วิจัยชี้ 4 มิติ ให้คนในองค์กรมีสุขภาวะที่ดี มิติทางกาย มิติทางใจ มิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม มิติทางปัญญา ให้พนักงานมี Work Life Balance ส่งเสริมสุขภาพด้านการเงิน การเรียนรู้พัฒนา
เทรนด์ของโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไป ความสุขเพียงอย่างเดียวยังตอบโจทย์หรือไม่ เพื่อให้คนในองค์กรมีสุขภาวะที่ดี ตรงกับยุทธศาสตร์ 10 ปี กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับคณะวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาเครื่องมือสร้างเสริมสุขภาวะของคนในองค์กร ภายใต้โครงการพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรอย่างยั่งยืน ในรูปแบบแบบสำรวจออนไลน์ที่ได้ตามมาตรฐานสากล โดยเปิดตัวเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่อาคารวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการเสริมสร้างสุขภาวะของคนในองค์กร ว่า คนในองค์กรหลายแห่งมักจะมีปัญหาเรื่องความเครียด เช่น คนที่ทำงานในโรงพยาบาล ทำงานภายใต้ความกดดันและความเครียด โดยเฉพาะองค์กรที่หมุนเวียนบุคลากรบ่อย ๆ จะรักษาบุคลากรได้อย่างไร ตัวองค์กรต้องมีกระบวนการให้คนในองค์กรสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันด้วยความเอื้ออาทร คนในองค์กรมีมุมมองในการช่วยเหลือและดูแลซึ่งกันและกัน มีคำแนะนำที่ดีให้เพื่อนร่วมงาน ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันตลอดเวลา จะทำให้องค์กรเกิดสุขภาวะที่ดี คนในองค์กรช่วยเหลือดูแลกัน จะก่อเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดี
ด้าน รศ.ดร.สุภรักษ์ สุริยันเกียรติแก้ว หัวหน้าทีมวิจัยโครงการพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ในระดับสากลจะมุ่งเน้นเรื่องสุขภาวะที่ดี ตั้งแต่การดำเนินชีวิต การตระหนักรู้ถึงสุขภาพกายใจ โดยมีถึง 4 มิติ ที่ทำให้คนในองค์กรมีสุขภาวะที่ดี ได้แก่ มิติทางกาย มิติทางใจ มิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม มิติทางปัญญา
งานวิจัยนี้พัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
- ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ในระดับโลกที่มีเทรนด์เปลี่ยนแปลงไป
- อยากเห็นคนไทยทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง โดยเฉพาะวัยทำงาน 40 ล้านคน หากสุขภาพแข็งแรง ก็จะช่วยพัฒนาประเทศชาติได้
- มุ่งเน้นเรื่องการเสริมสร้างสุขภาวะองค์รวมในระดับมหาวิทยาลัย รวมถึงระดับชาติ ตลอดจนนานาชาติ
งานวิจัยนี้ควบรวมการประเมิน 3 เรื่องใน 1 เครื่องมือ ได้แก่
- ประเมินเรื่องขององค์กรสุขภาวะโดยดูว่าดัชนีชี้วัดใดจะช่วยให้องค์กรเกิดความยั่งยืน ประสบความสำเร็จในมิติต่าง ๆ
- ในภาคธุรกิจที่มีการวัดความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร หากผูกพันมากจะทำให้สามารถสร้างผลกำไรให้กับองค์กรได้
- ความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ที่องค์กรต้องคำนึง เพื่อจัดการให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน
ตัวชี้วัดจะสามารถวัดผลองค์กรสุขภาวะได้จริง ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ และมีแอปพลิเคชันในอนาคต เพื่อยกระดับสุขภาวะคนวัยทำงานและองค์กร ทั้งนี้ จากการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายของ สสส. ทั้ง 32 องค์กร ให้ความสำคัญกับมิติทางกายเป็นอันดับแรก
"หากพนักงานในองค์กรมีสุขภาพที่แข็งแรงจะยิ่งส่งผลดี ส่งเสริมเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน มิติทางใจ หลายองค์กรให้เวลา โดยเฉพาะการบริหารจัดการความเครียดในการทำงาน Work Life Balance ส่วนมิติปัญญา องค์กรส่งเสริมสุขภาพด้านการเงิน การเรียนรู้พัฒนา ให้คนมีความรู้ความสามารถมากขึ้น ส่วนมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ทุกองค์กรให้ความสำคัญทั้งหมด" รศ.ดร.สุภรักษ์ กล่าว
จากการวิเคราะห์สถิติขั้นสูง พบว่า ความผูกพันต่อองค์กร หากองค์กรใดต้องการสร้างความผูกพันให้โฟกัส 3 เรื่อง ได้แก่
- สุขภาพจิตของพนักงานในองค์กร
- ความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจต่อสังคม
- มาตรฐานการครองชีพ เรื่องเงินเดือนและสวัสดิการ
ส่วนการขับเคลื่อนให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรต้องดูแลเรื่องการเรียนรู้และพัฒนา ฝึกอบรมให้พัฒนาสกิลล์ ความรับผิดชอบต่อสังคม และสุขภาพจิตของพนักงาน
"สำหรับความสำเร็จขององค์กรด้านภาพลักษณ์และรายได้ ต้องโฟกัส 3 สิ่ง 1.ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม 2.การเรียนรู้ ใส่ใจพนักงาน ให้มีความรู้ความสามารถ ทักษะที่ดีขึ้น และ 3.ต้องการความสมดุลในชีวิตและการทำงาน หากขับเคลื่อนองค์กรด้วยปัจจัยดังกล่าว ผลลัพธ์จะออกมาดี"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ผลวิจัยชี้! ความเครียด กดดัน สวัสดิการไม่ยืดหยุ่น สาเหตุ พนง. "ลาออก"
- 76 views