HITAP ชี้ 30 บาทรักษาทุกที่ ลดเวลา-ค่าใช้จ่ายประชาชนได้จริง ผลวิจัยจากจังหวัดนำร่องช่วยลด "ต้นทุนในการรับบริการ" จาก 660 บาท เหลือ 515 บาท แนะพัฒนาเชื่อมโยงข้อมูล-ใช้ประโยชน์จากข้อมูลสุขภาพ
เมื่อวันที่ 8 กันยายน ดร.ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว หัวหน้าฝ่ายวิจัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย “การประเมินผลเชิงพัฒนานโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในพื้นที่นำร่อง” เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการวิจัยประเมินผลเชิงพัฒนาฯ เพื่อประเมินผลลัพธ์ของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ และพัฒนาข้อเสนอแนะในการปรับปรุงนโยบายให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ โดยเน้นศึกษาผลสำเร็จ ปัญหา อุปสรรค ของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ในจังหวัดนำร่องโดยใช้ “ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง” หรือ “Theory of Change: TOC” เป็นหนึ่งในเครื่องมือการมองเป้าหมายของนโยบาย และใช้การสำรวจและการสัมภาษณ์ประชาชน ผู้ให้บริการและภาคส่วนต่างๆ ในการวัดผลลัพธ์และปัจจัยความสำเร็จ
ดร.ภญ.ปฤษฐพร กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายในบางส่วน โดยเฉพาะการลดเวลารอคอย ลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะ “ต้นทุนในการรับบริการ” ที่คำนวณจากค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเดินทาง ค่าบริโภค ค่าที่พักกรณีรับบริการต่างจังหวัด รวมไปถึง่ค่าเสียโอกาสจากขาดงานของผู้ป่วยและญาติ ฯลฯ
ทั้งนี้ จากการสำรวจประชากรทั้งในและนอกจังหวัดนำร่อง จำนวน 1,618 คน พบว่า ประชาชนในพื้นที่นำร่องจะมีต้นทุนในการรับบริการอยู่ที่ 515 บาท ขณะที่ผู้ที่อยู่นอกพื้นที่จะอยู่ที่ 660 บาท ตรงนี้ถือว่านโยบายช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มากไปกว่านั้น ยังพบว่าประชาชนในพื้นที่นำร่องมีทักษะและความรู้เรื่องของการใช้เทคโนโลยีมากกว่านอกพื้นที่นำร่อง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า การที่นโยบายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี เปรียบเสมือนเป็นโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัล เช่น การดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหมอพร้อม การวิดีโอคอล
ดร.ภญ.ปฤษฐพร กล่าวว่า แม้จะมีบางส่วนที่บรรลุเป้าหมาย แต่ก็ยังมีบางส่วนที่อาจจะยังต้องพัฒนา เช่น ตัวชี้วัดสำหรับผู้ให้บริการที่จะต้องให้ผู้รับบริการลงทะเบียนยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสุขภาพ (Personal Health Record หรือ PHR) ของประชาชน หรือแม้แต่การสื่อสารเกี่ยวกับหน่วยบริการที่ประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาผู้ปฏิบัติงานต้องเร่งทำยอดแล้ว อาจมีการสื่อสารข้อมูลบางส่วนที่ตกหล่น การสื่อสารที่ไม่ครอบคลุมประโยชน์ที่แท้จริงของนโยบาย ประชาชนอาจไม่ทราบถึงประโยชน์การลงทะเบียน และประโยชน์จากการดูข้อมูลสุขภาพ ของตนเอง
ขณะที่หน่วยบริการนวัตกรรมบางแห่งยังมีความกังวลเรื่อง “อัตราการจ่าย” ที่คุ้มทุนการทำงาน และที่มาของแหล่งเงินสนับสนุน รวมถึงระบบข้อมูลที่มีความหลากหลาย ทั้งระบบเบิกจ่าย และระบบบริหารจัดการ ซึ่งจากข้อค้นพบนำมาสู่ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา เช่น สธ. ควรจะต้องมีการปรับตัวชี้วัดในส่วนของการลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตน ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และแบ่งงานออกเป็นระยะเพื่อลดความกดดันของผู้ปฏิบัติ รวมถึงควรมีระยะเวลาเพียงพอในการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ และรู้ความสำคัญของการการลงทะเบียน และ PHR ของตนเอง รวมถึง สธ. ควรพัฒนารูปแบบการบริการ และตัวชี้วัดสำหรับการเข้าถึงข้อมูล PHR ที่เหมาะกับกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาสัญชาติ หรือผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ซึ่งปัจจุบัน สธ. ได้ยกเลิกตัวชี้วัดนี้แล้ว เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีระยะเวลาเพียงพอที่จะสื่อสารนโยบายนี้อย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ ควรมีการดูความพร้อม และความเสถียรของแพลตฟอร์มในการเก็บข้อมูลสุขภาพ หากต้องมีการขยายบริการและพื้นที่ดำเนินงาน ขณะเดียวกันยังเสนอให้มีการจัดทำตัวชี้วัดการเชื่อมโยงข้อมูล ให้สามารถเชื่อมกับหน่วยบริการนวัตกรรมนอกเหนือจากสังกัด สธ. ด้วยเช่นกัน
“ยังมีข้อเสนอต่อ สปสช. ในสร้างแรงจูงใจต่อหน่วยบริการนวัตกรรมให้เหมาะสม และยั่งยืนที่ไม่ใช่แค่การเบิกจ่าย แต่ยังรวมถึงการพัฒนาระบบการบันทึกที่ง่าย และเสนอให้ สปสช. ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลคุณภาพสถานบริการ ให้มีระบบควบคุมคุณภาพ และตรวจสอบการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมด้วย” ดร.ภญ.ปฤษฐพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้มีเฉพาะข้อเสนอถึงผู้กำหนดนโยบายเพียงเท่านั้น แต่ยังมีข้อเสนอถึงหน่วยบริการที่ “ยังไม่ร่วมโครงการ” ใช้เตรียมพร้อมในระยะถัดไป ผ่านหลักการ “SHARE” ที่ประกอบด้วย S (Security) เตรียมความพร้อมมาตรฐานความปลอดภัยสารสนเทศของหน่วยบริการ เพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ สธ. กำหนด H (Health Electronics) เตรียมความพร้อมการให้บริการด้านอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งระบบยา ระบบนัดหมาย ระบบคิวที่ควรต้องมีการวางแนวทางชัดเจน A (Awareness) สร้างความตระหนักรู้ในพื้นที่ ทำป้ายประชาสัมพันธ์ อบรมผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล สำหรับสื่อสารนโยบายแก่ประชาชน R (Registration) เตรียมความพร้อมการลงทะเบียนด้านอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตน เช่น เครื่องอ่านบัตร ตู้คีออส และ E (Equipment) เพื่อการติดตามการสำรองยา และเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะหน่วยบริการขนาดใหญ่ที่มีผู้มารับบริการเป็นจำนวนมาก
- 376 views