นายกรัฐมนตรี คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ กทม. ยกระดับ ลดแออัด ดันศูนย์บริการสาธารณสุข 500 แห่งในกรุงเทพฯ ให้บริการชาวกรุง ลั่นภายในสิ้นปีขยายครบทุกจังหวัด ด้าน สปสช.ชู 32 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยใช้บริการร้านยา ที่มีตราสัญลักษณ์ หากรุนแรงมีระบบส่งต่อคลินิกและ รพ. ล่าสุดเชื่อมข้อมูลระบบดิจิตอล 45 จังหวัด ส่วนพื้นที่ปริมณฑล ใกล้กทม.ข้ามใช้บริการปฐมภูมิได้
เปรยถึง "ทักษิณ" จาก 30 บ.รักษาทุกโรค ถึง 30 บ.รักษาทุกที่
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ที่ลานอเนกประสงค์ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถามีใจความตอนหนึ่งว่า 30 บาท รักษาทุกโรค ผ่านมาเป็นสิบๆ ปีก็ยังมีคนขอบคุณและพูดถึงนโยบายนี้เสมอ
" ดิฉันเองมีประสบการณ์หลายอย่าง ยกตัวอย่าง ในวันนึงคุณพ่อตอนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ได้กลับมาที่บ้านและทานข้าวเย็นกันปกติ และบอกว่าไปต่างจังหวัดมา มีผู้ชายคนหนึ่งวิ่งมาหาท่านและเปิดเสื้อมีแผลยาวตั้งแต่ข้างบนจนถึงช่วงท้อง บอกว่า "ผมได้ผ่าตัดหัวใจมาครับด้วย 30 บาท" ซึ่งคุณพ่อเล่าด้วยความภาคภูมิใจอย่างมาก จริงๆวันนั้นพ่อเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เบื้องหลังการทำงานยังมีคนอีกมากมายที่ทำให้นโยบายนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ ประชาชนไม่ต้องล้มละลาย ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน เรามีความภูมิใจเป็นอย่างมากนี่เป็นนโยบายที่สร้างความภาคภูมิใจอย่างที่สุดให้กับเรา" นางสาวแพทองธาร กล่าว
30 บาทรักษาทุกที่ ถึง กทม.แล้ว
เพราะฉะนั้นมาถึงวันนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะต่อยอด "30 บาทรักษาทุกโรค" ให้เป็น "30 บาทรักษาทุกที่" เวลาผ่านไปมีบริการนวัตกรรมต่างๆมากมายเกิดขึ้น เราได้เก็บตัวอย่างทั้งข้อดีและข้อเสียพร้อมที่จะปรับปรุง อย่างที่บอกผ่านมาแล้วจนถึงวันนี้ 23 ปี วันนี้ 30 บาทรักษาทุกที่มาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว
คน กทม.ไปรักษา รพ.ใหญ่ รอคิวนาน รพ.สต.ในต่างจังหวัดมีการพัฒนาไปมากแล้ว มีรพ.ชุมชนมากกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ ถือว่ากรุงเทพฯยังจะขาดแคลนบริการสาธารณสุข ในระดับต้น ระดับกลางมากกว่าต่างจังหวัด มองว่า กทม.ควรมีศูนย์บริการสาธารณสุขถึง 500 แห่ง และรพ.ชุมชน 50 แห่ง อย่างไรก็ตาม หากป่วยเบื้องต้นหากสามารถรับยาที่ร้านยาคุณภาพ ก็จะช่วยลดการแออัดในรพ.ใหญ่ บุคลากรการแพทย์จะได้ไม่ต้องทำงานหนัก เพราะหากเราไปเจ็บป่วยเล็กน้อย บุคลากรก็ต้องมาดูแลเรา ทั้งที่รพ.ใหญ่เหมาะกับการรักษาโรคเฉพาะทาง โรคอาการุนแรง ซึ่งรพ.ใหญ่ๆจะตอบโจทย์มากที่สุด
สำหรับคนที่ถือบัตรประชาชนสามารถใช้บริการ 30 บาท รักษาทุกที่ในกรุงเทพฯ ด้วยอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถเข้าไปใช้บริการสาธารณสุขได้เลย เช่น ร้านขายยาใกล้บ้าน คลินิกเวชกรรม ใกล้บ้าน รถโมบายตรวจเลือด รวมถึงการใช้เทเลเมดิซีน ให้มองหาสัญลักษณ์ 30 บาท รักษาทุกที่ ได้รับบริการทันที ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
8 เดือนที่ผ่านมาถือว่าสำเร็จ อย่างมาก มีผลงานการดำเนินงานสำคัญ ดังนี้ 1 ใน 4 ของผู้ป่วย ใช้บริการใกล้บ้านแทนมาโรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาล เฉลี่ย 160 บาทต่อครั้ง ลดระยะเวลาการรอพบแพทย์ 50% จากเฉลี่ย 2 ชั่วโมง เหลือ 1 ชั่วโมง เมื่อรักษาใกล้บ้าน จะลดภาระการขาดงานของผู้ป่วยและญาติที่มาด้วยกัน ที่สำคัญ ประชาชนผู้เข้ารับบริการกว่า 98% พึงพอใจกับนโยบายนี้อย่างมาก
สิ้นปีนี้ 30 บาทรักษาทุกที่ ครบทุกตารางนิ้วในไทย
"ขอให้มั่นใจว่าในปีนี่ รัฐบาลจะสามารถขยาย 30 บาท รักษาทุกที่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกตารางนิ้วในประเทศไทย และให้คนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดูแล" น.ส.แพทองธาร กล่าว
ผู้ว่าฯเผย 3 ปัจจัยสำคัญ 30 บาทรักษาทุกที่
ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในนามของกรุงเทพมหานครดีใจที่รัฐบาลมาสานต่อนโยบาย "30 บาทรักษาทุกที่" เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้าในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะเรื่องสุขภาพเป็นหัวใจของการลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากหากประชาชน เจ็บป่วยก็ไม่สามารถทำงานหารายได้ได้ ก็จะเป็นวงจรให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ กทม.มีโรงพยาบาลชั้นดีจำนวนมาก แต่ก็มีประชากรแฝงถึง 10 ล้านคน ขณะที่ ปัญหาสาธารณสุขไม่ได้น้อยกว่าจังหวัดอื่น หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ
ดังนั้นโครงการนี้สำคัญมากๆ โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่สำคัญ คือ 1. ใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมโยง 2. การเชื่อมโยงข้อมูลโรงพยาบาล และ 3. ระบบปฐมภูมิที่เข้มแข็ง อาทิ มีหน่วยสาธารณสุขนวัตกรรม ร้านขายยาที่ใกล้บ้าน ทำให้ประชาชนไม่ต้องตื่นมาตี 3 ตี 4 เพื่อไปรอคิวการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลใหญ่ นี่คือหัวใจของ 30 บาทซึ่งที่ผ่านมาก็มีการพัฒนาร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เป็นหัวใจที่จะสร้างความมั่นคง ความสะดวกและประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน นี่คือหัวใจพื้นฐาน ถ้าประชาชนมีสุขภาพดีจะช่วยกันในการพัฒนาประเทศต่อไป
คนบัตรทองไม่ว่าอยู่จังหวัดใดใช้บัตรปชช.ใบเดียว
ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า 30 บาทรักษาทุกที่ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับบริการสุขภาพ ภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มุ่งให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายฯ ได้เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เดือนมกราคมที่นำร่องใน 4 จังหวัด ระยะที่ 2 เดือนมีนาคม ดำเนินการเพิ่มเติมในอีก 8 จังหวัด ระยะที่ 3เดือนพฤษภาคม ขยายในพื้นที่ 33 จังหวัด และวันนี้กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่ 46 และจะให้ครอบคลุมทั้งประเทศในปีนี้
