ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

4 จังหวัดขับเคลื่อน "เมืองสุขภาพดี" ระดับทอง ร่วมถอดรหัสความสำเร็จ เผยปัจจัยสำคัญ ผู้บริหารคิดนโยบายดี สู่การปฏิบัติได้จริง สร้างความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ส่งเสริมสุขภาพ-การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินงานพัฒนาเมืองสุขภาพดี เพื่อยกระดับมาตรฐานการส่งเสริมสุขภาพและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของประชาชน โดยได้จัดการประชุม เรื่อง การยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สู่เมืองสุขภาพดี ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งนพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และนายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น 

ผลการขับเคลื่อนดำเนินงานในปี 2567 กรมอนามัย ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายเมืองสุขภาพดีในระดับพื้นที่ในการยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สู่การเป็นเมืองสุขภาพดี จำนวนทั้งสิ้น 274 แห่ง โดยผ่านการประเมินรับรองเมืองสุขภาพดีระดับทองจำนวน 67 แห่ง ระดับเงินจำนวน 69 แห่ง และระดับทองแดงจำนวน 138 แห่ง 

นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวทาง วางระบบ และพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำกับ ดูแลและจัดบริการสาธารณะให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง 

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในระดับพื้นที่ เนื่องจากมีความใกล้ชิดและเข้าใจถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นอย่างดี ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ร่วมมือกับกรมอนามัย ในการสนับสนุนและพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนทุกกลุ่มวัย 

โครงการเมืองสุขภาพดีเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงานบริหารจัดการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น รวมถึงการควบคุมกำกับสถานประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ในเขตเมืองให้ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน อันจะส่งผลให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสุขภาพอย่างเท่าเทียมตามหลักธรรมาภิบาล

"ความร่วมมือของทั้ง 2 กระทรวง ทำมาอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ผลสำเร็จของเมืองสุขภาพดี จากปีที่แล้ว ผ่านการประเมินเพียงร้อยกว่า ปีนี้ก้าวกระโดดเป็น 274 แห่ง ทำให้เห็นความก้าวหน้า ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีหน้าที่ส่งเสริมท้องถิ่นในการนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปใช้ให้เกิดความสำเร็จ ในรูปแบบของเมืองสุขภาพดี แต่ละพื้นที่ก็ต้องทำความเข้าใจ และดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทุกเมืองต้องนำองค์ความรู้ไปใช้ สิ่งสำคัญ คือ ความยั่งยืน เพื่อให้เกิดความสำเร็จ ต่อเนื่อง ขับเคลื่อนงานต่อไป" นายศิริพันธ์ กล่าว

ปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนสู่ "เมืองสุขภาพดี"

ภายในงานมีการอภิปราย “ถอดรหัสความสำเร็จ…การขับเคลื่อนสู่เมืองสุขภาพดี (Healthy City)” โดย 4 จังหวัด ที่ผ่านการประเมินรับรองเมืองสุขภาพดีระดับทอง

นายชุมพลภัทร์ เลาหะพานิช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสาริกา จังหวัดนครนายก กล่าวถึงปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ ว่า การดำเนินงานสำคัญตั้งแต่ผู้บริหารที่กำหนดนโยบาย ข้าราชการที่ขับเคลื่อน และชาวบ้านที่มีส่วนร่วม โดยอย่างแรกต้องทำให้เป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด ทำได้ในชีวิตประจำวัน มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจและพัฒนาไปพร้อมกัน เพราะทุกพื้นที่มีความหลากหลาย แต่ต้องมีเป้าหมายเดียวกัน คือ สุขภาพที่ดีของประชาชน

"ผมเชื่อว่า ทุกคนอยากให้ดีขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าจะโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพชีวิต ทุกคนมีความตั้งใจ เราเข้าร่วมมาปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว เป็นที่แรกของเขตสุขภาพที่ 4 ที่เข้าร่วม ก็พัฒนามาเรื่อย ๆ จนได้ระดับทอง ตามที่ทราบกันว่า นครนายก เป็นจังหวัดที่ค่อนข้างเล็ก จุดแข็งเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเมืองท่องเที่ยว อำเภอนี้ประชาชนผู้อยู่อาศัยมักเป็นผู้สูงวัยที่อยู่หลังเกษียณอายุ การดำเนินงานจึงมุ่งเน้นว่า จะทำอย่างไรที่ช่วยดูแลผู้สูงวัย" นายชุมพลภัทร์ กล่าว

นายชุมพลภัทร์ เพิ่มเติมว่า ขณะนี้พยายามสร้างจุดแข็ง ให้ประชาชนมาอยู่มากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจในตำบลดีขึ้น เรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั้น โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพประชาชน ตนเชื่อว่า หากมีความพยายามก็สามารถทำได้ ถ้าทุกคนร่วมมือกัน จึงดึงผู้ประกอบการเข้ามา พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน เช่น การเปลี่ยนโถส้วม 66 หัวให้ผู้สูงอายุ ช่วยให้การใช้งานสะดวกมากขึ้น

แต่ละพื้นที่ต้องออกแบบ "ท้องถิ่นของตัวเอง"

นายชาญชัย ใช่รุ่งเรือง นายกเทศมนตรี เมืองจอมพล จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทำชุมชนน่าอยู่ มีต้นทุนในการพัฒนาเองอยู่แล้ว ท้องถิ่นไม่ใช่แค่พัฒนาในมิติของโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังพัฒนาในมิติอื่น หนึ่งในนั้น คือ คุณภาพชีวิต จึงคิดกันว่า ถ้าขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดี จะสามารถพัฒนาจุดแข็งและจุดอ่อนได้ 

"เรามุ่งเน้นการเชื่อมโยงข้อมูล ทำตามตัวชี้วัดต่าง ๆ เพื่อให้ได้ระดับทอง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ผมคิดว่า การพัฒนาแต่ละท้องถิ่น บริบทไม่เหมือนกัน ทุกที่มีการออกแบบท้องถิ่นของตัวเอง อย่างของผม การออกแบบเมืองสุขภาพ หรือตำบลน่าอยู่ ก็มีต้นทุนทางสังคม ประเพณี วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว ภูมิปัญญา องค์ความรู้ ป่าชุมชน กายภาพของสังคม ในบริบท มิติต่าง ๆ เราสามารถจัดระบบได้ เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นท้องถิ่นต้องสืบค้นว่ามีกี่ชุมชน มีการทำสถิติชุมชนอะไรบ้าง เพื่อหนุนเสริมกัน" นายชาญชัย กล่าว

นายชาญชัย เพิ่มเติมว่า ทุกระบบต้องหนุนเสริมกัน ถ้ามีการออกแบบ เก็บข้อมูลในมิติต่าง ๆ ทุกระบบได้ เปรียบเสมือน มีคัมภีร์ในการพัฒนาเทศบาลท้องถิ่นนั้น ๆ เมื่อมีต้นทุนจะทำโครงการ สร้างผลิตภัณฑ์ ไม่ยากแล้ว ก็สร้างคน ทำตัวกิจกรรม ดึงศักยภาพของเครือข่ายในชุมชนมาพัฒนาร่วมกัน

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนนั้นสำเร็จ ใจของผู้บริหารต้องได้ โดยมีชุมชนเป็นพลัง สร้างความเป็นเจ้าของให้กับชุมชน ให้ความสำคัญกับชุมชนในมิติต่าง ๆ จัดเวทีให้คนในชุมชนมีบทบาท ได้แสดงความคิดเห็น เมื่อสร้างความเป็นเจ้าของจะช่วยดึงพลังของคนในชุมชนออกมา นำไปสู่ความสำเร็จ

4 ปัจจัยยกระดับ "เมืองสุขภาพดี" ให้ประสบความสำเร็จ

ด้าน ดร.ปรีชา อนุรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ทุกท้องถิ่นมีบทบาทหน้าที่ในการดูแลประชาชนทุกมิติ การประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดี ทำให้ท้องถิ่นได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยเรื่องสุขภาพ การดำรงชีวิตในสังคมนั้นสำคัญมาก การขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดี จึงเป็นโอกาสในการใช้บริบทนี้ดูแลประชาชนในภาพรวม ทั้งเรื่องของสวนสาธารณะ การดูแลประชาชนถึงบ้าน 

