คร.ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด/เสี่ยงสูงกับผู้ป่วยฝีดาษวานรพบรายแรกในไทยรวม 43 ราย ครบกำหนด 4 ก.ย.นี้ ทุกรายอาการดี พร้อมหารือแนวทางใช้วัคซีน 6 ก.ย.
จากกรณีที่ประเทศไทยรายงานยืนยันการตรวจพบผู้ป่วยเอ็มพอกซ์ หรือฝีดาษลิงหรือฝีดาษวานร เคลด1บี รายแรกเป็นชายชาวยุโรปอายุ 66 ปี ป่วยหลังเดินทางจากประเทศแถบแอฟริกาที่มีการระบาดของโรคนี้เข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 ส.ค.และมีอาการป่วยในวันที่ 15 ส.ค.2567 และเข้ารับการรักษาในรพ.ตั้งแต่เช้าของวันที่ 15 ส.ค. รวมถึง ได้มีการประสานติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด/เสี่ยงสูงกับผู้ป่วยรายนี้รวม 43 รายเป็นเวลา 21 วัน โดยจะครบกำหนดในวันที่ 4 ก.ย.2567
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2567 นพ.วิชาญ บุญกิติกร ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า อาการของผู้ป่วยยืนยันรายนี้ซึ่งยังรับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล จากที่เมื่อช่วงเช้าวันที่ 3 ก.ย. 2567 กรมได้ส่งทีมแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญไปตรวจติดตามอาการ พบว่า อาการดีขึ้นตามลำดับ ผื่นสะเก็ดตามร่างกายเริ่มหลุดออกเกือบหมดแล้ว แต่จะทำการเก็บตัวอย่างเชื้อ ส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการอีกครั้งว่า ยังมีเชื้อตามผื่น ตามร่างกายอยู่หรือไม่ ก่อนที่จะอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล ซึ่งได้แจ้งกับโรงพยาบาล หากจะให้ผู้ป่วยกลับบ้านจะต้องรายงานมาที่กรมควบคุมโรคก่อน
“ข้อมูลทางการแพทย์โรคฝีดาษวานรในผู้ป่วย หากอาการผื่นตามร่างกาย แห้งตกสะเก็ดหมดแล้ว มั่นใจได้ว่า จะไม่มีเชื้อหลงเหลืออยู่ตามผิวหนัง โอกาสที่จะแพร่เชื้อถือว่าต่ำ แต่เพื่อความมั่นใจและปลอดภัย ก็จะทำการ เก็บตัวอย่างเชื้อตรงผื่นตรวจซ้ำอีกครั้ง” นพ.วิชาญกล่าว
ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดและผู้สัมผัสเสี่ยงจากผู้ป่วยฝีดาษวานรเคลด1บี รายแรกในไทยทั้ง 43 ราย จะครบกำหนดการติดตามเฝ้าระวังอาการ 21 วัน ในวันที่ 4 ก.ย.2567 เบื้องต้นทุกราย สบายดี ไม่มีอาการป่วย และยังไม่พบการติดเชื้อฝีดาษวานร ขณะที่กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิด คนในครอบครัวของผู้ป่วยชายชาวยุโรปวัย 66 ปี ได้ทำการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการแล้ว ไม่พบเชื้อฝีดาษวานร มาตรการควบคุมโรคยังคงเข้มงวด ในด่านกักกันโรค ทั้งที่สนามบินและคลินิกทางเพศสัมพันธ์
โดยในวันที่ 4 ก.ย. 2567 จะมีการประชุมทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ติดตามประเมินอาการโรคฝีดาษวานร ส่วนวันที่ 6 ก.ย.2567 จะมีการประชุมภายในของอนุกรรมการวัคซีน จะมีการทบทวนข้อมูลของวัคซีนฝีดาษวานรที่มีอยู่ทั้งหมด ในการพิจารณาข้อบ่งใช้ของประเทศไทย เช่น กลุ่มที่มีความจำเป็นจะต้องใช้วัคซีนฝีดาษวานร ความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้วัคซีนต่อสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึง ช่องทางการจัดหาวัคซีนฝีดาษวานรมายังประเทศไทย
สำหรับรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยฝีดาษวานรในประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดวันที่ 3 ก.ย. 2567 ยังไม่พบผู้ป่วยรายงานเข้ามาในระบบเพิ่มเติม ผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรสะสม ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน 833 ราย เป็นเพศชาย 812 รายคิดเป็น 97.48 % เพศหญิง 21 ราย 2.52 % ช่วงอายุ ที่พบมากที่สุดยังคงเป็นช่วงอายุ 30-39 ปี 345 ราย และอาการที่พบบ่อย อันดับ 1 ผื่น รองลงมาไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และอาการคัน
- 898 views