ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวแทนผู้ป่วยบัตรทอง กทม. ชี้ 30 บาทรักษาทุกที่ กังวลเรื่องใบส่งตัว ห่วงคลินิกตรวจได้ไม่ละเอียด มั่นใจการรักษาโรงพยาบาลมากกว่า 

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567  ที่ลานอเนกประสงค์ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารบี ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. มีการจัดงาน “30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า กรุงเทพมหานคร” โดยมีการตรวจคัดกรองสุขภาพฟรี ภายในงานตั้งแต่เวลา 7.00 น. เป็นต้นไป โดยมีการเจาะเลือดตรวจสุขภาพ วัดระดับน้ำตาล ไขมัน การทำงานของตับและไต คัดกรองความเสี่ยง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คัดกรองความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ 

โดยมีเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมงานถึงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ กทม. ทั้งชอบในความสะดวกสบาย และบางรายก็อยากกลับไปใช้สิทธิการรักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่แรก 

นางเยาวลักษณ์ มั่นเกษวิทย์ อายุ 75 ปี ผู้อาศัยอยู่ในเขตหลักสี่ กทม. กล่าวว่า เมื่อทราบว่า ผู้มีสิทธิบัตรทองให้เข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิหรือประจำตามสิทธิ ที่มีตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ก่อน ก็รู้สึกไม่สบายใจ ก่อนหน้านี้ตนเคยรู้สึกไม่สบายและไปคลินิก แต่ได้รับการวินิจฉัยว่า อาการไม่รุนแรง ไม่มีการรักษา จนต้องเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลเอง และตรวจพบความผิดปกติจึงตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป

"อาการที่เป็น เมื่อตรวจในคลินิกคิดว่าไม่รุนแรง แต่ตัวเราเองรู้สึกได้ถึงความผิดปกติในร่างกาย จึงตัดสินใจเข้าโรงพยาบาล จ่ายเงินเอง จึงอยากไปโรงพยาบาลตั้งแต่แรก อยากกลับไปตรวจที่โรงพยาบาลได้เหมือนเดิม เพราะรู้สึกเชื่อมั่นในการรักษามากกว่า และยังรู้สึกกังวลว่า คลินิกจะไม่ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล หากพบความผิดปกติ" นางเยาวลักษณ์ กล่าวและว่า

ก่อนหน้านี้ได้ติดตามข่าว พบว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีปัญหาเรื่องเงินกับคลินิก และยังมีข่าวเรื่องงบผู้ป่วยใน ทำให้ตนรู้สีกไม่สบายใจว่า จะไม่ได้รับการตรวจอย่างละเอียด และห่วงว่าการรักษาจะไม่ดีพอ

น.ส.รุ่งขวัญ สุพรรณไสว อายุ 53 ปี ผู้อาศัยอยู่ในเขตหลักสี่ กทม. กล่าวถึงปัญหาที่พบเมื่อเข้ารับการรักษาที่คลินิกว่า ตนเจอปัญหาด้วยตนเอง ช่วงก่อนสถานการณ์โควิดระบาด เคยตรวจเจอโรคเบาหวานและมีปัญหาเรื่องไขมัน จึงกินยามาอย่างต่อเนื่อง หลังช่วงโควิดได้ไปตรวจที่คลินิกแห่งหนึ่งแจ้งว่า ค่าน้ำตาลต่ำ ไม่ให้ยา ทั้งที่ก่อนหน้านั้นตนกินยามา 4 ปี พอไม่ได้กินยา รู้สึกว่าไม่สบาย เริ่มมองเห็นไม่ชัด กลัวว่าเบาหวานจะขึ้นตา จึงอยากกลับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลมากกว่า

"หน่วยปฐมภูมิบางที่ เจ้าหน้าที่ยังขาดประสบการณ์ เครื่องมือในการตรวจสุขภาพยังไม่ครอบคลุม ในบางแห่งไม่ตรวจละเอียด บางที่ไม่มีพยาบาลวิชาชีพ ทำให้รู้สึกกังวลเรื่องความเชี่ยวชาญ" น.ส.รุ่งขวัญ กล่าว

น.ส.รุ่งขวัญ กล่าวอีกว่า การขอรับใบส่งตัวบางแห่งมีระบุเวลาชัดเจนจึงไม่สะดวกในการทำเรื่อง ถ้าได้รักษาที่โรงพยาบาลแต่แรกเลยจะดีกว่า นอกจากนี้ ยังกังวลว่า หากมีอาการเจ็บป่วยตอนกลางคืนหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินจะทำอย่างไร ตนเคยเกิดอาการเจ็บปวดในตอนกลางคืน จึงตัดสินใจไปโรงพยาบาลก่อน เมื่อมาขอใบส่งตัวกับทางคลินิก ก็สอบถามว่า ทำไมไม่มาที่คลินิกก่อน แต่ตอนเกิดอาการเป็นช่วงเวลากลางคืน และคลินิกหลายแห่งก็ปิดตั้งแต่ช่วงเย็น ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ตรวจที่โรงพยาบาลได้เหมือนเดิม

ด้าน น.ส.นางสาว กัลยาณี บุญอย่างซื่อ อายุ 38 ปี ผู้อาศัยอยู่ในเขตหลักสี่ กทม. กล่าวว่า ตนรู้สึกสะดวกที่ได้รักษาในคลินิกใกล้บ้าน เพราะการไปโรงพยาบาลนั้นต้องรอคอยเป็นเวลานาน บางครั้งมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย หากสามารถรักษาได้ที่คลินิกใกล้ ๆ หรือรับยาได้ที่ร้านยา ก็ไม่ต้องเสียเวลา รู้สึกว่าสะดวกดี 

"เมื่อมีการปรับรูปแบบการรักษา จึงได้พูดคุยกับผู้สูงวัยหลาย ๆ คน รับรู้ว่า ผู้สูงวัยอยากไปโรงพยาบาลมากกว่า บ่นกันมาว่า รู้สึกยุ่งยากที่จะต้องขอใบส่งตัว เสียเงินในการเดินทางหลายรอบ โดยเฉพาะผู้ใหญ่อายุเยอะ ๆ จะกังวลเรื่องการรักษาโรคเรื้อรัง และรู้สึกว่ามีขั้นตอนเยอะเกินไป" น.ส.นางสาว กล่าว

ขณะที่ น.ส.จารุณี ชำนาญกิจ อายุ  61 ปี กล่าวว่า ตนอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช เมื่อทราบว่า สามารถตรวจรักษาได้ที่หน่วยปฐมภูมิก็รู้สึกดีใจ เพราะมีหน่วยบริการใกล้บ้าน ก่อนหน้านั้นต้องไปโรงพยาบาลตั้งแต่เช้ามืด ราวตี 4-5 กว่าจะได้ตรวจก็ใช้เวลารอคอยนาน หากสามารถตรวจได้ในหน่วยปฐมภูมิ และยังมีหน่วยบริการทางเลือกใหม่อีก เชื่อว่า การรักษาจะรวดเร็วขึ้นและสะดวกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีตัวแทนผู้ป่วยที่ไม่ประสงค์ออกนามหลายรายชื่นชม การยกระดับ 30 วันรักษาทุกที่ เพราะเพิ่มการเข้าถึงบริการ สะดวกในการรักษา ไม่ต้องรอคิวนาน แต่ยังกังวลเรื่องใบส่งตัวจากคลินิก จึงอยากเสนอแนะให้กลับไปรับบริการที่โรงพยาบาลได้เช่นเดิม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

- นายกฯ คิกออฟ '30 บาท รักษาทุกที่ กทม.' บริการปฐมภูมิ สิ้นปีนี้ครบทั่วประเทศ

- คนกรุงรอ!  เปิดจุดบริการสุขภาพ 10 สถานีรถไฟฟ้า เริ่ม “อนุสาวรีย์ฯ” แห่งแรก 10 ต.ค.