ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหิน (T-BAN) และแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดแถลง “19 ปี เคเดอร์ แรงงานปลอดภัย ไร้แร่ใยหิน” โดย น.ส.บุญยืนศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สมาชิกเครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหิน (T-BAN) กล่าวว่า ปัจจุบันนี้เลยเวลาที่จะมาพูดว่า ใยหินไครโซไทล์ อันตรายหรือไม่อย่างไร เพราะทั้งองค์กรอนามัยโลก(WHO) และนักวิชาการทั่วโลกยืนยันชัดเจนว่าแร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง ที่ผ่านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีมติจนนำไปสู่มติของ ครม.ชุดที่แล้วให้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปดูรายละเอียดการยกเลิก ซึ่งการที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้เทคนิคชะลอการประกาศการยกเลิกใช้แร่ใยหินโดยการอ้างว่ากำลังศึกษาผลกระทบอยู่นั้นมันจะทำให้ประชาชนตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง โดยมาตรการขจัดโรคจากใยหินที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือยกเลิกการใช้

 “เมื่อเร็วๆ นี้ มีบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่พาสื่อไทยไปดูงานอุตสาหกรรมแร่ใยหินในต่างประเทศ และให้ข้อมูลตรงข้ามกับข้อมูลทางวิชาการทั่วโลกว่า แร่ใยหินมีความปลอดภัย ประเทศดังกล่าวมีการส่งออกแร่ใยหินเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ย่อมจะต้องปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของตน จึงต้องตั้งคำถามว่า จะเชื่อถือข้อมูลจากผู้ขายซึ่งให้ข้อมูลสวนกับข้อมูลทางวิชาการทั่วโลกได้อย่างไร ปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้วประมาณ 53 ประเทศ แม้กระทั่งประเทศที่มีเหมืองแร่ใยหิน ดังนั้น รัฐบาลต้องมีความจริงจังในการดำเนินมาตรการดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน และแรงงานทั่วประเทศให้ปลอดภัยจากแร่ใยหินได้จริง” น.ส.บุญยืน กล่าว