หมอธงชัย ย้ำผู้ป่วยฝีดาษวานรชาวยุโรปสายพันธุ์แอฟริกา “เคลดวันบี” เป็นการติดเชื้อจากนอกประเทศ ไม่ใช่ในประเทศ พร้อมติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด 43 ราย ยังไม่มีอาการ
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ จ.สุโขทัย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงการติดตามผู้ป่วยฝีดาษวานรชายชาวยุโรปอายุ 66 ปี ที่เป็นสายพันธุ์ Clade1B รายแรกของประเทศไทย และผู้สัมผัส ว่า ผู้ป่วยอาการดีขึ้นอย่างมาก ขณะที่ผู้สัมผัส 43 ราย ซึ่งเราได้มีการเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อ พบว่า ทุกคนไม่มีอาการ ไม่มีไข้ แม้กระทั่งภรรยาที่มีความใกล้ชิด ก็ไม่พบการติดเชื้อ แต่เรามีการติดตามตลอดเวลาจนกว่าจะครบ 21 วัน ตั้งแต่วันที่สัมผัสกับผู้ป่วย
ถามว่ามีความชัดเจนแล้วหรือยังว่าสาเหตุการติดเชื้อเกิดจากอะไร นพ.ธงชัยกล่าวว่า เรามีการติดตามสอบถาม ซึ่งเจ้าตัวมีธุรกิจอยู่ที่ประเทศต้นทางที่ติดเชื้อ ซึ่งที่นั่นการดูแลสุขอนามัยไม่ค่อยดีนัก
ถามย้ำว่าเป็นการติดเชื้อจากนอกประเทศ ไม่ใช่เป็นการติดเชื้อในประเทศไทยใช่หรือไม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า ยืนยันว่าเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของ Clade1B การที่เราพบเร็วตรวจได้เร็วและสามารถหาผู้สัมผัสได้เร็ว เป็นสิ่งที่ทำให้เราควบคุมป้องกันโรคได้ และการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนที่เร็ว ก็ทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการควบคุมป้องกันโรคได้
ไม่จำไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน
ถามว่าจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนฝีดาษเพื่อป้องกันหรือไม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า อาจารย์หลายๆ ท่านแนะนำว่าไม่ต้องฉีด กลุ่มที่ควรฉีดคือ 1.คนที่เดินทางไปประเทศที่มีการระบาด 2.กลุ่มที่สัมผัสกับคนใกล้ชิดที่มาจากประเทศที่มีการระบาด เช่น ทำธุรกิจ Sex Worker หากหลีกเลี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์หรือใกล้ชิดไม่ได้ก็ควรจะฉีด
ถามว่าคนที่เคยฉีดวัคซีนฝีดาษ (Smallpox) จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นหรือไม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะร่างกายเคยรับไปแล้วก็เหมือนมีโรงงาน แม้จะลดสายการผลิตลงเหมือนภูมิคุ้มกันต่ำลง แต่หากมีเชื้อเข้ามาก็สามารถผลิตภูมิคุ้มกันมาต่อสู้ได้เลย คนที่เคยฉีดแล้วจะมีลักษณะแผลเป็นจากการปลูกฝีที่ต้นแขนส่วนใหญ่ แต่บางคนช่วงหลังๆ ใกล้ปี 2523 ก็จะไปปลูกจุดอื่น เช่น หน้าขา สะโพก เป็นต้น
ไม่แน่ใจผู้ป่วยฉีดวัคซีนหรือไม่
เมื่อถามว่าผู้ป่วยชาวยุโรปอายุ 66 ปี มีการฉีดวัควีนฝีดาษมาก่อนหรือไม่ ถึงได้มีการติดเชื้อ นพ.ธงชัยกล่าวว่า ก็มีการสอบถาม แต่ไม่แน่ใจในประวัติของการรับวัคซีน เพราะในยุโรปมีการสิ้นสุดของโรคฝีดาษและไม่ได้ฉีดวัคซีนนานกว่าประเทศไทย
ถามต่อว่ามีการพูดกันว่ายอมติดโควิด 19 ดีกว่าติดฝีดาษวานรเพราะทำเกิดรอยแผลที่ดูน่ากลัว นพ.ธงชัยกล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่ควรติดทั้งหมดเลย โควิดเมื่อติดแล้ว แม้ตอนนี้ความรุนแรงจะน้อย แต่โอกาสแพร่ได้สูงจากการไอจามมีน้ำมูก แต่ฝีดาษวานรจะไม่แสดงอาการด้วยการไอหรือน้ำมูกเท่าไร ส่วนใหญ่อาจจะเจ็บคอ มีไข้และผื่นขึ้น กลุ่มนี้เป็นการติดต่อกันแบบสัมผัสใกล้ชิดมากหรือ Close Contact โอกาสการแรพ่ระบาดจึงต่ำ เพราะไม่ได้ไปไอแพร่เชื้อ ต้องสัมผัสใกล้ชิดจริงๆ ดังนั้น ให้สังเกตคนที่เราใกล้ชิดด้วย มีแผล มีตุ่มหนอง มีจุดดำตามหน้าหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะขึ้นที่หน้าและฝ่ามือ
"ย้ำว่าไม่ได้ติดง่าย ส่วนแผลเป็นสุดท้ายก็จะจางหายไป ส่วนที่คิดว่าเป็นแล้วจะหายเองได้ ไม่ไปพบแพทย์ ขอย้ำว่าให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เพื่อจะได้ตรวจดูว่ามีประวัติภูมิคุ้มกันต่ำหรือไม่ ทานยาอะไรที่กดภูมิคุ้มกันหรือไม่ เช่น คนเปลี่ยนอวัยวะ เป็นต้น ซึ่งทำให้ความรุนแรงของฝีดาษวานรเกิดขึ้นได้" นพ.ธงชัยกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงความกังวลที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เกรงว่าฝีดาษวานรจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และอยากให้มีมาตรการรองรับ นพ.ธงชัยกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้กลับมองว่าเป็นเชิงบวกด้วยซ้ำ เพราะว่าระบบป้องกันควบคุมโรคเราดี สามารถตรวจสอบผู้ป่วยได้เร็ว โอกาสที่จะแพร่ระบาดภายในประเทศจะไม่มีหรือน้อยลงมาก แต่หากปล่อยนักท่องเที่ยวเข้าไปมีอยู่เยอะ ไม่มีข่าว ไม่มีระบบ แล้วนักท่องเที่ยวไปติดที่เมืองไทยเองกลับจะเป็นผลไม่ดีมากกว่า แต่กรณีนี้ยืนยันว่าไม่ได้ติดที่เมืองไทย ฉะนั้น เมืองไทยยังไม่มีการระบาดฝีดาษวานรสายพันธุ์ Clade1B แน่นอน
"สายพันธุ์ Clade1B อยู่นอกประเทศ เดินเข้ามาเองไม่ได้ ต้องผ่านจากคนหรือสัตว์เข้ามา สิ่งสำคัญคือด่านควบคุม เมือ่ก่อนคนเข้ามาจากต่างประเทศก็เข้า ตม.เลย ดังนั้น ประเทศกลุ่มเสี่ยง Clade1B จะต้องผ่านด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อน ว่ามีไข้หรือไม่ ซักประวัติ ดูตุ่มต่างๆ ก่อน หากไม่มีถึงปล่อยออกไป และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดูแลเรื่องสัตว์นำเข้าจากต่างประเทศ ให้เข้มงวดเรื่องสัตว์ฟันแทะที่มาจากประเทศแถวแอฟริกา ตามนโยบาย One Health" นพ.ธงชัยกล่าว
- 124 views