ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ชมรมแพทย์ชนบท ชมรมทันตสาธารณสุขภูธร เครือข่ายทันตแพทย์ และพยาบาล ที่ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ รวมตัวเพื่อประท้วง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข และนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวง หลัง สธ.ปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนและเบี้ยเหมาจ่ายรายหัว

ค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

เงินงบประมาณ ประกอบด้วย 1 เงินเดือน/เงินประจำตำแหน่ง ได้แก่ เงินเดือนข้าราชการ เงินประตำแหน่งตามระดับชั้นตำแหน่ง ค่าตอบแทนพนักงานราชการ และเงินค่าจ้างประจำ ลูกจ้างประจำ 2 ค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข ประกอบด้วย เงินเพิ่มพิเศษตำแหน่งพิเศษ และค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายพื้นที่พิเศษ 3 เงินค่าตอบแทนตามระดับพื้นที่

เงินบำรุง ซึ่งจะออกระเบียบเพื่อใช้เงินบำรุงในเรื่องต่างๆ เช่น งานส่งเสริมป้องกันโรค การจ่ายค่าตอบแทนหน่วยงานสนับสนุน งานบริหาร ซ่อมแซมบ้านพัก เบี้ยเลี้ยงต่างๆ

เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายพื้นที่ทุรกันดาร หรือเบี้ยกันดาร ต้องนับย้อนไป 20-30 ปี จะจ่ายเบี้ยพิเศษนอกเหนือจากเงินเดือนให้แพทย์ที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทุรกันดาร

ในปี 2551 แพทย์ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ปกติได้รับเบี้ยเหมาจ่าย 1,000 บาท พื้นที่ทุรกันดาร 1 จะได้รับเบี้ยกันดาร 10,000 บาท และแพทย์ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทุรกันดาร 2 จะได้รับเบี้ยกันดาร 20,000 บาท

ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ในปี 2551 เพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายโดยแก้หลักเกณฑ์เงินบำรุง ฉบับที่ 4 และ 6 ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ตามมาด้วยการประท้วงของแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) จนมีการแก้หลักเกณฑ์ ฉบับที่ 7 โดยแพทย์กลุ่มนี้มีเหตุผลว่า รพศ./รพท. มีภาระงานมากกว่า ต้องปรับในอัตราที่เป็นธรรมเช่นกัน

จากการเปลี่ยนระเบียบเงินบำรุงปี 2551 ทำให้เบี้ยที่แพทย์ใน รพช.ได้รับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อาทิ แพทย์ที่ทำงานใน ร.พ.ขนาดเล็ก

ปีที่ 1-3 พื้นที่ปกติได้รับเงิน 10,000 บาท พื้นที่ทุรกันดาร 1 ได้รับ 20,000 บาท ทุรกันดาร 2 ได้รับ 30,000 บาท

ทำงานปีที่ 4-10 พื้นที่ปกติได้รับเงิน 30,000 บาท พื้นที่ทุรกันดาร 1 ได้รับ 40,000 บาท ทุรกันดาร 2 ได้รับ 50,000 บาท

ทำงานปีที่ 11-20 พื้นที่ปกติได้รับเงิน 40,000 บาท พื้นที่ทุรกันดาร 1 ได้รับ 50,000 บาท ทุรกันดาร 2 ได้รับ 60,000 บาท

ทำงานปีที่ 21 ขึ้นไป พื้นที่ปกติได้รับเงิน 50,000 บาท พื้นที่ทุรกันดาร 1 ได้รับ 60,000 บาท ทุรกันดาร 2 ได้รับ 70,000 บาท ซึ่งยังมีร.พ.ขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ปรับขึ้นตามสัดส่วน

สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงก็คือ ครม.มีมติอนุมัติในหลักการให้ สธ.ดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงค่าตอบแทน โดยให้จ่ายแบบผสมผสาน ทั้งจ่ายตามภาระงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P:Pay for Performance) และเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายคงเดิมในพื้นที่เฉพาะหรือพื้นที่ทุรกันดาร แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.พื้นที่ชุมชนเมือง 2.พื้นที่ปกติ 3.พื้นที่เฉพาะ 1 และ 4.พื้นที่เฉพาะ 2

พื้นที่ชุมชนเมืองใช้เกณฑ์ P4P เท่านั้น ส่วนพื้นที่ปกติ จะลดค่าตอบแทนในกลุ่มพื้นที่ปกติลงตามลำดับของขนาดโรงพยาบาล และตัดเบี้ยของกลุ่มที่ทำงานปีที่ 21 ขึ้นไป เนื่องจากส่วนใหญ่มีเงินประจำตำแหน่งเพิ่มเข้ามา ส่วนพื้นที่เฉพาะทั้ง 1 และ 2 จะคงอัตราเบี้ยเลี้ยงไว้เท่าเดิมไม่แก้ไข ยังได้เบี้ยเลี้ยงเท่าปี 2551

สำหรับปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มีทั้งสิ้น 737 แห่ง มีร.พ.อีก 13 แห่ง ที่จะปรับเป็นพื้นที่เมือง กลุ่มนี้จะไม่ได้เบี้ยทุรกันดารซึ่งจ่ายแบบคงที่อีกต่อไป โรงพยาบาลพื้นที่ปกติ 591 แห่ง สำหรับพื้นที่เฉพาะระดับ 1 จำนวน 65 แห่ง พื้นที่เฉพาะระดับ 2 จำนวน 48 แห่ง

ที่มา: นสพ.ข่าวสด วันที่ 28 มีนาคม 2556 (คอลัมน์ที่13)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง