ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เปิดเผยว่า ประกาศ สปส.เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินยังคงยึดนิยามคำว่าฉุกเฉินตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนดเป็นหลัก แต่เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้นจึงเพิ่มคำอธิบายในลักษณะยกตัวอย่างเป็นกลุ่มโรคลงในประกาศ

"ผู้ป่วยยังคงได้สิทธิ แม้ว่าจะไม่เข้าข่ายกลุ่มโรคเหล่านั้น" นพ.สุรเดช กล่าว

นพ.สุรเดช กล่าวว่า ประกาศของสปส.ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.)สามารถบังคับใช้ได้โดยไม่มีปัญหายืนยันว่า นิยามคำว่าฉุกเฉินไม่ได้ทับซ้อนกับประกาศของ สพฉ.

ด้าน นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่าการออกประกาศเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินควรเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้ง 3 กองทุนได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สปส. และกรมบัญชีกลาง ไม่เช่นนั้นจะเกิดความสับสนขึ้นโดยเฉพาะกับหน่วยบริการ

นพ.พงศธร กล่าวว่า หลักการของโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวของรัฐบาลชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นว่า ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้โดยโรงพยาบาลไม่ถามสิทธิ แต่หากมีการกำหนดนิยามที่แตกต่างหรือมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน ท้ายที่สุดแล้วโรงพยาบาลก็จะต้องถามสิทธิผู้ป่วย

ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องมีรูปแบบการประเมินผลโครงการที่ชัดเจน เช่นตั้งคณะกรรมการขึ้น 1 ชุด เพื่อประเมินว่าภายใน 3 เดือน 6 เดือน โครงการเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้บอร์ด สปส.ได้เห็นชอบร่างประกาศหลักเกณฑ์และอัตราการบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินและประสบอันตราย โดยท้ายประกาศได้แนบ 13 กลุ่มโรค ขณะที่ สพฉ.ได้กำหนดนิยามคำว่าฉุกเฉินตามอาการแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามความเสี่ยงต่อชีวิต ได้แก่ สีแดง เหลือง และเขียว