ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

วิทยาเปิดเผยสถิติในรอบ 5 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยจากการรับประทานอาหารและน้ำไม่สะอาด รวมกว่า 5 แสนราย เสียชีวิต 16 ราย และอาหารที่ปรุงรสหนักมันหวานเค็ม ยังก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ค่าใช้จ่ายรักษาปีละกว่า 3 แสนล้านบาท ออกนโยบายแก้ไข โดยให้โรงพยาบาลในสังกัดกว่า 900 แห่ง เป็นต้นแบบครัวโภชนาการ กินแล้วสุขภาพดี ลดป่วยและลดโรค

วันนี้(14 พฤษภาคม 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการ ที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นต้นแบบครัวปรุงอาหารเพื่อสุขภาพดี ไม่ป่วยจากโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดมาจากกินอาหารรสมัน หวาน เค็มจัด ซึ่งกำลังเป็นปัญหาของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  

นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนที่เกิดมาจากการกินอาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ และปรุงโดยใช้น้ำมัน น้ำตาล เกลือมากเกินไป ทำให้เกิดโรคต่างๆตามมา โรคที่เกิดอาหารและน้ำไม่สะอาดที่สำคัญ 2 โรคได้แก่ โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง ในรอบ 5 เดือนปีนี้ ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วย 520,000 กว่าราย เสียชีวิต 16 ราย ส่วนโรคที่เกิดจากกินอาหารมันจัด หรือหวานเค็มจัด ซึ่งเรียกว่าโรคจากพฤติกรรมหรือโรคไม่ติดต่อ พบว่าเพิ่มขึ้น ผลการตรวจสุขภาพครั้งที่ 4 ในปี 2551-2552 เปรียบเทียบกับการตรวจสุขภาพครั้งที่ 3 ในพ.ศ. 2546-2547 พบผู้หญิงอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34 เป็นร้อยละ 41 ผู้ชายอ้วนเพิ่มจากร้อยละ 23 เป็นร้อยละ 28 จำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่าตัวในรอบ 10 ปี เสียค่าใช้จ่ายปีละไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงวันละ 36 ราย เสียชีวิตจากโรคเบาหวานปีละ 7,000กว่าราย 

ในการลดป่วยลดตายจากโรคที่กล่าวมา กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นแก้ที่เรื่องใกล้ตัวก่อน คือเรื่องอาหารการกิน ในปีนี้ได้มอบหมายให้กรมอนามัยจัดทำโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการ โดยให้โรงพยาบาลในสังกัดกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นที่พักรักษาตัวผู้เจ็บป่วย เป็นต้นแบบของการปรุงอาหารที่ถูกตามหลักโภชนาการปลอดภัย มีอาหารเฉพาะโรค ลดการใช้น้ำมัน น้ำตาล เกลือและเครื่องปรุงรสต่างๆ เพิ่มผักผลไม้ มีบริการให้ความรู้ ให้คำปรึกษาและนิทรรศการให้ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการที่ถูกต้องกับผู้ป่วยและญาติ สามารถนำไปปรุงอาหารที่บ้านได้ และขยายผลส่งเสริมให้ร้านจำหน่ายอาหารในโรงพยาบาลทุกแห่งได้มาตรฐานร้านอาหารสะอาด รสชาติอร่อย และมีเมนุชูสุขภาพ กินแล้วสุขภาพดี คาดหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นเตือนประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การปรุงอาหาร เพื่อลดการเจ็บป่วย ลดโรคตามยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีไทย 

ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่จะประกาศให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการ จะต้องผ่านหลักเกณฑ์ 6 ข้อดังนี้ 1.ประกาศเป็นนโยบายของโรงพยาบาลชัดเจน 2.โรงครัวโรงพยาบาลผ่านมาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร มีการตรวจสอบสารปนเปื้อนในวัตถุดิบก่อนปรุงอาหารได้แก่ สารฟอกขาว ฟอร์มาลิน สารกันรา บอแรกซ์ ยาฆ่าแมลงในผักผลไม้ หากพบต้องแจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดการถึงแหล่งอาหารต้นตอทันที เพื่อเป็นการควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยอาหารในพื้นที่อีกชั้นหนึ่ง 3.ส่งเสริมการกินผัก ผลไม้ ลดการปรุงอาหารรสหวาน มัน เค็ม 4.ร้านอาหารภายในโรงพยาบาลผ่านเกณฑ์ร้านอาหารสะอาด รสชาติอร่อย และต้องมีเมนูชูสุขภาพ เมนูไร้พุง 5.อาหารว่างจัดประชุมต้องเป็นอาหารสุขภาพ อ่อนหวาน อ่อนมัน อ่อนเค็ม และ 6.จัดบริการให้ความรู้ คำปรึกษาและนิทรรศการอาหาร และโภชนาการที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยและญาติ