สธ. นำทีมหารือรองผู้ว่าราชการ กทม. สร้างความร่วมมือและเชื่อมโยงระบบบริการในสถานพยาบาลพื้นที่ กทม. ผ่าน 2 ระบบ Digital Health Platform รองรับการขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่ หลังเชื่อมโยงประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศแล้วกว่า 9 พันแห่ง พร้อมตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกัน
วานนี้ 23 กันยายน 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร นพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ รองผู้อำนวยการสำนักสุขภาพดิจิทัล และคณะทำงาน สำนักสุขภาพดิจิทัล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
เข้าพบและหารือร่วมกับ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ ดร.สุนทรีย์ ส่งเสริม และนพ.ธนกฤต จินตวร รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ นางสาวน้ำฝน ประโพธิ์ศรี ผู้อำนวยการโครงการ Health Link สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ นายประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะทำงาน
เพื่อหารือเรื่องความร่วมมือและการเชื่อมโยงระบบบริการประชาชนในสถานพยาบาลพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ห้องประชุมแพทย์พัฒน์ชั้น 5 สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
นพ.พงศธรกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนระบบสุขภาพดิจิทัล ภายใต้กรอบนโยบาย 30บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล มีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยบริการและเชื่อมต่อประชาชนผ่าน Digital Health Platform ของกระทรวงสาธารณสุข (ระบบหมอพร้อม) ทั่วประเทศ กว่า 60 ล้านคน สามารถเชื่อมโยงข้อมูลประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ในหน่วยบริการทั้งรัฐและเอกชน กว่า 9,600 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้มาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การยืนยันตัวตนของผู้รับและผู้ให้บริการตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และการกำกับดูแลของคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
นพ.พงศธรกล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนแนวคิดในการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ที่ต่อเนื่องและการบริการประชาชนในกรุงเทพมหานครตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งว่ายินดีให้หน่วยงานของกรุงเทพมหานครร่วมใช้ Digital Health Platform ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นการเชื่อมระบบและข้อมูลโดยตรงระหว่างสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานครกับหน่วยบริการทั่วประเทศ โดยสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 2 สัปดาห์นับจากวันที่หารือนี้ และในกรณีที่กรุงเทพมหานครประสงค์ใช้ระบบอื่น ทางกระทรวงฯ ก็ไม่ขัดข้อง โดยขอให้ระบบที่ใช้ดำเนินการภายใต้กรอบคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลและผ่านการทดสอบความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยของระบบข้อมูลสุขภาพประชาชนทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้เห็นชอบ หากกรุงเทพมหานครเลือกใช้แพลตฟอร์มอื่นนอกเหนือจากของกระทรวงสาธารณสุข จะจัดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุข โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ และบุคลากรนอกหน่วยงาน และจัดตั้งเป็นอนุกรรมการย่อย 2 ส่วน ได้แก่ อนุกรรมการด้านธรรมาภิบาลข้อมูล และอนุกรรมการด้านเทคนิคเชิงระบบและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้เกิดระบบบริการสาธารณสุขที่ปลอดภัย ได้มาตรฐานในระดับเดียวกัน สามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทั่วประเทศ
- 169 views