Published on Hfocus.org เจาะลึกระบบสุขภาพ (https://www.hfocus.org)

Home > ‘ทันตแพทยสภา’ ชวนหมอฟันใช้ ‘ปูนพลาสเตอร์ป้องกันเชื้อโรค’ นวัตกรรมใหม่ฝีมือคนไทย

‘ทันตแพทยสภา’ ชวนหมอฟันใช้ ‘ปูนพลาสเตอร์ป้องกันเชื้อโรค’ นวัตกรรมใหม่ฝีมือคนไทย

Mon, 2018-09-17 13:32

นายกทันตแพทยสภา ชักชวนหมอฟันทั่วประเทศ 1.6 หมื่นชีวิต ใช้ปูนพลาสเตอร์หล่อแบบฟันป้องกันเชื้อโรค นวัตกรรมจากมันสมองคนไทย ระบุ ป้องกันปัญหาการติดเชื้อ ช่วยให้คนไข้ปลอดภัยยิ่งขึ้น

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงนวัตกรรม “ปูนพลาสเตอร์หล่อแบบฟันป้องกันเชื้อโรค” ซึ่งคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ในการวิจัยและพัฒนา และได้รับการประกาศขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยแล้ว ตอนหนึ่งว่า การทำงานของทันตแพทย์จะเกี่ยวข้องกับการใช้ปูนพลาสเตอร์ค่อนข้างมาก ซึ่งในฐานะที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพ สิ่งที่เห็นมากที่สุดคือการรักษาต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นลำดับแรก ฉะนั้นผลิตภัณฑ์ที่เลือกมาใช้ต้องได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยอย่างถึงที่สุด

ทพ.ไพศาล กล่าวว่า สิ่งที่ทันตแพทย์ให้ความสำคัญและคำนึงถึงมากคือปัญหาการติดเชื้อ ซึ่งนวัตกรรมปูนพลาสเตอร์หล่อแบบฟันป้องกันเชื้อโรคจะเข้ามามีบทบาทในการรักษาเป็นอย่างมาก เพราะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่หลายประเทศยังคิดไม่ถึง และการนำเข้าจากต่างประเทศก็ไม่พบว่ามีผู้ผลิตรายได้ที่ผลิตปูนพลาสเตอร์ที่มีคุณสมบัติป้องกันการติดเชื้อได้ด้วยตัวของปูนเอง

“ตัวปูนพลาสเตอร์จะเป็นพื้นฐานในการทำสิ่งอื่นๆ ต่อไป เช่น การทำฟันปลอม ฉะนั้นหากปูนพลาสเตอร์ซึ่งเป็นพื้นฐานของหลายๆ อย่างมีคุณสมบัติสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ของที่จะผลิตขึ้นในอนาคตก็จะยิ่งมีความปลอดภัยต่อประชาชนมากยิ่งขึ้นๆ” ทพ.ไพศาล กล่าว

นอกจากคุณสมบัติป้องกันเชื้อโรคแล้ว สิ่งที่ทันตแพทย์ส่วนใหญ่พบก็คือในงานบางงานมีความจำเป็นต้องเก็บแบบหล่อแบบปูนไว้ค่อนข้างนาน เช่น งานทันตกรรมจัดฟัน ที่อาจต้องเก็บไว้ถึง 10 ปี เพื่อติดตามผลการรักษาในระยะยาว โดยสิ่งที่มักเจอเสมอคือแบบหล่อเหล่านั้นมักติดเชื้อรา สุดท้ายแล้วก็ต้องทิ้งไป แต่นวัตกรรมปูนพลาสเตอร์ตัวนี้ สามารถฆ่าเชื้อราได้ด้วย ส่วนตัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก

ทพ.ไพศาล กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีทันตแพทย์ทั่วประเทศประมาณ 16,300 คน และมีคลินิกทันตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันทั้งสิ้น 6,800 แห่ง โดยทันตแพทย์กว่า 90% และคลินิกทุกแห่งจำเป็นต้องใช้ปูนพลาสเตอร์ในการปฏิบัติงาน ดังนั้นนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยการทำงานของทันตแพทย์เป็นจำนวนมาก แต่ประเด็นที่พูดคุยกันในสภาวิชาชีพก็คือนวัตกรรมนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าใดนัก

“เท่าที่เราพูดคุยกันในวงการวิชาชีพ พบว่าทันตแพทย์ยังรู้จักนวัตกรรมตัวนี้น้อย ทางทันตแพทยสภาจึงคุยกันว่าในเมื่อมันเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นโดยมันสมองของคนไทย โดยความร่วมมือกันระหว่างองค์กรชั้นนำของประเทศ จึงเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องช่วยกันโปรโมทและทำให้คนในวิชาชีพรู้จักและนำมาใช้ เพราะนวัตกรรมนี้เป็นประโยชน์กับวิชาชีพและเป็นประโยชน์กับประชาชนด้วย” ทพ.ไพศาล กล่าว

ทพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า ทันตแพทยสภาในฐานะองค์กรด้านวิชาชีพทันตกรรมขอสนับสนุนนวัตกรรมปูนพลาสเตอร์หล่อฟันสำเร็จรูปสูตรยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรคนี้ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อทันตกรรม การลงนามความร่วมมือดำเนินการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านทันตนวัตกรรมระหว่าง 3 องค์กร เชื่อว่าจะนำไปสู่การพัฒนาและสนับสนุนนทันตนวัตกรรมของไทย เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป

อนึ่ง เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2561 มีการจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ดำเนินการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านทันตนวัตกรรม ระหว่างคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) และทันตแพทยสภา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและสนับสนุนทันตนวัตกรรมของประเทศไทย โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน โดยภายในงานมีการเปิดตัวนวัตกรรม “ปูนพลาสเตอร์หล่อแบบฟันป้องกันเชื้อโรค”

สำหรับนวัตกรรมดังกล่าวมีด้วยกัน 3 ประเภทการใช้งาน ประกอบด้วย 1.Type 3 (สีเขียว) สำหรับทำชิ้นหล่อแบบฟันเพื่อศึกษาและงานฟันเทียมชนิดถอดได้ 2.Type 2 (สีชมพู) สำหรับทำชิ้นหล่อแบบฟัน เพื่อวางแบบสร้างวัสดุบูรณะฟัน ที่สามารถลอกเลียนรายละเอียดได้ดีและมีความแข็งแรงสูง 3.Orthodontic Type (สีขาว) เพื่อใช้ศึกษาอวัยวะปริทันต์สำหรับทันตกรรมจัดฟัน โดยมีคุณสมบัติเทียบเท่าผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ ตามข้อกำหนด ISO 6873 ที่เป็นมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ยิปซั่มสำหรับงานทันตกรรม และได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนดในระเบียบข้อบังคับด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมยุโรป หรือ CE mark

คนนอกข่าว [1]
ไพศาล กังวลกิจ [2]
ทันตแพทยสภา [3]
ปูนพลาสเตอร์หล่อแบบฟัน [4]
เอสซีจี [5]
ทันตแพทย์ [6]
ทันตกรรม [7]

Source URL: https://www.hfocus.org/content/2018/09/16350

Links
[1] https://www.hfocus.org/topics/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7
[2] https://www.hfocus.org/topics/%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88
[3] https://www.hfocus.org/topics/%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2
[4] https://www.hfocus.org/topics/%E0%B8%9B%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%99
[5] https://www.hfocus.org/topics/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%88%E0%B8%B5
[6] https://www.hfocus.org/topics/%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C
[7] https://www.hfocus.org/topics/%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1