ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์รามาฯ เผยผลวิจัยผู้ป่วย กทม. ถูกปฏิเสธ แม้มีนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่" ชี้อัตราการจ่ายไม่จูงใจ ปัญหาการส่งต่อหลังรักษาภาวะฉุกเฉิน สปสช.เตรียมทบทวนอัตราการจ่าย เผยคนยังเข้าใจผิดต้อง "ฉุกเฉินทางการแพทย์ถึงชีวิต" ถึงจะเข้านิยามสิทธิ UCEP 

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดการประชุมนำเสนอผลดำเนินโครงการวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมีการนำเสนอ "โครงการการประเมินมาตรการทางนโยบายเพื่อขยายผล UCEP เข้าสู่โรงพยาบาลภาครัฐ (ระยะที่ 2: การสำรวจการตอบสนองของหน่วยบริการต่อการดำเนินมาตรการทางนโยบาย)"

จากประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องแนวทางการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินตามนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่" ในหน่วยบริการภาครัฐ พ.ศ. 2566 ทำให้ประชาชนมีสิทธิในการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ใช้สิทธิ UCEP รักษาโรงพยาบาลใกล้ที่สุดได้ทุกที่ แต่ยังพบการถูกปฏิเสธ 

"หมอสัมฤทธิ์" ชี้อัตราการจ่ายที่ไม่จูงใจ เหตุผู้ป่วยถูกปฏิเสธ

ในปี 2566 นโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ขยายไปยังโรงพยาบาลภาครัฐ โดยกำหนดกลุ่มผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง แต่กลไกการเงินการคลังอาจไม่เพียงพอต่อการพัฒนาระบบบริการ จากกรณีปฏิเสธผู้ป่วยในเขต กทม. แม้จะมีการดำเนินนโยบาย UCEP มามากกว่า 5 ปีแล้ว (*อ้างอิงจาก ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร วันที่ 14 มิถุนายน 2567)

ปีงบประมาณ 2565 จำนวนผู้ป่วย 304 จำนวนผู้ป่วยเฉลี่ยต่อเดือน 28 จำนวนครั้งที่ รพ.ปฏิเสธการรับผู้ป่วย 693 จำนวนครั้งเฉลี่ยที่ รพ.ปฏิเสธการรับผู้ป่วยต่อเดือน 58

ปีงบประมาณ 2566 จำนวนผู้ป่วย 382 จำนวนผู้ป่วยเฉลี่ยต่อเดือน 32 จำนวนครั้งที่ รพ.ปฏิเสธการรับผู้ป่วย 824 จำนวนครั้งเฉลี่ยที่ รพ.ปฏิเสธการรับผู้ป่วยต่อเดือน 69

ปีงบประมาณ 2567 จำนวนผู้ป่วย 143 จำนวนผู้ป่วยเฉลี่ยต่อเดือน 20 จำนวนครั้งที่ รพ.ปฏิเสธการรับผู้ป่วย 324 จำนวนครั้งเฉลี่ยที่ รพ.ปฏิเสธการรับผู้ป่วยต่อเดือน 46

ผศ.นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และรองหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่าบริการฉุกเฉินในโรงพยาบาล UCEP ภาคเอกชน ยังพบปัญหาโรงพยาบาลปฏิเสธการรับผู้ป่วย สาเหตุหลักอาจมาจากอัตราการจ่ายที่ไม่จูงใจพอ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาในเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยภายหลังการรักษาภาวะฉุกเฉินแล้ว ด้าน UCEP ภาครัฐ ยังไม่ค่อยพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลใหญ่ 

"ประเด็นเรื่องการเงินการคลัง ในภาพรวมผมมองว่า ประเทศควรต้องลงทุนในระบบการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้น ทั้งในกรณีก่อนถึงโรงพยาบาล และเมื่อถึงโรงพยาบาล เงินเป็นปัจจัยแต่ว่าไม่ทั้งหมด UCEP มีปัญหาเรื่องการหาโรงพยาบาล การส่งต่อด้วย" ผศ.นพ.สัมฤทธิ์ กล่าวและนำเสนอ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ประเด็นการอภิบาลระบบ: ทบทวนมาตรการและข้อกำหนดร่วมกันเพื่อลดปัญหาการปฏิเสธการรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของโรงพยาบาลรัฐและเอกชนใน กทม.

ประเด็นด้านการคลัง: 

  • ประเทศไทยควรต้องลงทุนในระบบการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นเพื่อยกระดับมาตรฐาน และให้ประชาชนเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
  • ทบทวนแหล่งการคลัง รูปแบบการบริหารจัดการ อัตราการชดเชยเพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานของระบบการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล
  • ทบทวนอัตราการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตในโรงพยาบาล (UCEP)

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข ควรพิจารณากรอบอัตรากำลัง และอัตราการจ่ายค่าตอบแทน "นอกเวลา" สำหรับวิชาชีพต่าง ๆ ที่เป็นธรรมและสร้างแรงจูงใจที่มากพอ 

ทำไมคน กทม.ถึงถูกปฏิเสธการเข้าถึงห้องฉุกเฉิน

นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) ประชาชนมีสิทธิในการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ใช้สิทธิ UCEP รักษาโรงพยาบาลใกล้ที่สุดได้ทุกที่ แต่ยังพบการถูกปฏิเสธ แม้ว่า กทม. จะมีแพทย์และโรงพยาบาลมากที่สุดในประเทศไทย 

น.ส.ดวงนภา พิเชษกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เรื่องปฏิเสธการใช้สิทธิ ส่วนหนึ่งมาจากนิยามของคำว่า ฉุกเฉิน ยังเป็นจุดอ่อนของผู้ให้บริการและประชาชน เพราะฉุกเฉินทางการแพทย์ถึงชีวิต จึงเป็นเรื่องของหน้างานที่ต้องประเมินว่า กรณีนั้นเข้าฉุกเฉินของหรือไม่ ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าตัวเองเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่อาจไม่ได้เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP เช่น ขาหัก ที่ไม่ถือว่าเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต แต่ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองสามารถรับการรักษาได้ 

"ฉุกเฉินในความรู้สีกของประชาชน กับฉุกเฉินในนิยามทางการแพทย์ยังไม่ตรงกัน เสียงทั่วไปอาจถูกมองว่าปฏิเสธผู้ป่วยได้ แต่หากมีการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต จริง ๆ แล้วปฏิเสธไม่ได้เลย เนื่องจากมีกฎหมายมาแล้ว สปสช. มีสายด่วน 1330 รับเรื่องนี้ หากประชาชนเจ็บป่วยเข้าข่ายสีแดง แต่โรงพยาบาลประเมินว่าไม่ใช่ สปสช.จะส่งเรื่องให้กับ สพฉ.ต่อไป"

UCEP มี 2 แบบ ได้แก่ UCEP ภาครัฐ และ UCEP ภาคเอกชน โดยมีข้อเปรียบเทียบ ดังนี้

UCEP ภาครัฐ

  • โซนพื้นที่ที่มีเบิกรายบริการมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • กลุ่มหน่วยบริการที่เบิกมากที่สุดอยู่ใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • กลุ่มอาการที่เบิกมากที่สุด คือ ระบบทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต และอาการเจ็บป่วย (ไม่ทราบสาเหตุ)

UCEP ภาคเอกชน 

  • พื้นที่ที่เบิกรายบริการมากที่สุดกระจุกตัวที่ กทม.
  • กลุ่มหน่วยบริการที่เบิกมากที่สุด ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ใน กทม.
  • กลุ่มอาการที่เบิกมากที่สุด คือ หายใจติดขัด (ระบบทางเดินหายใจ) เจ็บแน่นทรวงอกและหัวใจ (ระบบไหลเวียนโลหิต) และอัมพาต (ระบบประสาท) 

โดยผู้ป่วยใน กทม.เข้า UCEP ภาคเอกชน เยอะกว่า เพราะโรงพยาบาลรัฐไม่ได้มีครบทุกพื้นที่ ทรัพยากรของภาครัฐที่จะรองรับยังไม่เพียงพอ ซึ่งกำลังมีการขยายให้มีโรงพยาบาลในทุกเขต

"จากการพูดคุยในวันนี้ สปสช.ได้รวบรวมข้อมูลเพื่อหารือต่อไป เช่น ทบทวนอัตราการจ่าย เพราะ 6 ปีที่เริ่มนโยบาย UCEP ยังไม่ได้ทบทวน ซึ่งจริง ๆ แล้ว สปสช.มีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน เพื่อมาทบทวนอีกครั้ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบ บริบทของจังหวัด ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาพูดคุยกัน และเรื่องการกระจายอำนาจ เพื่อทำให้ดีขึ้น"

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือของ สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องการยกระดับหน่วยบริการฉุกเฉินของโรงพยาบาลภาครัฐให้มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งการให้บริการและห้องฉุกเฉิน ให้มีคุณภาพมากขึ้นด้วย