ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากย้อนกลับไปมองมาตรการการรับมือวิกฤตการณ์โควิด-19 ด้วยสายตาที่เป็นกลาง เราจะได้พบกับความมหัศจรรย์ประการหนึ่ง นั่นคือขีดความสามารถและศักยภาพของชุมชน ที่แสดงออกมาในรูปแบบของการสร้าง ‘นวัตกรรมทางสังคม’ (Social Innovation) เพื่อใช้ป้องกันและควบคุมโรค 

เพื่อตอบสนองต่อปัญหาเฉพาะหน้า นวัตกรรมทางสังคมถูกคิดค้นขึ้นอย่างรวดเร็วและถูกนำมาใช้อย่างทันทีทันใด ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของระบบอาสาสมัครที่เข้มแข็ง การวางระบบในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง การจัดระบบจัดการอาหาร ตลอดจนการจัดตั้งระบบศูนย์แยกกัก/ศูนย์พักคอยในชุมชน การจัดระบบการประสานดูแลและส่งต่อผู้ป่วย ฯลฯ

เหล่านี้คือ Innovation by Crisis หรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาหลังจากที่เราเจอวิกฤต ซึ่งถือเป็นความมหัศจรรย์และถือเป็น ‘จุดแข็ง’ ของประเทศไทยในวิกฤตการณ์

อย่างไรก็ดี เพื่อวางรากฐานให้เกิดความยั่งยืน และเพื่อทำให้ ‘ความมหัศจรรย์’ เหล่านั้นเกิดขึ้นและกระจายตัวออกไปอย่างไม่รู้จบ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้สานพลังเครือข่ายนักวิชาการ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดทำโครงการวิจัยที่ชื่อว่า “ยกระดับศักยภาพการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพด้วยนวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด”

การวิจัยดังกล่าว มุ่งเน้นไปที่สิ่งที่เรียกว่า  ‘Innovation by Design’  คือการเพิ่มศักยภาพให้ชุมชนสามารถคิดค้น-ออกแบบนวัตกรรมของตัวเอง เพื่อใช้รับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต นั่นเพราะวิกฤตด้านสุขภาพไม่ได้จำกัดความเฉพาะโรคระบาดใหญ่เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงวิกฤตที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตามบริบทที่แตกต่างกันด้วย เช่น ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) การเข้าถึงสิทธิ ฯลฯ คณะนักวิจัยจึงใช้กระบวนการออกแบบบริการ (Service Design) และการประเมินผลเพื่อพัฒนา (Developmental Evaluation) เข้าไปเพิ่มศักยภาพให้ชุมชน ให้สามารถออกแบบนวัตกรรมเพื่อจัดการกับวิกฤตได้ทุกรูปแบบ       

เพื่อเรียนรู้จากความสำเร็จและสกัดออกมาเป็นองค์ความรู้สาธารณะ โครงการวิจัยจึงเฟ้นหาพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อศึกษา โดยโฟกัสไปยัง 17 ชุมชน ทั้งใน กทม. และภูมิภาค ที่มีนวัตกรรมโดดเด่นและสามารถนำไปใช้สนับสนุนการจัดบริการปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถึงแม้ว่าทั้ง 17 ชุมชนจะพิสูจน์แล้วว่ามีความสามารถในการจัดการตนเองได้ดี แต่นั่นก็ไม่อาจการันตีได้ว่า เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ครั้งใหม่ขึ้นในอนาคตแล้ว ผลลัพธ์ยังจะออกมาในทางที่พึงประสงค์เช่นเดิม

ผศ.ดร.วีรบูรณ์ วิสารทสกุล คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในฐานะนักวิจัยฯ ระบุว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ตัวแกนนำเปลี่ยน บางชุมชนที่เคยเข้มแข็งในช่วงวิกฤตก็อาจต้องกลับมาเริ่มใหม่ในการพัฒนาทุนทางสังคม แต่ในบางชุมชนที่มีฐานทุนภายในที่ดี ก็สามารถต่อยอดไปเชื่อมกับทุนภายนอก จนเกิดเป็นนวัตกรรมในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิขึ้นมาได้

“สิ่งที่โครงการวิจัยเน้นย้ำคือความพยายามส่งมอบการจัดการสุขภาพปฐมภูมิในเชิงระบบ ให้เป็นระบบที่ใหญ่กว่าตัวชุมชนเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าชุมชนอยู่เดี่ยวๆ พอแกนนำเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน ชุมชนก็อาจไม่เข้มแข็ง แต่หากมีการไปเชื่อมกับภาครัฐ ภาคท้องถิ่น หรือมีการเกาะเกี่ยวกับโหนดพี่ ก็จะช่วยให้ตัวชุมชนสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์วิกฤต” ผศ.ดร.วีรบูรณ์ อธิบาย

นี่คือเหตุผลที่ทำให้คณะวิจัยสนใจ และพยายามเสาะแสวงหากระบวนการการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน ซึ่งหนึ่งในคำตอบของคำถาม มาจากการศึกษา ชุมชนแหลมสนอ่อน จ.สงขลา

ชุมชนแหลมสนอ่อนเป็นชุมชนเขตเมือง ในอดีตประชาชนมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการสุขภาพ เพราะไม่ได้พำนักอยู่อาศัยในที่ดินของตนเอง มากไปกว่านั้นประชากรอีกกว่าครึ่งค่อนชุมชนมาจากต่างถิ่น และทำเลที่ตั้งของชุมชนก็อยู่ห่างไกลจากหน่วยบริการสุขภาพ จะมีก็แต่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เท่านั้น ที่สนับสนุนการดูแลในระดับปฐมภูมิ

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ชุมชนแหลมสนอ่อนเผชิญกับวิกฤตด้านอาหาร จึงออกแบบการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหา นำไปสู่นวัตกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง นั่นคือ ‘การจัดตั้งครัวกลาง’ ขึ้นในชุมชน ขณะเดียวกันก็มีการต่อยอดในเชิงข้อมูล สำรวจประชากร รายละเอียดครัวเรือน ทำแผนที่เดินดิน ฯลฯ ก่อนจะต่อยอดไปสู่ ‘การจัดเก็บข้อมูลสุขภาพ’ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ นั่นเพราะข้อมูลได้สะท้อนถึงสถานการณ์โรค NCDs ที่กำลังคุกคามคนในชุมชน รวมทั้งเทรนด์สังคมสูงวัยและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในบริบทของชุมชนเขตเมือง

นายชาคริต โภชะเรือง สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา หนึ่งในกำลังสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งชุมชน เล่าว่า ชุมชนได้ต่อยอดเรื่องการเก็บข้อมูลสุขภาพด้วยการพัฒนาระบบ iMed@home เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลสุขภาพรายบุคคล และนำข้อมูลเหล่านั้นกลับมาคืนให้คนในชุมชนด้วยการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิเคราะห์ให้คนในชุมชนรู้ว่าข้อมูลสุขภาพเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพอย่างไร โดยมีการสานพลังร่วมกับภาคีเครือข่าย หน่วยบริการสุขภาพ วิทยาลัยพยาบาล ฯลฯ ให้เข้ามาสนับสนุนเติมความรู้ Health Literacy ให้กับคนในชุมชนด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนแหลมสนอ่อนจึงกลายเป็น ‘นวัตกรรมแผนสุขภาพรายบุคคล’ คือการจัดทำแผนดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล ทั้งมิติของพฤติกรรมการรับประทาน การออกกำลังกาย และด้วยนวัตกรรมแผนสุขภาพรายบุคคลนี้ มีส่วนสำคัญในการเติมเต็มการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิด้วย

“เมื่อชุมชนเกิดนวัตกรรมและสามารถดูแลตัวเองได้มากขึ้น ก็จะช่วยลดภาระของรัฐในการที่ต้องเข้ามาดูแลน้อยลง ฉะนั้นภาครัฐเองก็ควรจะต้องโน้มลงมาช่วยดึงศักยภาพชุมชนขึ้นมาด้วย” นายชาคริต ระบุ

นอกจากชุมชนแหลมสนอ่อนแล้ว ยังมีอีก 16 ชุมชนที่เป็นพื้นที่การศึกษา ซึ่งโครงการวิจัยนี้ได้แบ่งระยะการพัฒนาของชุมชนต่างๆ ออกเป็น 6 ระยะ ได้แก่ 1. พัฒนาความเป็นชุมชน คือชุมชนไม่จัดตั้ง ไม่มีแกนนำ คนในชุมชนแยกกันอยู่ ต้องเข้าไปชักชวนคนให้ลุกขึ้นมาเป็นแกนนำ ให้เกิดการรวมตัวกันจัดการปัญหาสุขภาพในชุมชนอีกครั้ง ได้แก่ ชุมชนสุพจน์อุทิศ กทม. และ ชุมชนตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร 2. พัฒนาแกนนำ คือชุมชนที่อาจสลายตัวไปหลังโควิด-19 แต่ยังมีเครือข่ายความสัมพันธ์ของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน จึงต้องเข้าไปช่วยค้นหาแกนนำ เครือข่ายความสัมพันธ์ และฟื้นฟูความเป็นชุมชนขึ้นอีกครั้ง ได้แก่ ชุมชนเพชรเกษม 71 กทม., ชุมชนเทพกุญชร และ ชุมชนตลาดสี่มุมเมือง จ.ปทุมธานี 3. มีการเริ่มต้นกระบวนการออกแบบนวัตกรรม เป็นชุมชนที่มีทุนทางสังคม ต้องเข้าไปช่วยเหลือการจัดการข้อมูลสารสนเทศเพิ่ม

เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ได้แก่ ชุมชนวัดปุรณาวาส และ ชุมชนคลองจวน กทม., ชุมชนชีทวน จ.อุบลราชธานี, ชุมชนมิตรภาพ และ ชุมชนเหล่านาดี จ.ขอนแก่น, ชุมชนกำแพงงาม และ ชุมชนหัวฝาย จ.เชียงใหม่ 4. มีการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม (prototype) เป็นชุมชนที่อยู่ระหว่างการพัฒนานวัตกรรม โดยจะเข้าไปสนับสนุนความรู้ทางวิชาการเพิ่มเติม ได้แก่ ชุมชนพัฒนาใหม่ ชุมชนริมคลองวัดสะพาน และ ชุมชนล็อค 1-2-3 เขตคลองเตย กทม. 5. มีการประสานกับหน่วยงานด้านสุขภาพในพื้นที่ เป็นชุมชนที่เกิดนวัตกรรมแล้ว อยู่ระหว่างความพยายามให้เกิดการประสานกับระบบที่ใหญ่กว่า เช่น ระบบบริการปฐมภูมิของท้องถิ่น หรือส่วนกลาง ได้แก่ ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา กทม. 6. มีการขยายผลสู่การพัฒนาระบบสุขภาพบูรณาการ คือชุมชนที่เกิดการเชื่อมต่อกับระบบบริการสุขภาพภายนอกแล้ว ในการเข้ามาทำงานร่วมกันและร่วมสนับสนุนนวัตกรรมในระดับชุมชน ได้แก่ ชุมชนแหลมสนอ่อน จ.สงขลา

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. บอกว่า ในช่วงโควิด-19 เราได้เห็นความเข้มแข็งของชุมชนในสถานการณ์วิกฤต ที่เกิดเป็นนวัตกรรมการดูแลกันในชุมชนขึ้นมามากมาย แต่เมื่อเหตุการณ์โควิดคลี่คลายลง เรากลับพบว่านวัตกรรมต่างๆ หายไปด้วยเช่นกัน จุดประสงค์ของโครงการวิจัยที่ สวรส. ให้การสนับสนุนนี้เพื่อหาคำตอบว่าทำอย่างไร นวัตกรรมบริการสุขภาพที่เกิดจากชุมชนจึงจะสามารถยกระดับหรือพัฒนาต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้

“เราเชื่อว่าชุมชนจะเป็นฐานรากที่สำคัญของระบบสุขภาพปฐมภูมิ แต่กระนั้นชุมชนก็ต้องเกิดความเข้มแข็ง มีนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล แม้ทั้ง 17 ชุมชนที่เราลงไปทำงานวิจัยจะพบว่ามีความเข้มแข็งที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญให้ชุมชนเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้ เกิดเป็นเจตนาร่วมกันที่จะมาหาทางออก หรือคิดค้นกระบวนการดูแลสุขภาพที่ชุมชนต้องการ ที่จะยกระดับไปสู่การเกิดนวัตกรรมทางสุขภาพเพื่อดูแลผู้คนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน” รองผู้อำนวยการ สวรส. ระบุ