สสส.-มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย สานพลัง 12 สถาบันและสถานพยาบาลอบรมวิชาชีพการนวดไทย ลงนาม MOU พัฒนาระบบ e-learning สอนวิชาชีพนวดไทย ผ่านออนไลน์ฟรี เสริมศักยภาพคนพิการทางการมองเห็น หนุนสร้างงาน สร้างอาชีพ
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางด้านการนวดไทย เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอนวิชาชีพการนวดไทย ด้วยระบบ e-learning ระหว่างมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย กับเครือข่ายสถาบันและสถานพยาบาลอบรมวิชาชีพการนวดไทย 12 องค์กร สำหรับผู้พิการทางการเห็น และบุคคลทั่วไป มีทักษะอาชีพ เปิดเส้นทางสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า คนพิการ เป็นหนึ่งในประชากรกลุ่มเฉพาะที่ สสส. สนับสนุนเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาวะในทุกมิติ สำหรับการลงนามความร่วมมือพัฒนาระบบการเรียนการสอนวิชานวดไทย ด้วยระบบ e-learning ในครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมศักยภาพและทักษะคนพิการให้เห็นคุณค่าในตนเอง และพัฒนาเป็นอาชีพต่อไปได้ ถือเป็นการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในระยะ 5 ปี (2566-2570) ของ สสส. ที่มุ่งเป้าให้คนพิการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต มีอาชีพ/รายได้ หรือเงินออม ได้รับการเสริมหรือพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเท่าเทียม
“สสส.สนับสนุนงานนวดคนพิการทางการเห็นตั้งแต่ปี 2552 ทำให้เกิดสถาบันอบรมหลักสูตรวิชาชีพการนวดไทยของคนพิการทางการเห็นที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะ 7 สถาบัน ทำให้คนพิการทางการเห็นสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะการแพทย์แผนไทยประเภทการนวดไทยรวม 100 คน และสนับสนุนให้เกิดสื่อการเรียนการสอนวิชาชีพการนวดไทย ทำให้คนพิการทางการเห็นเข้าถึงสื่อการสอนได้มากขึ้น” นางภรณี กล่าว
นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ผู้พิการจึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญทำให้เกิดข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบการเรียนการสอนวิชาชีพการนวดไทยด้วยระบบ e-learning โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เป็นฐานหลักเพื่อเปิดพื้นที่ให้คนพิการและประชาชนทั่วไปเข้าถึงโครงการพัฒนาการเรียนการสอนหลักสูตรวิชาชีพการนวดไทย (800 ชั่วโมง) แบ่งเป็นการสอนภาคทฤษฎี 22 วิชา รวม 245 ชั่วโมง ภาคปฏิบัติ 555 ชั่วโมง และฝึกภาคภาคสนามเพิ่มเติมอีก 100 ชั่วโมง ในหลักสูตรมีการบรรยายจากครูแพทย์แผนไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญ โดยนักเรียนสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมตามวัน เวลา สถานที่ ที่แต่ละคนสะดวก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย 080-660-1660 หรือ e-mail dtmf2536@gmail.com
“คนพิการจำนวนมากมีศักยภาพสามารถทำงานได้ แต่ยังขาดโอกาสในการทำงาน ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นความสำเร็จของการพัฒนาศักยภาพคนพิการ เพราะปัจจุบันผู้พิการทางการมองเห็นสามารถสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะการแพทย์แผนไทย เพื่อประกอบอาชีพได้แล้ว ทำให้มีการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น สามารถขยายประโยชน์ไปยังคนพิการทั่วทุกพื้นที่ได้ รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถมาร่วมเรียนรู้เสริมทักษะอาชีพได้เช่นกัน” นพ.ประพจน์ กล่าว
- 194 views