สำหรับงาน 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ในวันนี้ ประชาชนใน กทม. ไม่ว่าสิทธิบัตรทองท่านจะอยู่จังหวัดใด ก็สามารถใช้บัตรประชาชนเข้ารับบริการสุขภาพระบบปฐมภูมิได้ตามนโยบายได้ ทั้งที่หน่วยบริการประจำ และหน่วยบริการ ปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งคลินิกชุมชนอบอุ่น และหน่วยบริการนวัตกรรมที่มีตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ ปรากฏอยู่
คนกทม.3.5 ล้านคน 30 บาทรักษาทุกที่ เน้นปฐมภูมิ
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า วันนี้เป็นการเปิดตัวอย่างสมบูรณ์แบบในเขตกรุงเทพมหานคร โดยคำว่าสมบูรณ์ แบบหมายถึง 1. ระบบการเชื่อม ข้อมูล ระหว่างหน่วยบริการเพื่อให้ประวัติ ผู้ป่วยไปในทุกที่ที่หน่วยรับบริการ 2. หากประชาชนจะไปให้ดูที่ "ตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่" เราสนับสนุนให้ประชาชนไปรับบริการใกล้บ้านและในหน่วยบริการปฐมภูมิในรูปแบบต่างๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีถ้าอยู่นนทบุรี ปริมณฑลสามารถมาใช้บริการได้หรือไม่…. นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะนี้ลงทะเบียนผู้ป่วยกรุงเทพมหานครเป็นหลัก แต่ถ้าผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ข้างเคียงก็สามารถมาใช้บริการได้ เพราะจะมีระบบการพิสูจน์ตัวตนผ่านการเชื่อมต่อให้
เมื่อถามว่า หากเป็นผู้ป่วยบัตรทองที่อยู่ต่างจังหวัดแต่มาอยู่ในกทม. สามารถเข้ารับบริการที่ร้านยาได้หรือไม่... นพ.จเด็จกล่าวว่า สามารถเข้ารับบริการได้ เพราะตอนนี้มีปัญหาเล็กน้อยในการเชื่อมต่อข้อมูลจากต้นสังกัด เพราะถ้าไม่ได้อยู่ในจังหวัดที่นำร่องการเชื่อมข้อมูลอาจจะยุ่งยาก แต่ในแง่บริการยืนยันว่าสามารถมารับบริการได้ แต่ถ้าอยู่ในจังหวัดนำร่องที่ดำเนินการเชื่อมข้อมูลไปแล้วข้อมูลจะปรากฏตรงนี้ด้วย เพราะฉะนั้นจะง่ายขึ้นในการรับบริการ ซึ่งทั้ง 45 จังหวัดเชื่อมข้อมูลทั้งหมดแล้ว
ใน 45 จังหวัดสามารถเข้ารับบริการที่ไหนก็ได้ เพิ่ม กทม.ด้วยใช่หรือไม่...นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในแง่หลังบ้านถูกต้อง แต่วันนี้ที่เราพยามประชาสัมพันธ์คือในกทม. เชื่อว่า 80 ถึง 90% พี่น้องกทม. ใช้บริการตรงนี้ก่อนแน่นอน ส่วนประชาชนที่มาต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่ในกทม. ไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านก็ยังใช้บริการได้เหมือนเดิมก็คือดูตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ โดยใช้บัตรประชาชนหรือแอพพลิเคชั่นที่ลงทะเบียนไว้แล้วเข้าใช้บริการได้
“ตอนนี้มีผู้ป่วยบัตรทอง 3.5 ล้านคน แต่ถ้าหากรวมประชากรแฝงในกทม. ราว 10 ล้านคน ใช้บริการได้” นพ.จเด็จ กล่าว
เมื่อถามว่าอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ต้องใช้บริการ ยึดหลัก 32 อาการหรือไม่....นพ.จเด็จ กล่าวว่า อาจยึดหลักก่อนก็ได้เพราะง่ายที่สุด แต่หากมีอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นที่ไม่เคยไปรับบริการที่ไหนเลย ยังคงแนะนำให้ให้ไปรับบริการใกล้บ้านที่มีตราสัญลักษณ์ก่อน จะได้รับคำแนะนำ
(ข่าวเกี่ยวข้อง: คนกรุงรอ! เปิดจุดบริการสุขภาพ 10 สถานีรถไฟฟ้า เริ่ม “อนุสาวรีย์ฯ” แห่งแรก 10 ต.ค.)
- 1434 views