ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คลินิกชุมชนอบอุ่น กทม.ราว 200 แห่ง ยืนยันรักษาโรคทั่วไป แต่ขอไม่จ่ายยาโรคเรื้อรัง ไม่เขียนใบส่งตัว เหตุไร้เงินจาก สปสช. แต่ประสาน รพ.จ่ายยาแทน

จากกรณีผู้แทนกลุ่มบริการ หรือคลินิกชุมชนอบอุ่น แจ้งว่าหากไม่มีเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าภายในวันที่ 30 ก.ย. คลินิกชุมชนอบอุ่น จะไม่จ่ายยาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั้น 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ว่าที่ ร.ต.หญิง รัชฎาภรณ์ ราชแผน ผู้ประกอบการพระยาสุเรนทร์คลินิกเวชกรรม ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่รอเงิน สปสช.ในวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีเงินเข้าประมาณ 1,000 กว่าบาท 1 ครั้ง และ 60,000 บาท อีก 1 ครั้ง ในเวลาเที่ยงคืน ซึ่งไม่ใช่เงินเหมาจ่ายรายหัวทั้ง 3 งวด ที่ สปสช.ยังไม่ได้จ่ายให้กับคลินิก จึงมีการปรึกษากับคลินิกชุมชนอบอุ่นด้วยกัน ยืนยันว่า 7 โซน ทั่ว กทม. รวมแล้วประมาณ 200 คลินิกชุมชนอบอุ่น จะรักษาเฉพาะโรคทั่วไป แต่จะไม่เขียนใบส่งตัว รวมทั้งไม่จ่ายยาให้กับผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เพราะไม่มียาจ่ายให้กับผู้ป่วย ตามที่เคยแจ้งไว้ว่า ค้างจ่ายเงินบริษัทยามาได้ 3-4 เดือนแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้มีการประสานไปยังโรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกนวัตกรรม ให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับยาได้โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว

"ตอนนี้ สปสช.ไม่ได้จ่ายเงินให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่นประมาณ 3 งวด หากคำนวณว่า 300 กว่าคลินิก ก็ราว 300 ล้านบาท พอคลินิกจะออกก็แจกหนี้อีก 4 ล้านบาท ให้กับคลินิกที่ต้องการออกจากโครงการ รวมแล้วกว่า 30 คลินิก อีกทั้ง สปสช.แจ้งว่า คลินิกรักษาคนไข้มากเกินจำนวนเงินที่ สปสช.ให้ จึงจำเป็นต้องเรียกเงินคืน เพราะเป็นงบปลายปิด แต่ให้โรงพยาบาลรักษาปลายเปิด มีทั้งค่ารักษา ค่าส่งตัวโรงพยาบาล ทำให้เกินงบประมาณของ สปสช. ปี 2566 และ 5 เดือนแรกในปี 2567 ซึ่งรวมแล้วจำนวนเงินมากกว่า 1 พันล้านบาท" ว่าที่ ร.ต.หญิง รัชฎาภรณ์ กล่าวและว่า 

คลินิกที่ยังคงเปิดให้บริการอยู่ยังมียอดหนี้จาก สปสช. ที่ละ 4-5 ล้าน จะเห็นได้ว่า สปสช. ไม่ดำเนินการของบประมาณจากรัฐบาลเลย และยังไม่นำงบประมาณที่เหลือจากงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) มาใช้เพื่อบรรเทาการขาดทุนจากการรักษาพยาบาลด้วย 

ว่าที่ ร.ต.หญิง รัชฎาภรณ์ กล่าวอีกว่า ตนได้ยื่นคำร้อง โดยยื่นหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายกรัฐมนตรี ถึง 3 ครั้ง พร้อมทำสำเนาส่งถึง สปสช. แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดเกิดขึ้น และยังตั้งหนี้กับคลินิกที่ดำเนินการในปัจจุบัน

เมื่อถามว่า ขณะนี้คลินิกใช้ประชาชนเป็นตัวประกันหรือไม่ ว่าที่ ร.ต.หญิง รัชฎาภรณ์ ยืนยันว่า ไม่ได้ใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน เนื่องจากประชาชนยังสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่เช่นเดิม เพียงแต่คลินิกไม่สามารถจ่ายยาโรคเรื้อรังให้ได้เท่านั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

- คลินิกบัตรทองกทม. จ่อปฏิเสธร่วม "30 บาทรักษาทุกที่" หาก สปสช.ไม่จ่ายเงิน 30 ก.ย.นี้

นายกฯ คิกออฟ '30 บาท รักษาทุกที่ กทม.' บริการปฐมภูมิ สิ้นปีนี้ครบทั่วประเทศ

คนกรุงรอ!  เปิดจุดบริการสุขภาพ 10 สถานีรถไฟฟ้า เริ่ม “อนุสาวรีย์ฯ” แห่งแรก 10 ต.ค.