ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

จี้สภาวิชาชีพสายสุขภาพสังคายนารับอาเซียน สกอ.แนะรื้อ'ใบวิชาชีพ-อำนาจควบคุมม.' แพทยสภารับไร้โรดแมปเตรียมกำลังคน

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "การเปิดเสรีอาเซียน : การเตรียมกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศไทย" ว่า ตนเสนอให้สภาวิชาชีพเป็นหน่วยงานหลักในการจัดเตรียมแผนรองรับกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ เนื่องจากสภาวิชาชีพเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลครบถ้วนทั้งความต้องการ และการผลิตรวมถึงการกำกับคุณภาพการผลิตอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากฝากคือ ขอให้ช่วยพิจารณาขอบเขตของกฎเกณฑ์ในการกำกับการผลิตบัณฑิตในแต่ละสาขาของสภาวิชาชีพ ซึ่งบางครั้งมีความยากเกินไป เช่น สภาการพยาบาลมีการลงไปกำกับติดตาม และตรวจประเมินเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรเป็นรายปี หากนักศึกษาเข้าเรียนปีแรกในขณะที่หลักสูตรผ่านเกณฑ์ แต่พอถึงปี 2 หรือปี 3 หลักสูตรไม่ผ่านเกณฑ์ก็กลายเป็นปัญหาขึ้นมา หรือการที่สภาเทคนิคการแพทย์ กำหนดให้ต้องใช้ ศาสตราจารย์ (ศ.) และดอกเตอร์ (ดร.) ในการสอนนักศึกษาปริญญาตรี ซึ่งถือว่าเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานของสถาบันอุดมศึกษาที่กำหนดให้อาจารย์ผู้สอนระดับปริญญาตรีมีความรู้ทั่วไปก็เพียงพอแล้ว เป็นต้น

"ผมคิดว่าน่าจะต้องมีการสังคายนาเรื่องใบประกอบวิชาชีพกับอำนาจในการควบคุมหลักสูตรของสภาวิชาชีพ ทั้งในส่วนของแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเทคนิคการแพทย์ใหม่ รวมถึงคุรุสภาในฐานะสภาวิชาชีพครูด้วย โดยส่วนตัวเห็นด้วยว่า ควรมีสภาวิชาชีพในการกำกับดูแลมาตรฐาน แต่มันเหมาะสมหรือไม่ที่จะลงไปดูทุกกระเบียดนิ้ว ผมเห็นด้วยกับการลงไปกำหนดจำนวนการผลิตนักศึกษาที่เหมาะสมกับศักยภาพของสถาบัน แต่เห็นว่าสภาวิชาชีพไม่ควรลงไปกำหนดถึงกระบวนการในการผลิต ไม่เช่นนั้นต่อไปหากเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว อาจเจอกรณีนักศึกษาที่เรียนสถาบันต่างประเทศที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพทันที แต่อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ในการประกอบอาชีพในไทยได้" นพ.กำจรกล่าว

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ที่ปรึกษานายกแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาได้มีการ ปรับตัวเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน โดยการปรับหลักเกณฑ์การขอใบประกอบวิชาชีพให้มีความเป็นสากล โดยจะไม่ปิดกั้นการเข้ามาของกลุ่มแพทย์ที่มีฝีมือ เพื่อให้วงการแพทย์ไทยเกิดการพัฒนาต่อไป อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าที่ผ่านมาแพทย สภาไม่ได้มีการจัดทำโรดแมย เพื่อเตรียมกำลังคนในด้านนี้ให้เพียงพอ แต่แนวทางเบื้องต้นจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน อาทิ โรงพยาบาลเอกชนที่มีศักยภาพและเสนอ ตัวเข้ามาช่วยผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ได้มีสิทธิผลิตแพทย์เข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นผลดี เพราะหากยังคง จำกัดการผลิตแพทย์ให้อยู่ในวงแคบ ต่อไปอาจมีหมอลาว หมอพม่า เข้ามาแทนที่ หมอไทย

นายกฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า ปัจจุบันสภาการพยาบาลได้วางแผนการผลิตพยาบาล จำนวน 9,000-10,000 คนต่อปี จนถึงปี 2556 ซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นอัตราที่เหมาะสมกับการรองรับการขยายบริการด้านสุขภาพ โดยพิจารณาจากค่าประมาณความต้องการกำลังคนของทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม หากต้องการขยายเพิ่มมากกว่านี้ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขาดแคลนอาจารย์พยาบาล เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีการลงทุนพัฒนาเพื่อเพิ่มจำนวนอาจารย์พยาบาลเลย ดังนั้น หากต้องการเพิ่มจำนวนพยาบาล ควรเป็นความร่วมมือทั้งในระดับนโยบายภาครัฐ ร่วมกับสภาวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสถาบันฝ่ายผลิต

ที่มา : นสพ.มติชน 30 พ.ค. 55