"ทุกวันนี้ท้องถิ่นของพวกเรา เหมือนครอบครัวใหญ่ ต้องมีระบบ วิธีการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ประชาชนสุขภาพดี เมืองดี ช่วยกันดูแลใส่ใจ ให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วม เมื่อเศรษฐกิจดี สังคมดี สุขภาพดี การศึกษาดี ก็จะเป็นเมืองที่น่าอยู่ ไม่อยากโยกย้ายถิ่นฐานและอยากมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น"

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ช่วยยกระดับให้เมืองสุขภาพดีนั้น ประกอบด้วย

  1. ตัวผู้บริหาร เทศมนตรี ถ้ามีนโยบายที่ดี เชื่อว่า กำหนดนโยบายสุขภาพเข้าไป ก็จะทำให้เมืองสุขภาพดี
  2. คนทำงาน มีนโยบายที่ดีแล้ว ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติได้ นำนโยบายไปสู่ประชาชน
  3. ภาคีเครือข่าย สิ่งไหนที่เป็นโอกาสช่วยเหลือกัน ในเชิงองค์ความรู้ วิชาการ สถาบันการศึกษา หรือท้องถิ่น 
  4. การมีส่วนร่วมของประชาชน มีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกเรื่อง

ถ้ากำหนด 4 ประเด็นนี้ได้ ร่วมกับมีงบประมาณที่เหมาะสม จะขับเคลื่อนได้ในทุกมิติ แม้กระทั่งเรื่องของระบบสุขภาพให้ได้รับการดูแลใส่ใจ เดินหน้าได้อย่างมีระบบและมีทิศทาง ทุกอย่างดีนำไปสู่สุขภาพที่ดี ทำอย่างไรให้เมืองสุขภาพดี และตอบโจทย์ท้องถิ่นมากที่สุด 

ย้ำความสำคัญ "ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง" หากเปลี่ยนผู้บริหารต้องคงสิ่งดีเอาไว้

น.ส.อาภัสรา วงศ์สัมพันธ์ชัย เทศบาลตำบลอิสาณ จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายเดียวกัน ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้คนมีสุขภาพดี อยู่ดีกินดี ซึ่งได้ทำงานมาคู่ขนานกันอยู่แล้ว การขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดีจึงเป็นความต้องการของท้องถิ่น การดำเนินงานไม่ยาก เพราะทำอยู่แล้วในทุกพื้นที่ เพียงแต่ไม่มีการใช้ตัวชี้วัดมาประเมิน

"ตำบลของเรา 10 ปีที่ผ่านมา มีสนามแข่งรถ มีสนามฟุตบอล มีงานวิ่งมาราธอน จากเดิมเป็นเมืองปิด ไม่มีคนเข้าไปเลย แต่ความเจริญเข้ามาอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้การตั้งรับค่อนข้างลำบากในช่วงแรก แต่ตอนนี้ทุกฝ่ายก็ร่วมมือกัน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การบริการ และสาธารณสุข ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น" น.ส.อาภัสรา กล่าวและว่า

ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ เครือข่ายและการมีส่วนร่วม รวมถึงเรื่องงบประมาณ แต่ความต่อเนื่องนั้นสำคัญที่สุด

"ทุกอย่างพร้อม แต่มาล้มในอีก 4 ปี ถ้าผู้บริหารเปลี่ยน อันนี้ความต่อเนื่องไม่มี อยากให้มองจุดมุ่งเหมายเดียวกัน คือ ทำเพื่อประชาชน รับไม้ต่อ สานต่อนโยบาย ต้องคงสิ่งดี ๆ เอาไว้ มองประชาชนเป็นตัวตั้ง และลืมความขัดแย้งทั้งปวง จะทำให้เมืองสุขภาพ และสุขภาวะของประชาชน ดำเนินต่อไปได้"

น.ส.อาภัสรา ยังแนะนำพื้นที่อื่น ๆ ให้มาร่วมกันขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดี ว่า สำหรับคำแนะนำให้เรียนรู้เกณฑ์การประเมินที่ค่อนข้างซับซ้อน หลักการ ต้องทำความเข้าใจ แต่เรื่องสิ่งแวดล้อม ดูแลสถานที่ และดูแลคน เชื่อว่าทุกพื้นที่ทำอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องยาก