ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

มูลนิธิสุขภาพผู้หญิง เตรียมร่อนจม.เปิดผนึก ร้อง สธ.ทบทวนนโยบายฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้เด็กหญิง 12 ปี ชี้ไร้ผลวิจัยยืนยันว่าป้องกันได้ตลอดชีวิตจริงอย่างที่ สธ.โม้ แถมไม่คุ้มค่า เพราะครอบคลุมสายพันธุ์แค่ 50-70% และยังต้องมีการตรวจคัดกรองเหมือนเดิม ก่อนกดราคาวัคซีนต้องต่ำกว่า 190 บาทต่อเข็ม จึงคุ้มค่ากว่า เสนอให้คัดกรองเพิ่ม 80% ลดจำนวนป่วยตายได้

วันนี้ (18 พ.ค.) น.ส.ณัฐยา บุญภักดี กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมผลักดันโครงการวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี (HPV:Human Papilloma vaccine) นำมาฉีดป้องกันในเด็กหญิงไทยอายุ 12 ปีที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ว่า ในสัปดาห์หน้า ทางมูลนิธิฯ และภาคีเครือข่าย รวม 21 องค์กร จะยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนการผลักดันนโยบายดังกล่าว โดยข้อมูลวิชาการที่ศึกษาโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่า สาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกมาจากการติดเชื้อ Human Papilloma Virus (HPV) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ โดยวัคซีนในปัจจุบันป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกสายพันธุ์ที่พบในหญิงไทย 50-70% เท่านั้น ทำให้แม้ว่าจะได้รับวัคซีนแล้วก็ควรได้รับการตรวจคัดกรองอยู่ดี จึงไม่ได้ทำให้ลดต้นทุนการป้องกันโรคแต่อย่างใด

“ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกครอบคลุมประมาณ 70% และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2548 ที่มีประชาชนรับการคัดกรองเพียง 20% จึงคาดว่า ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า จะมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลดลง 1,500 คนต่อปี ป้องกันการเสียชีวิตได้ 750 คนต่อปี ประหยัดงบประมาณในการรักษา 102 ล้านบาท ฉะนั้นการลงทุนฉีดวัคซีนในเด็กหญิงอายุ 12 ปี ซึ่งมีปีละ 400,000 คนทั่วประเทศ จึงยังไม่ใช่ทางเลือกเชิงนโยบายที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ เพราะเท่ากับเป็นการลงทุน 2 ต่อ คือ ยังต้องใช้การตรวจคัดกรองเดิม และเพิ่มวัคซีนเข้ามา” น.ส.ณัฐยา กล่าว

น.ส.ณัฐยา กล่าวต่อว่า ที่สำคัญปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลวิชาการถึงประสิทธิผลของวัคซีนในระยะยาวเกินกว่า 10 ปี เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ ทำให้ไม่สามารถตัดสินได้ว่าการฉีดวัคซีน 3 เข็มนี้ จะสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้นานเพียงใด และต้องฉีดซ้ำหรือไม่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขลดลง สอดคล้องกับ ประเด็นเรื่องราคาของวัคซีน ซึ่ง HITAP ได้ประเมินเรื่องความคุ้มค่าโดยหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข หากวัคซีนราคาต่ำกว่า 190 ต่อเข็ม ถือว่ามีความคุ้มค่าในการใช้วัคซีนเมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจคัดกรอง เพราะจะทำให้ต้นทุนของการฉีดวัคซีนเท่ากับงบประมาณที่จะประหยัดได้จากการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกในอนาคต

น.ส.ณัฐยา กล่าวอีกว่า ภาคีเครือข่ายขอเสนอทางเลือกเชิงนโยบาย เพื่อช่วยให้อุบัติการณ์เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกลดลงคือ 1.เพิ่มความครอบคลุมการตรวจคัดกรองให้ได้ตามเป้าหมายของประเทศคือ 80% ซึ่งจะช่วยลดผู้ป่วยมะเร็งได้เพิ่มอีก 530 ราย และลดผู้เสียชีวิตได้ 250 ราย 2.ควรมีการศึกษาเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขให้สอดคล้องกับข้อมูลระบาดวิทยาในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะใกล้เคียงกับประเทศไทยและสร้างความเข้าใจประชาชนใหม่ว่า การฉีดวัคซีนไม่สามารถทดแทนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ จึงต้องรับการตรวจคัดกรองอย่างเหมาะสมอยู่ดี
3.ควรนำนโยบายดังกล่าวผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติและคณะอนุกรรมการชุดสิทธิประโยชน์ฯ ของสปสช. รวมทั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เพราะจะต้องพิจารณาวัคซีนใหม่ไปพร้อมกันอีกหลายตัว และ 4.ควรจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างเปิดเผย

ทั้งนี้ เครือข่ายที่เข้าร่วม ได้แก่ 1.เครือข่ายเยาวชนเพื่อการพัฒนา 2.เครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ ประเทศไทย 3.เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย 4.เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ 5.เครือข่ายผู้หญิงในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 6.แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังระบบยา 7.เครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือตอนบน 8.เครือข่ายคนทำงานด้านเด็ก จังหวัดเชียงใหม่ 9.มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว 10.กลุ่มเยาวชนดอกลมแล้ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 11.กลุ่มคนวัยใส 12.กลุ่มเขลางค์เพื่อการพัฒนา 13.กลุ่มแม่หญิงดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 14.เครือข่ายเยาวชน อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 15.มูลนิธิพัฒนาศักยภาพเยาวชน (ไทยัพ) 16.สำนักข่าวเด็กและเยาวชน จังหวัดพะเยา 17.ชมรมเครือข่ายครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 18.คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) 19.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 20.มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และ 21.มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง