ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เผย 8 ข้อป้องกันการติดเชื้อ “ฝีดาษวานร” ห้ามสัมผัสผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่อาจจะอยู่ในระยะฟักตัว งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก หรือผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศอย่างน้อย 1 เดือน ล้างมือบ่อย ๆ แม้ฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษวานรแล้ว ก็ต้องเข้มมาตรการป้องกัน

ฝีดาษวานร Mpox สายพันธุ์ใหม่: มาอีกแล้ว-ไม่มีวันเลิกรา

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของโรคฝีดาษวานร(Mpox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเป็นครั้งที่สองในรอบ 2 ปี หลังจากพบการระบาดอย่างรุนแรงครั้งใหม่ในต้นปีที่ผ่านมาในหลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกากลางและตะวันออก และเริ่มพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ 1b นอกทวีปแอฟริกาด้วย พร้อม ทั้งขอความร่วมมือจากทุกประเทศ ทุกองค์กร พร้อมกับสมาคมแพทย์นานาชาติ (World Medical Association) ให้ทุ่มเททรัพยากรที่มีอยู่เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคให้เร็ว ช่วยให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการดูแลรักษาได้ง่าย และควบคุมการระบาดของโรคฝีดาษวานรให้มีประสิทธิภาพทั้งภายในประเทศของตนและช่วยเหลือประเทศที่เป็นดงระบาดของโรคในทวีปแอฟริกาด้วย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรพบว่า ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2567 มีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้วจํานวน 1,854 รายจากรัฐสมาชิกในภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 36 ของจํานวนผู้ป่วย 5,199 รายที่พบทั่วโลก และผู้ป่วยจํานวน 1,754 จาก 1,854 รายหรือร้อยละ 95 พบในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ซึ่งกําลังเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว โดยมีผู้ป่วยที่มีลักษณะทางคลินิกเข้าข่ายโรคนี้มากกว่า 15,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 รายซึ่งเป็นจํานวนที่มากกว่าจํานวนผู้ป่วยที่พบใน DRC ในปี 2566 เชื้อที่ระบาดใน DRC เกิดจากสายพันธุ์ (Clade) กลุ่ม 1 และกลุ่ม 1b โดยการศึกษาในอดีตในปี ค.ศ. 1980 พบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10 และมักก่อโรคในเด็กและในผู้หญิง อัตราตายในขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ในเด็ก สายพันธุ์นี้แตกต่างจากการระบาดนอกทวีป แอฟริกาเมื่อ 2 ปีก่อนที่พบว่าเชื้อก่อโรคเป็นสายพันธุ์ 2b ซึ่งมีอัตราตายต่ําเพียงร้อยละ 0.2

หลังการประกาศภาวะฉุกเฉิน ฯ ครั้งที่สองขององค์การอนามัยโลกไม่ถึง 1 สัปดาห์ สวีเดนกลายเป็นประเทศแรก นอกทวีปแอฟริกาที่รายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร สายพันธุ์ 1b ในบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2567 ทั้ง ๆ ที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรสายพันธุ์ 2b ในยุโรปประมาณ 100 รายทุกเดือน ส่วนปากีสถานพบผู้ป่วยฝีดาษวานร(คาดว่าเกิดจากสายพันธุ์ 1b)ที่เดินทางกลับมาจากทวีปแอฟริกา กระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ก็ได้รายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรก ในปีนี้เมื่อวันอาทิตย์ 18 สิงหาคม โดยระบุว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นชายสัญชาติฟิลิปปินส์อายุ 33 ปี ไม่มีประวัติการเดินทางออกนอกประเทศ แต่มีประวัติการสัมผัสใกล้ชิด 3 สัปดาห์ก่อนเริ่มมีผื่น เข้าใจว่า อาจจะเกิดจากสายพันธุ์ 1b รายนี้จะตอกย้ำ ว่า การระบาดนอกทวีปแอฟริกาของสายพันธุ์ 1b ที่ดุร้ายกว่า ได้เริ่มขึ้นอีกแล้วและอาจจะไม่มีวันเลิกราไปอีกนาน

สําหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมาพบผู้ป่วยยืนยัน 827 ราย เป็นเพศชายถึงร้อยละ 98 ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งถือว่า เป็นการสัมผัสอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย ในปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 สิงหาคมพบผู้ป่วยยืนยัน 140 ราย ทุกรายเป็นสายพันธุ์ 2b และแล้วเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ประเทศไทยก็พบผู้ติดเชื้อเป็นชาวยุโรปอายุ 66 ปี เพิ่งกลับมาจาก DRC ในทวีปแอฟริกา และเดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 18.00 น. ผู้ป่วยรายนี้มีผื่น มีไข้ ในวันรุ่งขึ้นและมีลักษณะคลินิกเข้าได้กับโรคฝีดาษวานร จึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง การตรวจตัวอย่างจากตุ่มหาเชื้อสายพันธุ์ 2b ให้ผลลบ จึงทําให้สงสัยว่ารายนี้จะเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ติดเชื้อสายพันธุ์ 1b ขณะนี้เริ่มมีการรายงานการแพร่กระจายของเชื้อสายพันธุ์ 1b นอกทวีปแอฟริกา มากขึ้นเรื่อย ๆ และเชื่อว่ายังมีผู้ติดเชื้อในระยะฟักตัวของโรคจากสายพันธุ์ 1b อีกจํานวนมากซึ่งยังไม่แสดงอาการออกมา

เชื้อไวรัสฝีดาษวานร (Mpox)

เชื้อไวรัสฝีดาษวานรมี 2 สายพันธุ์หลัก ได้แก่

1. สายพันธุ์คลาสสิก (West African clade หรือ clade 2): สายพันธุ์นี้มักพบในพื้นที่แถบแอฟริกาตะวันตกและมีความรุนแรงน้อยกว่า อัตราตายต่ำอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.2 เมื่อปี 2565 สายพันธุ์นี้ระบาดหนักไปนอกทวีป แอฟริกาถึง 116 ประเทศและมีผู้ติดเชื้อทั้งหมดจํานวนหนึ่งแสนราย เชื้อที่ก่อโรคกลายพันธุ์มาเป็นสายพันธุ์ 2b 

2. สายพันธุ์คองโก (Congo Basin clade หรือ clade 1): สายพันธุ์นี้พบในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออก มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าและมีความรุนแรงมากกว่า ในอดีตเคยพบว่า อัตราตายอยู่ที่ร้อยละ 10 ในเดือนกรกฎาคมปีนี้เริ่มพบว่ามีการระบาดออกนอกทวีปแอฟริกา จนองค์การอนามัยโลกต้องประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณะระหว่างประเทศเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมนี้เอง

วิธีการติดต่อของเชื้อฝีดาษวานร

มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า การมีเพศสัมพันธ์เป็นวิธีหลักที่ทําให้เกิดการสัมผัสอย่างใกล้ชิดและยาวนานเพียงพอที่จะแพร่เชื้อจากผู้ป่วยไปสู่รายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสหรือการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด/ทางทวารหนัก ปากต่อปาก (การจูบ) ปากต่อผิว (การมีเพศสัมพันธ์ทางปากหรือการจูบที่ผิวหนัง) วิธีการอื่นๆ เช่น การสัมผัสโดยตรงจากมือไปถูกผื่น ตุ่ม หนอง น้ำหนองของผู้ป่วย หรือสิ่งของปนเปื้อนของผู้ป่วย เป็นวิธีรองลงมา ส่วนการติดเชื้อจากการสูดดมละอองฝอยที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไปในทางเดินหายใจ เช่น การไอ จาม หรือการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรเป็นไปได้ยากมากและไม่เหมือนเชื้อ SARS-CoV-2 เพราะเชื้อไวรัส Mpox มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของ SARS-CoV-2 ซึ่งทําให้เชื้อ Mpox แทบจะลอยอยู่ในอากาศได้ไม่นานเท่า นอกจากนี้การสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น ลิง หนู และกระรอกในดงระบาด อาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ผู้ป่วยไปรับเชื้อได้

