ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ประกาศใช้ดีอาร์จีรุ่นที่ 5 สำหรับให้หน่วยบริการเบิกจ่ายผู้ป่วยใน  ชี้จัดกลุ่มโรคเพิ่มมากขึ้นกว่าดีอาร์จีรุ่นที่ 4 ถึง 530 โรค ครอบคลุมโรคมากขึ้น สะท้อนต้นทุนเป็นจริง เผยการเปลี่ยนรุ่นเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงมากขึ้น    ชี้ ดีอาร์จีรุ่นที่ 5 พัฒนาต่อเนื่องโดยทีมวิจัยอิสระ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ผ่านการประชาพิจารณ์ 2 ครั้งจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และเพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยบริการสับสน ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพได้ตกลงว่าจะใช้ดีอาร์จีรุ่นเดียวกัน ย้ำกรมบัญชีกลางและสปส.ประกาศใช้มาก่อนหน้านี้แล้ว  

นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า  เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา สปสช.ได้ประกาศให้มีการใช้ดีอาร์จีรุ่นที่ 5 (DRGs Version 5) สำหรับการจ่ายเงินชดเชยผู้ป่วยในให้กับโรงพยาบาล โดยสปสช.ได้ใช้ ดีอาร์จี หรือระบบการวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnostic Related Groups) เป็นเครื่องมือในการจ่ายชดเชยผู้ป่วยในให้กับโรงพยาบาลมาตั้งแต่ปี 2546 โดยใช้ตั้งแต่รุ่นที่ 3 เปลี่ยนมาเป็นมารุ่นที่ 4 และปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 5 ซึ่งเป็นรุ่นที่ใหม่กว่าและมีการปรับปรุงในรุ่นก่อนหน้าให้มีความละเอียดสะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงมากขึ้น เช่น รุ่นที่สาม มีการจัดกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม 1,283 กลุ่ม รุ่นที่ 4 การจัดกลุ่มเพิ่มเป็น 1,920 กลุ่ม และรุ่นที่ 5 จัดกลุ่มโรคและหัตถการเพิ่มขึ้นเป็น 2,450 กลุ่ม ซึ่งมีความละเอียดมาก ส่งผลให้น้ำหนักสัมพัทธ์ที่ได้มีความสอดคล้องกับการวินิจฉัยโรคและหัตถการมากขึ้น และเพื่อป้องกันความสับสนของโรงพยาบาลทั่วประเทศในการเบิกเงินชดเชยจากกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุนได้ตกลงร่วมกันว่าจะประกาศใช้ดีอาร์จีรุ่นเดียวกันและทั้งกรมบัญชีกลางและสำนักงานประกันสังคมก็ได้มีการประกาศใช้มาก่อนหน้านี้แล้ว               

รองเลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า  ระบบการวินิจฉัยโรคร่วมหรือดีอาร์จี มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยคณะนักวิจัยอิสระ  จากมหาวิทยาลัยนเรศวร  ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี มีการใช้ข้อมูลการให้บริการจริงจากโรงพยาบาลทั่วประเทศที่บันทึกเพื่อขอเบิกค่าใช้จ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการข้าราชการจนเป็นที่ยอมรับของหน่วยบริการต่างๆ และต่างประเทศได้ส่งนักวิชาการมาเรียนรู้ ประสบการณ์ของไทยอย่างกว้างขวาง   อย่างไรก็ตาม สำหรับดีอาร์จีรุ่นที่ 5 นั้น  หลังจากคณะวิจัยได้ทำการศึกษามาระยะหนึ่งได้มีการประชุมระดมสมองและประชาพิจารณ์ครั้งที่ 1 ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 และเมื่อจัดทำต้นร่างแล้ว ได้จัดประชุมเพื่อระดมสมองและประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 สิงหาคม 2553 โดยการประชาพิจารณ์ทั้ง 2 ครั้ง มีตัวแทนจากกระทรวงสาธารรสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลเอกชน สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ราชวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เช่น ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยเข้าร่วม เป็นต้น               

“การนำดีอาร์จี เวอร์ชั่น 5 มาใช้นับเป็นเรื่องใหม่ต่อหน่วยบริการ เพราะมีการเพิ่มกลุ่มโรคมากกว่ารุ่นที่ผ่านมาเพื่อให้ครอบคลุม และรายงานผลการตรวจตรงตามความเป็นจริงมากขึ้น สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดย ดีอาร์จีรุ่นที่ 5 มีการจัดกลุ่มเพิ่มจาก ดีอาร์จีรุ่นที่ 4 จำนวน 530 กลุ่ม การที่มีกลุ่มเพิ่มขึ้นเกิดจากมีการแยกกลุ่มโรคผู้ป่วยในระยะกึ่งเฉียบพลันและไม่เฉียบพลัน และการแยกคนไข้ที่มีการเจาะคอไปสร้างเป็นกลุ่มใหม่เพิ่มแทนการจัดไว้เฉพาะ เหมือนดีอาร์จีนรุ่นที่ 4  และการเพิ่มกลุ่มที่นอนโรงพยาบาลไม่เกิน 6 ชั่วโมง ซึ่งในดีอาร์จี รุ่นที่ 4 และ ดีอาร์จี รุ่นที่ 5 มีกลุ่มที่เหมือนกัน 1,767 กลุ่ม ในจำนวนนี้  เมื่อเปรียบเทียบกันพบว่า ในดีอาร์จีรุ่นที่ 5 มีค่า RW  (การจ่ายค่าน้ำหนักตามแต่ละกลุ่มโรค หรือค่าน้ำหนักสัมพัทธ์)  มากกว่าใน ดีอาร์จีรุ่นที่ 4 อยู่จำนวน 771 กลุ่ม และมีค่า RW น้อยกว่าในดีอาร์จี รุ่นที่ 4 อยู่จำนวน 992 กลุ่ม กล่าวโดยสรุปแล้วใน ดีอาร์จีรุ่นที่ 5   เมื่อดูภาพรวมแล้ว  มีทั้งกลุ่มที่มี RW เพิ่มขึ้น และกลุ่มที่ RW ลดลง  มิใช่ลดลงทั้งหมด เพราะหลักการของดีอาร์จี เมื่อมีกลุ่มที่มีค่าเพิ่ม จะต้องเป็นการไปลดมาจากกลุ่มอื่นๆ อีกประการหนึ่ง ใน ดีอาร์จีรุ่นที่ 5 นี้ ได้ทำการปรับปรุงค่า RW ให้เหมาะสมขึ้นจากข้อวิจารณ์ต่อดีอาร์จีรุ่นที่ 4 ที่ว่าค่า RW ส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มให้กับหน่วยบริการขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดความสมดุลยิ่งขึ้นในดีอาร์จีรุ่นที่ 5 นี้” นพ.วีระวัฒน์ กล่าว