ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเปิดข้อมูลโรคหัดพุ่ง! สามจังหวัดชายแดนใต้ ดับแล้ว 5 รายส่วนใหญ่เป็นเด็กเร่งฉีดวัคซีนป้องกัน

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือถึงการเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้มีความครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้น่าเป็นห่วงมาก ใน 3 จังหวัดนี้ เพราะพบว่า มีการระบาดของโรคหัดอย่างหนัก มีผู้เสียชีวิตแล้ว ในรอบเดือนที่ผ่านมา 5 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 3 ราย และเป็นผู้ใหญ่อายุ 32 ปี 1 ราย และ 43 ปี 1 ราย

ส่วนจำนวนผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-2 ก.ย. 2567 มีผู้ป่วยไข้ออกผื่น หรือสงสัยหัด หัดเยอรมัน ทั้งสิ้น 4,408 ราย ในจำนวนนี้ได้รับการยืนยัน โรคหัดจากทางห้องปฏิบัติการจำนวน 2,371 ราย โดยมีภาวะแทรกซ้อนปอดอักเสบ 371 ราย คิดเป็น  8.41% ส่วนอัตรการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.12%  

ทั้งนี้ โรคหัด เป็นโรคที่สามารถที่จะป้องกันได้ด้วยวัคซีนตามที่กำหนด ซึ่งภาพรวมการฉีดวัคซีนในระดับประเทศอยู่ที่ประมาณ 80-90 % แต่ปัญหาคือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ยังมีอัตรการฉีดวัคซีนต่ำมาก ทรงตัวอยู่ที่ 40-50% ดังนั้นเวลามีคนป่วย 1 คน ก็เลยมีคนเสี่ยงที่จะติดเชื้อด้วยอีก 50 คน ถือเป็นความเสี่ยงสูงในการระบาดของโรค และก็กำลังระบาดอยู่ในตอนนี้ ดังนั้นเราต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้เด็กอนุบาล และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ก่อนปิดเทอม เพราะเด็กยังอยู่ที่โรงเรียน การฉีดจะได้ทำได้สะดวก และหากทำได้ตามแผนก็จะช่วยให้สามารถควบคุมการระบาดได้  แต่หากปิดเทอมแล้วไปตามฉีดที่บ้านจะลำบาก     

“โรคหัดพบผู้ป่วยตลอดทั้งปี แต่มาระบาดเยอะมากเอาช่วงนี้ ประมาณเดือน ก.ค.-ก.ย. อย่างที่บอกว่า พอมันเริ่มมีการระบาด มีคนติด 1 คน ก็จะมีคนเสี่ยงอีก 50 คน เพราะการฉีดวัคซีนต่ำเพียง 50% แต่จังหวัดอื่นมีคนเสี่ยงแค่ 5 คน เพราะความครอบคลุมเยอะ ดังนั้นเราต้องเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น เพราะเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ถ้าไม่มีวัคซีนก็ว่าไปอย่าง เรื่องนี้เราถึงซีเรียสมาก” นพ.ธงชัย กล่าว  

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ปัญหาการฉีดวัคซีนครอบคลุมต่ำในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ไม่ได้เป็นเพราะข้อจำกัดทางศาสนา ในทางกลับกันผู้นำศาสนาสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนด้วยซ้ำ แต่ปัญหาคือคนในพื้นที่ยังมีความเชื่อเดิม เพราะบางครั้งหลังเด็กฉีดวัคซีนแล้วจะมีไข้ ผู้ปกครองต้องหยุดงานมาดูแล อย่างไรก็ตาม ทางองค์การบริหารส่วนตำบลได้ลงไปทำความเข้าใจตลอด แต่เรื่องแบบนี้เราไม่สามารถไปบังคับได้ จึงได้แต่ทำความเข้าใจให้มาก ให้ความรู้บ่อยๆ ทั้งนี้การป้องกันโรคจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากขึ้น ต้องฉีดให้ 

ด้าน พญ.วรยา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดจะมีทั้งหมด 2 เข็ม โดยเข็มแรกฉีดที่อายุ 9-12 เดือน และ เข็มที่ 2 ฉีดที่อายุ 18 เดือน ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงก็ต้องฉีดให้ครบคอส ถ้าฉีดเพียงเข็มเดียวภูมิต้านทานจะมีบางส่วน แต่ไม่สูงพอที่จะป้องกันโรคได้ อย่างไรก็ตาม นอกจาก 1 คน ต้องฉีดวัตซีนให้ครบ 2 เข็มแล้ว เพื่อให้การป้องกันโรคมีประสิทธิภาพ การรับวัคซีนในพื้นที่ก็ต้องครอบคลุมมากกว่า 95% ขึ้นไปด้วย ถ้าไม่ถึง ก็จะกลายเป็นว่ายังมีคนเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ แล้วเมื่อไหร่ที่มีคนติดเชื้อ ก็จะเกิดการระบาดเป็นวงกว้างได้   
 

ทั้งนี้ โรคหัด และโรคหัดเยอรมันเป็นโรคที่ติดต่อ เป็นโรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายได้ผ่านทางระบบทางเดินหายใจหรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะโรคหัดสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วและมีอัตราการเกิดโรคและอัตราการเสียชีวิตสูงในกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มที่มีโรคประจำตัวร่วม ดังนั้นการป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมันที่ได้ผลดีที่สุดคือการรับวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค