารณสุขจะล้มละลาย ต้องพิจารณา 4 ข้อประเมินระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ หรือ “SAFE” ถึงขั้นนั้นจริงหรือ..
ตามที่คณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (Uhosnet) และชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ยื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายเพื่อบริการประชาชน โดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานยูฮอสเน็ต ให้ความเห็นถึงปัญหางบไม่พอว่า อาจต้องเปิดทางให้ผู้ป่วยบัตรทองได้ Ontop ให้สามารถจ่ายเพิ่มการรับบริการออฟชั่นเสริมต่างๆ แต่สปสช.ไม่ทำ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิ์
ประเด็น “ร่วมจ่าย” ค่าบริการทำได้แค่ไหน
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ประเด็นเรื่อง “ร่วมจ่าย” ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มีระบุในประเด็นนี้ ในเรื่องการ “ร่วมจ่าย” ค่าบริการ แต่การจะดำเนินการมีเงื่อนไข โดยต้องเป็นรายครั้ง และเป็นไปตามคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ กำหนด ซึ่งขณะนี้กำหนดอยู่ที่ “30บาท”
ส่วนกรณีคำถามว่า “ร่วมจ่ายตามความจำเป็น” เป็นทางเลือกได้หรือไม่นั้น ปรากฎว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความ ว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากฎหมายมีความประสงค์ในเรื่องการร่วมจ่าย ต้องเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ใช่ว่าเป็นการจ่ายเพิ่มค่ารักษาพยาบาล เช่น การผ่าตัดเข่า อยากร่วมจ่าย 2 หมื่นบาท หรือผ่าตัดอื่นใดขอร่วมจ่าย 7 พันบาท แบบนี้ทำไม่ได้ เพราะการร่วมจ่ายรายครั้งต่อการรับบริการ ถือว่าขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย
จ่ายเพิ่ม “ห้องพิเศษ” ได้ นอกนั้นผิดหลักเจตนารมณ์กฎหมาย
นพ.จเด็จกล่าวว่า จากพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ระบุชัดเจน โดยการจ่ายเพิ่มการบริการจะต้องเป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวก เช่น กรณีห้องพิเศษ ที่ไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์พื้นฐาน แต่จะไปเก็บเพิ่มว่า อุปกรณ์นี้ เครื่องมือนี้ดีกว่า แบบนี้ไม่ได้ รวมถึงยานอกบัญชียาหลัก คนไข้จะไปรีเควสไม่ได้ ยกเว้นหมอต้องวินิจฉัยว่าจำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชียาหลักฯ
“ประเด็นสำคัญ คือ ห้ามเก็บเงินจากคนไข้ในเรื่องการรักษาบริการ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจนเป็นคดีความ กรณี หมอระบุว่า คนไข้อยากได้ยาเอง แต่ทางศาลตีความว่า คนไข้ไม่มีความรู้ หรือความเชี่ยวชาญด้านโรคด้านยา มากกว่าแพทย์ ดังนั้น จะไปรีเควสไม่ได้ สรุปคือ การรักษาไม่ควรเปิดให้คนไข้เลือกยา หรือเลือกเครื่องมือ แนวทางรักษาเอง สิ่งเหล่านี้ทำไม่ได้ เรียกเก็บเพิ่มไม่ได้” เลขาธิการสปสช.กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ตอนที่เริ่มมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพฯ นั้น เจตนารมณ์คือ ไม่ได้ต้องการให้ประชาชนมารับบริการเกินความจำเป็น จึงกำหนดมาตรา 5 ในพ.ร.บ. ให้ร่วมจ่ายรายครั้งเท่ากันทั่วประเทศในอัตรา 30 บาทรักษาทุกโรคเมื่อครั้งอดีต แต่จะมาจ่ายร่วมในเรื่องการรับบริการเพิ่มไม่ได้ ยกเว้นการอำนวยความสะดวก แบบห้องพิเศษ เป็นต้น
ระบบสาธารณสุขไทยจะล้มละลายจริงหรือ..
ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อเสนอไม่ว่าจะเป็น “ร่วมจ่าย” หรือ Ontop ถูกมองว่าจะเป็นทางเลือกด้านงบประมาณไม่ให้ระบบสาธารณสุขล้มละลายในอนาคต เลขาธิการสปสช. กล่าวอีกว่า ต้องถามว่า ตอนนี้อยู่ในสภาวะล้มละลายแล้วหรือยัง ที่ผ่านมาเคยทำข้อมูลชุดหนึ่งที่เรียกว่า “ SAFE” ซึ่งเป็นรายงานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการเงินการคลังด้านสุขภาพ ว่าต้องอยู่ที่ตรงไหน ซึ่งถ้าจำไม่ผิด ค่าใช้จ่ายสุขภาพของประเทศตอนนี้ไม่ควรต่ำกว่า 4.5 และไม่ควรเกินกว่า 5.5 ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในกรอบที่กำหนด
ส่วนเรื่องของความเป็นธรรมก็ต้องมาพิจารณาว่า หากกำหนดไปแล้วและทำให้คนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเข้าบริการได้ เนื่องจากกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายร่วมเข้าไป ก็จะผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย เรื่องนี้มีความอ่อนไหว ดังนั้น ต้องมาดูว่าคำว่า ล้มละลาย หรือความยั่งยืนด้านการเงินเป็นอย่างไร
“สรุปคือ สิ่งที่ออนท็อปได้ คือความสะดวกสบาย ไม่ใช่การบริการขั้นพื้นฐาน อย่างนอนรักษาตัวในรพ. แต่ต้องการห้องพิเศษ ก็สามารถจ่ายเพิ่มเองได้ แต่เรื่องเทคโนโลยีการรักษาจะมาเลือกและออนท็อป หรือจ่ายเพิ่มย่อมไม่ได้ ยกเว้นต้องจำเป็นต่อการรักษาจริงๆ ซึ่งแพทย์ต้องวินิจฉัย” นพ.จเด็จ กล่าว
จ่ายเพิ่มเน้นการอำนวยความสะดวก ส่วนใหญ่ทำได้ต้องเป็นผู้ป่วยใน
เมื่อถามว่าการออนท็อป หรือจ่ายเพิ่มในการอำนวยความสะดวกจะต้องเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยในที่รพ.เท่านั้น อย่างคลินิก หรือหน่วยบริการปฐมภูมิจะทำอย่างไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า หน่วยบริการปฐมภูมิ ยังไม่ได้กำหนด เพราะความสะดวกสบายของผู้ป่วยนอก อาจเป็นเรื่องความเร็ว ซึ่งตรงนี้หากต้องทำก็ต้องมาพิจารณากัน แต่ผู้ป่วยในจะชัดเจนตรงห้องสามัญ ห้องพิเศษ อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ป่วยนอก อะไรที่เป็นความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น และผู้ป่วยต้องการความสะดวกก็อาจต้องมาพิจารณาว่าต้องเพิ่มอะไร อย่างไร กล่าวคือ หากจะจ่ายเพิ่มก็เน้นความสะดวกสบาย อย่างอื่นไม่ได้ ผิดหลักเจตนารมณ์ของกฎหมาย
SAFE คือ
อนึ่ง หลักคิด “SAFE” เป็นหลักการที่จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพอยู่ได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย
-Sustainable ระบบการเงินต้องยั่งยืน รัฐบาลสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระบบสุขภาพได้
-Adequate ต้องเพียงพอ มีการจัดสรรงบประมาณมาใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพียงพอให้กับประชาชน
-Fair การช่วยเหลือต้องเป็นธรรม มีการแบ่งเงินช่วยเหลือที่เป็นธรรมต่อสังคม คนสุขภาพดีต้องช่วยคนที่ป่วย ผู้มีรายได้สูงต้องช่วยผู้มีรายได้น้อย
-Efficiency ต้องมีประสิทธิภาพ การใช้จ่ายเงินงบประมาณต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพมาช่วยให้การใช้จ่ายงบประมาณมีความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
- 905 views