ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.-ไทยโรดส์ สานพลังภาคี เปิดผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัย หลังพบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 82.5% แต่คนไทยสวมหมวกนิรภัยเพียง 43% เร่งปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่ปฐมวัย เดินหน้าหนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบล-อำเภอ-จังหวัด ใช้ CCTV-AI ติดตามการสวมหมวก   
           
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่โรงแรม อวานี รัชดา กรุงเทพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิไทยโรดส์ พร้อมด้วยเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Watch) แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) จัดแถลงผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ปี 2566 พร้อมเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมอง และทิศทางในการขับเคลื่อนการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 82.5% และข้อมูลของระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ ของกระทรวงสาธารณสุข พบผู้เสียชีวิตในกลุ่มที่ใช้รถจักรยานยนต์ มีอัตราการบาดเจ็บที่ศีรษะ 79% และในกลุ่มผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่สวมหมวกนิรภัย มีอัตราการบาดเจ็บที่ศีรษะ 24% ขณะที่กลุ่มที่ไม่สวมหมวกนิรภัย บาดเจ็บที่ศีรษะ 41%  สอดคล้องกับผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย AIT ปี 2551 พบว่า การสวมหมวกนิรภัยช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ โดยลดความเสี่ยง และความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ศีรษะ 72% และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต 39%

แต่จากผลการสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ปี 2553-2566 พบว่า อัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั้งประเทศในภาพรวมยังคงที่ ในปี 2566 พบว่า มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยอยู่ที่ 43% โดยแบ่งเป็นผู้ขับขี่ 48% และ ผู้ซ้อน 21% 

“สสส. สนับสนุน และขับเคลื่อนการสวมหมวกนิรภัย จากโครงการ “ห่วงใครให้ใส่หมวก” ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษา และขยายผลการสวมหมวกนิรภัยในสถานศึกษา โดยเน้นมาขับเคลื่อนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ปลูกฝังจิตสำนึก ด้านความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กปฐมวัย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย100% สร้างวินัยจราจรในเด็ก รวมถึงครู ผู้ปกครอง ชุมชน เกิดความร่วมมือของท้องถิ่น ชุมชน ครู ผู้ปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความปลอดภัยทางถนนในระดับตำบล โดยอัตราการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น จากค่าเฉลี่ย 7-8% เป็น 16% โดยเฉพาะ จ.ตราด และ จ.ภูเก็ต มีอัตราส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2562 คือ 1% และ 14% เป็น 32% และ 23% ในปี 2566 ตามลำดับ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นายณัฐพงศ์ บุญตอบ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิไทยโรดส์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2553 ที่มูลนิธิไทยโรดส์ และ เครือข่าย Road Safety Watch ได้สำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ จนถึงปี 2566 จุดสำรวจ 3,274 ทั่วประเทศ และจำนวนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 1,471,540 คน พบว่า ภาพรวมของประเทศ มีผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยเพียง 43% แบ่งเป็นคนขี่และคนซ้อนสวมหมวกนิรภัย 48% และ 21% ตามลำดับ จังหวัดที่มีการสวมหมวกนิรภัยสูงสุดของแต่ละภูมิภาค ในปี 2566 ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ 59% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สุรินทร์ 53% ภาคกลางและตะวันออก (ไม่รวม กทม.) จ.ตราด 67% ภาคใต้ จ.ภูเก็ต 55% และกรุงเทพฯ 71%

เมื่อเปรียบเทียบตามบริบทพื้นที่การสำรวจฯ พบว่า อัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ รวมคนขี่และคนซ้อน ในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยในเขตชุมชนเมืองหลักลดลงเหลือ 49% จาก 77% และเขตชุมชนชนบทลดลงเล็กเหลือ 29% จาก 30%

“กลุ่มผู้ใหญ่ทั้งคนขี่และคนซ้อน สวมหมวกนิรภัยลดลงเหลือเพียง 43% ในขณะที่กลุ่มเด็กเฉพาะคนซ้อน สวมหมวกนิรภัยสูงขึ้นเป็น 16% โดยจังหวัดที่ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย “ในกลุ่มเด็ก” ดีเด่น ได้แก่ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ 29% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา 21% จ.อุบลราชธานี 21% ภาคกลาง กรุงเทพฯ 30% ภาคตะวันออก จ.ตราด 32% และภาคใต้ จ.ภูเก็ต 37% สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการขับเคลื่อนหมวกนิรภัยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ สู่โรงเรียนเพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และหน่วยงาน ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยจะต่อยอดขยายร่วมมือกับระหว่างหน่วยงานและภาคีเครือข่ายทั้งในระดับนโยบาย และปฏิบัติการ รวมถึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมกับการใช้ CCTV ที่มีอยู่ เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการติดตาม และประเมินผลการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์อย่างจริงจัง ” นายณัฐพงศ์ กล่าว 

พร้อมเสนอ “5 เรื่องต้องทำเพื่อ #Save สมองเด็กไทย”  

(1) มีนโยบายขับเคลื่อนการสวมหมวกจากส่วนกลาง สู่ท้องถิ่น  
(2) เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายหมวกนิรภัย ด้วยการลงทุนเทคโนโลยี  
(3) สนับสนุนให้มีระบบติดตาม มาตรการสวมหมวกนิรภัย ด้วยการใช้ AI  
(4) ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน-วินัยจราจร ในสถานศึกษา  
(5) ส่งเสริมการเข้าถึงและจัดหาหมวกนิรภัยสำหรับเด็ก ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย