ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวนไม่แน่นอน ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็น “กลุ่มเปราะบาง” ได้เพียงชั่วข้ามคืน ทั้งนี้ในการประชุมวิชาการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ปี 2567 “ร่วมพลิกระบบสุขภาพไทย ด้วยงานวิจัยคุณภาพ” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22-23 ส.ค. 2567 ได้จัดให้ประเด็นความเปราะบางเป็นประเด็นของเวทีกระบวนการทางวิชาการเวทีหนึ่งที่น่าสนใจ และช่วยขยายมุมมองให้กับนักวิจัยและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งคำจำกัดความ “ความเปราะบาง” ได้ถูกขยายมุมมองให้กว้างขวางและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

“งานวิจัยที่สร้างความเป็นธรรมให้ครอบคลุมความเปราะบางอย่างมีคุณภาพ” คือชื่อเวทีที่จัดขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิชาการ นักวิจัย ตัวแทนภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคท้องถิ่น รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง กว่า 50 คน ร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีดังกล่าว

เวทีเริ่มต้นโดยวิทยากรหลัก รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ อาจารย์สมพร เพ็งค่ำ จากมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ ที่ชวนผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น เพื่อหาคำนิยามใหม่ของคำว่าเปราะบาง ผ่านการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า “เมื่อพูดถึงคำว่าเปราะบาง คุณนึกถึงอะไร” ก่อนจะเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวางแน่นอน คำตอบที่ได้รับส่วนหนึ่งยังอยู่ในกรอบเดิม คือกรอบของช่วงอายุ กรอบของอาชีพ กรอบของความพิการ หรืออาการเจ็บป่วย เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน คนพิการ คนยากจน คนที่ขาดการเข้าถึงการศึกษา ขาดการเข้าถึงบริการที่เป็นสวัสดิการของรัฐ ฯลฯ

“คำตอบเหล่านั้นเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่อีกด้านก็เป็นกับดักความคิดของการทำงานวิจัย เพราะความเปราะบางไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ลักษณะของบุคคล เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ เด็ก คนกลุ่มน้อย หากแต่ความเปราะบางถูกเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทในสังคม และการเปลี่ยนแปลงนั้นนำไปสู่ความเปราะบางได้ในทันที” รศ.ดร.ลือชัย ระบุ

รศ.ดร.ลือชัย ขยายความเพิ่มเติมว่า มีหลากหลายเหตุการณ์ที่อาจทำให้คนที่ไม่ได้เป็นกลุ่มคนเปราะบาง ต้องกลายเป็นคนเปราะบางในทันที หรือทำให้คนที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว ได้รับผลกระทบอย่างสาหัสเข้าไปอีก เช่น การเกิดภัยพิบัติ เศรษฐกิจพลิกผัน การเมืองเปลี่ยนแปลง โรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น ฯลฯ นั่นเพราะเหตุการณ์เหล่านั้นสร้างผลกระทบที่รุนแรงและรวดเร็ว ฉะนั้นคำถามสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้สังคมมีศักยภาพเพียงพอสำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“นักวิจัยความเปราะบางจำเป็นต้องมองกระบวนการวิจัยที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม ควรออกจากกรอบความคิดที่ระบุความเปราะบางจากลักษณะทางกาย เพื่อตีโจทย์งานวิจัยเปราะบางให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่สามารถรองรับความเปราะบางในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกสถานะในสังคม โดยเฉพาะกับการสร้างศักยภาพให้กับชุมชน ให้มีความเข้มแข็งรองรับความเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้กลายเป็นความเปราะบางที่จะมีผลกระทบตามมาอย่างไม่รู้จบ” รศ.ดร.ลือชัย ระบุ

อธิบายด้วยคำพูดเชิงหลักการอาจจะยังไม่เห็นภาพ อาจารย์สมพร พร้อมทีมงาน จึงได้ยกกรณีการแก้ปัญหามลพิษข้ามศาสตร์กับหลักวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง ภายใต้การวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน จ.น่าน ประเทศไทย กรณีมลพิษข้ามพรมแดนโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ประเทศลาว” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สวรส. ขึ้นมาประกอบการบอกเล่า และชวนกันอภิปรายขยายมุมมองกันต่อ

ทีมวิจัยการพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพฯ พบว่า การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้า แม้จะอยู่ในพื้นที่ประเทศลาวและมีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยกฎหมายของประเทศลาวแล้ว แต่ข้อเท็จจริงคือ ผลกระทบและมลพิษต่างๆ ได้ข้ามมาถึงประชาชนคนไทย ซึ่งทำให้ชุมชนที่เคยมีวิถีชีวิตปกติ ต้องมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากการได้รับผลกระทบจากมลพิษ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ จนคนในชุมชนกลายเป็นกลุ่มคนเปราะบางทันทีหลังจากที่โครงการโรงไฟฟ้าฯ เกิดขึ้น

 

จากผลกระทบดังกล่าว จึงนำไปสู่การประสานการทำงานข้ามศาสตร์ จากศาสตร์ของสุขภาพและสังคม มาเชื่อมกับศาสตร์ด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ในสถาบันการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ ก่อให้เกิดเป็นเครื่องมือ และระบบสำหรับเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน นำไปสู่การกำหนดขอบเขตพื้นที่และกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบ เกิดการพัฒนาการติดตามและเฝ้าระวังมลพิษ เกิดระบบบันทึกข้อมูลที่สามารถคาดการณ์แนวโน้มของมลพิษ โดยขณะนี้งานวิจัยดังกล่าวกำลังดำเนินการในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะที่เน้นการเก็บข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพให้ได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้งานวิจัยในระยะแรกสะท้อนข้อมูลได้อย่างชัดเจนว่า ชุมชนที่เคยเข้มแข็งตามวิถีชีวิตที่มีมาช้านาน ก็มีโอกาสพลิกเป็นกลุ่มเปราะบางได้ในทันทีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของบริบทแวดล้อม ตรงนี้จึงตอกย้ำได้ว่าความเปราะบางสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน

หลังจากการบอกเล่ากรณีมลพิษข้ามพรมแดนโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาฯ ได้มีการเปิดประเด็นเรื่องความรู้ข้ามศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น โดยเฉพาะการที่บริบททางสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ความรู้ศาสตร์เดียวสำหรับนักวิจัยอาจไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนงานวิจัยที่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกกลุ่มได้ ดังนั้นการประสานและสร้างความรู้ข้ามศาสตร์จึงสำคัญต่องานวิจัยที่จะนำไปผลักดันให้มีการตัดสินใจเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ สรวส. ในฐานะองค์กรที่สนับสนุนงานวิจัยในระบบสุขภาพของประเทศให้ความสำคัญ และอยากให้เกิดขึ้นกับนักวิจัยไทย 

ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า การวิจัยด้านความเปราะบาง นับจากนี้อาจไม่ใช่เพียงแค่กระบวนการเก็บข้อมูลจากคนที่มีความเปราะบางนำมาวิเคราะห์ แล้วสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเหมือนอย่างในอดีต นั่นเพราะบริบททางสังคมมีผลต่อการสร้างความเปราะบาง และมีผลต่อคนที่ไม่เคยอยู่ในกลุ่มเปราะบางมาก่อน รวมทั้งประเด็นของการวิจัยข้ามศาสตร์มีความจำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาความเปราะบาง ซึ่งนักวิจัยอาจมีมุมมองการแก้ปัญหาตามที่ได้เรียนรู้มาอย่างเดียว เช่น นักวิทยาศาสตร์จะใช้วิทยาศาสตร์แก้ปัญหา นักเศรษฐศาสตร์ก็ใช้กระบวนการเศรษฐศาสตร์แก้ไข แต่งานวิจัยในลักษณะนี้ต้องอาศัยหลายศาสตร์ความรู้มาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากปัญหาผลพิษที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าฯ” ทพ.จเร กล่าว

ทพ.จเร กล่าวอีกว่า ความเปราะบางในสังคมขึ้นอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ดังนั้นงานวิจัยจะไม่สามารถหาวิธีแก้ปัญหาที่จำเพาะ แต่งานวิจัยจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง และสามารถจัดการตนเองได้ การเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนรองรับการเปลี่ยนแปลงไม่ให้เกิดความเปราะบาง จึงเป็นไฮไลท์สำคัญสำหรับการสร้างงานวิจัยด้านนี้ให้มีคุณภาพ