ลักษณะคลินิก

ระยะเวลาฟักตัวของโรค Mpox อยู่ประมาณ 5 - 21 วัน โรคฝีดาษวานรมีอาการดังนี้ 
• ไข้: มักเป็นอาการเริ่มต้น มีไข้ ไข้สูงและอาจจะหนาวสั่น
• อาการปวด: ปวดตามกล้ามเนื้อและปวดศีรษะ
• อ่อนเพลีย: รู้สึกอ่อนเพลียและไม่ค่อยมีแรง
• ต่อมน้ำเหลืองโต: ต่อมน้ำเหลืองอาจบวมและเจ็บ โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับจุดที่ติดเชื้อ เช่น ที่ขาหนีบ รักแร้ คอ
•  ผื่นหรือตุ่ม: จะเริ่มมีผื่นหรือตุ่มน้ำที่ผิวหนังขึ้นตามใบหน้า ร่างกาย ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหลังจากมีไข้ 1-3 วัน แต่ในบางรายอาจจะมีก่อนมีไข้ได้ ผื่นจะกลายเป็นตุ่มที่มีน้ำใสในระยะแรกหรือแผล(อาจมีลักษณะคล้ายฝีดาษ) ตุ่มน้ำจะมีขนาดใกล้เคียงกัน (ไม่เหมือนไข้สุกใสที่มีตุ่มน้ำขนาดแตกต่างกันในช่วงเวลาเดียวกันและไม่มีต่อมน้ำเหลืองโต) 
•  อาการอื่นๆ: อาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น คออักเสบ หรือตาแดง

ผู้ติดเชื้อที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่มีโรคประจําตัว กินยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่ได้รับการปลูกถ่าย อวัยวะ อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

ยาต้านไวรัสฝีดาษวานร

ยาที่ใช้รักษาโรคฝีดาษวานร (Mpox) มีดังนี้:

1. Tecovirimat (TPOXX): เป็นยาที่ได้รับการอนุมัติสําหรับการรักษาโรคฝีดาษ รวมถึงฝีดาษวานร 

2. Cidofovir: อาจใช้ในกรณีที่รุนแรง ร่วมกับ tecovirimat ในการรักษารายที่ป่วยรุนแรง

3. Brincidofovir: เป็นยาที่คล้ายกับ cidofovir และกําลังมีการศึกษาเพื่อใช้ในการรักษา

หากไม่ได้รับยาต้านไวรัส โรคอาจจะหายได้เองใน 2 - 4 สัปดาห์ อัตราตายของโรคฝีดาษวานรสายพันธุ์ 1b อาจจะอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งต้องรอการยืนยันจากการศึกษาที่ครบถ้วนอีกครั้ง

วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง (Mpox) ที่มีการใช้

วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรค มีบริการที่สภากาชาดไทย ได้แก่

1. วัคซีนฝีดาษ (Smallpox vaccine): วัคซีนนี้อ้างว่า ทําจากเชื้อฝีดาษวัวและเชื้อถูกทําให้อ่อนฤทธิ์ก่อนจะนํามาใช้ในคน การใช้จะทําโดยหยดน้ำยาวัคซีนที่มีเชื้อบนต้นแขนซ้าย แล้วใช้เข็มจิ้มผ่านหยดวัคซีนเข้าไปที่ผิวหนังให้มีจุด เลือดออกนิด ๆ เชื้อที่อ่อนฤทธิ์จะผ่านผิวหนังเข้าไปในร่างกายและกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ จึงเรียกว่าปลูกฝี วัคซีนแบบนี้ถูกใช้มานานจนไม่พบไข้ทรพิษ ประเทศไทยจึงเลิกทยอยปลูกฝีตั้งแต่ปี 2517 และทั่วโลกยกเลิกในปี 2523 วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ด้วย เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ทําให้เกิดโรคทั้งสองชนิดมีความคล้ายคลึงกัน ถ้าเราเคยปลูกฝีและมีภูมิคุ้มกันปกติ จะมีเซลล์ความจําชนิด ที่เซลล์ ในร่างกายที่จะออกมา เพิ่มจํานวนและต่อสู้กับเชื้อเมื่อเชื้อตัวใหม่เข้าสู่ร่างกาย ปัจจุบันไม่ได้นําวัคซีนชนิดนี้มาใช้แล้ว 

2. JYNNEOS™ (หรือ Imvamune/Imvanex): เป็นวัคซีนที่ผลิตใหม่และได้รับการอนุมัติสําหรับการฉีดป้องกันทั้ง โรคฝีดาษและฝีดาษวานร ผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อย ฉีดวัคซีนเข้าชั้นใต้ผิวหนังครั้งละ 0.5 มล. หรือฉีดเข้าชั้นผิวหนังจุดละ 0.1 มล. รวม 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ในผู้ที่มีอายุเกิน 18 ปี

แนะนําให้ฉีดวัคซีนเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ต่อการติดเชื้อเท่านั้น เช่น ผู้ที่ทํางานใน สถานพยาบาลหรือผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้

ประชาชนทั่วไปไม่ต้องฉีดวัคซีนเพราะสามารถใช้วิธีป้องกันการติดเชื้ออย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว

ผู้ที่มีอายุเกิน 44 ปีขึ้นไปหรือสังเกตเห็นแผลเป็นที่ต้นแขนซ้ายดังภาพ หากเป็นผู้เสี่ยงสูง ก็อาจจะฉีดกระตุ้นเพียง 1 ครั้งหรือไม่ก็ได้

วิธีการป้องกันการติดเชื้อ

การป้องกันการติดเชื้อถือเป็นปราการสําคัญด่านแรกและเพียงพอสําหรับประชาชนทั่วไป เพราะเชื้อไม่ได้ติดต่อง่ายแต่ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามอย่างเข้มข้นจริงจัง จะป้องกันการติดเชื้อได้แน่นอน ที่สําคัญที่สุดคือ งดการสัมผัสอย่างใกล้ชิดเด็ดขาดกับผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่อาจจะอยู่ในระยะฟักตัวของโรคนี้เป็นเวลา 1 เดือน คําแนะนําการป้องกันโรคสําหรับผู้ที่อาศัยในเมืองไทยมีดังนี้ 

1. ไม่เดินทางไปท่องเที่ยวในดงระบาดของโรคฝีดาษวานร จนกว่าจะสามารถควบคุมการระบาดในพื้นที่นั้นได้ดีแล้ว

2. งดการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เดินทางกลับจากดงระบาดของโรคนี้หรือต่างประเทศและเพิ่งกลับมาเมืองไทยไม่ถึง 1 เดือน

3. งดการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จักมาก่อนและเพิ่งกลับมาเมืองไทยไม่ถึง 1 เดือน

4. สําหรับผู้หญิงและเด็ก ไม่ไปสัมผัสด้วยวิธีใด ๆ เช่น จับมือ กับผู้ที่ไม่รู้จักหรือผู้ที่เดินทางกลับจากดงระบาดและกลับมา เมืองไทยไม่ถึง 1 เดือน

5. ล้างมือให้สะอาดและบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อเมื่อไปจับต้องสิ่งของในที่สาธารณะ โดยเฉพาะแม่บ้านในโรงแรมที่เข้าไปทําความสะอาดเตียงนอนในห้องพัก แนะนําให้สวมหน้ากากอนามัยและล้างมือทุกครั้งทั้งก่อนและหลังสัมผัสผ้า เตียงนอน และสิ่งของต่าง ๆ ในห้องพัก

6. ไม่ใช้ของใช้ร่วมกัน: ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว หรือเสื้อผ้า ร่วมกับผู้อื่นเพราะอาจจะมีเชื้อปะปนอยู่จากผู้ป่วยที่ ใช้สวมใส่มาก่อน

7. ไม่สัมผัสกับสัตว์ป่าที่อาจจะติดเชื้อ เช่น ลิง หนูหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

8. หากยังไม่ได้ล้างมือหลังจับสิ่งของสาธารณะหรือของใช้ของผู้อื่น ห้ามใช้มือมาขยี้ตา แคะจมูกหรือเกาตามผิวหนัง 

หากทําการป้องกันอย่างเข้มข้นได้ดีครบถ้วนทั้ง 8 ข้อนี้ จะไม่เกิดการระบาดของฝีดาษวานรอย่างแน่นอนในประเทศไทย

ข้อสังเกตและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้

หลายคนเข้าใจผิดว่า การสวมถุงยางอนามัยระหว่างการมีเพศสัมพันธุ์จะป้องกันการติดเชื้อฝีดาษวานรได้ ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะการสวมถุงยางป้องกันการติดเชื้อที่มีเชื้ออยู่ในน้ำอสุจิหรือท่อปัสสาวะ แต่ไม่สามารถป้องกันการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับเชื้อที่อยู่ตรงผิวหนังที่อวัยวะเพศของชายและหญิงได้ นอกจากนี้ หากมีผื่นหรือตุ่มน้ำใส หรือแผลที่ผิวหนังที่อยู่ใกล้อวัยวะเพศหรือตามร่างกาย การสวมถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันการสัมผัสกับเชื้อได้เลย 

นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะสายพันธุ์ 2b อาจจะเริ่มมีผื่นหรือตุ่มแผลเล็ก ๆ ก่อนจะมีไข้ ขนาดของแผลหรือตุ่มจะมีขนาดเล็กและปรากฏที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ใบหน้า ปากและลําคอ ขาหนีบและอวัยวะเพศหรือรอบทวารหนัก และยังมีจํานวนน้อยจนผู้อื่นไม่สามารถสังเกตเห็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในห้องหรือพื้นที่ที่มีแสงสลัว ๆ เช่น ตามผับ บาร์ ทําให้ผู้ติดเชื้อที่เพิ่งมีตุ่ม อาจจะแพร่เชื้อให้รายใหม่ได้ง่ายโดยต่างฝ่ายต่างก็ไม่รู้ตัว หากป่วยรุนแรงจนมีตุ่มใสขึ้นตาม ร่างกายชัดเจน ผู้ติดเชื้อมักจะเก็บเนื้อเก็บตัวในบ้านและไม่ไปแพร่เชื้อให้ผู้ใดแล้ว

เมื่อสองปีก่อน การระบาดจํากัดอยู่เฉพาะการมีเพศสัมพันธ์และพบบ่อยในผู้ใหญ่ เพศชาย แต่ในปีนี้ในแอฟริกา พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กถึงร้อยละ 70 ดูเหมือนว่ามีบางอย่างเปลี่ยนแปลงในวิธีการแพร่เชื้อของสายพันธุ์ 1b คาดว่า เชื้อติดจากแม่ หรือผู้หญิงไปสู่เด็ก และเด็กเล่นด้วยกัน สัมผัสกันง่ายรวมถึงน้ำลายด้วย ทําให้เด็กจํานวนมากติดเชื้อง่ายขึ้น 

แม้ว่าในสองปีก่อนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในต่างประเทศและประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคฝีดาษวานร จะออกมาวิงวอนให้ทุกคนที่มีความเสี่ยงให้ระมัดระวังตัว วอนให้เลี่ยงมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนแปลกหน้า และในประเทศไทยเองเคยมีผู้กล่าวว่า ความเสี่ยงของการระบาดในไทยแทบเป็นศูนย์ แต่ในที่สุดก็พบว่า ใน 2 ปีที่ผ่านมาก็มีการระบาดในประเทศไทยจนพบผู้ติดเชื้อเฉพาะที่ยืนยันแล้วขึ้นไปถึง 827 ราย เป็นเพศชายถึงร้อยละ 98 แสดงว่า การรณรงค์ป้องกันแบบเดิม ๆ ไม่น่าจะได้ผลดี ดังนั้น ต้องคิดหาวิธีการใหม่หรือเพิ่มมาตรการการป้องกันอย่างเข้มข้นและจริงจังมากขึ้นไปอีกในการป้องกันให้ได้ผลดีอย่างแท้จริง รวมทั้งการปฏิบัติตนของกลุ่มเสี่ยง

โดยสรุป วิธีป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุดคือ การงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จัก หรืองดเพศสัมพันธ์กับผู้ที่กลับมาต่างประเทศอย่างน้อย 1 เดือน(ให้พ้นจากระยะฟักตัวของโรค) ขอให้ทุกท่านล้างมือบ่อยๆ ก่อนและหลังจากไปจับสิ่งของสาธารณะหรือของผู้อื่น แม้ว่าท่านใดไปฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษวานรที่สภากาชาดไทยแล้ว ก็ยังต้องใช้มาตรการ ป้องกันตัวอย่างเข้มข้นดังที่กล่าวแล้ว