ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"เก่าไปใหม่มา" เป็นสัจธรรมที่ เกิดขึ้นกับทุกวงการ "ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "นายมาร์ค เคนท์" เอกอัครราชทูตอังกฤษคนใหม่ประจำประเทศไทย ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน ถึงพันธกิจและวิสัยทัศน์ ทั้งความสัมพันธ์ทางด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนสถานการณ์ความสุ่มเสี่ยงเศรษฐกิจโลก วิกฤตการเงินในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

- พันธกิจหลังรับตำแหน่งใหม่

พันธกิจและวิสัยทัศน์ในฐานะ "เอกอัครราชทูต" อังกฤษประจำประเทศไทย คือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษ นโยบายของอังกฤษในด้านการค้า คือการสนับสนุนการค้าเสรี เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจโลก รวมทั้งในเอเชียและไทย ซึ่งเศรษฐกิจกำลังเติบโตดี เมื่อเทียบกับประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ในฐานะทูตและรัฐบาลอังกฤษต้องการเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้น

ปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับอังกฤษก็เป็นเรื่องสำคัญ รู้สึกยินดีที่มีบริษัทไทยไปลงทุนในอังกฤษ และบริษัทอังกฤษเข้ามาลงทุนในไทย ทำให้การค้ามีการเติบโต ขณะที่ด้านการท่องเที่ยว ก็มี นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ เข้ามาท่องเที่ยวในไทยประมาณ 8.5 แสนคนต่อปี และมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปยังประเทศอังกฤษเฉลี่ยต่อปีราว 6 หมื่นคน รวมนักเรียนที่ไปศึกษาต่อด้วย

จากที่ชาวไทยส่วนใหญ่ชื่นชอบฟุตบอลอังกฤษ โดยเฉพาะลีกคัพของอังกฤษ อย่างพรีเมียร์ลีก ซึ่งมีแฟนชาวไทยเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้มีส่งเสริมการท่องเที่ยวเกี่ยวกับฟุตบอล เช่น การพาทัวร์สนามฟุตบอลชื่อดัง เช่น สนามโอลด์แทรฟฟอร์ด ของสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สนามแอนฟิลด์ ของสโมสรลิเวอร์พูล หรือสนามเอมิเรตส์ ของสโมสรอาร์เซนอล รวมถึงการที่ อังกฤษเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิก ในช่วงที่ผ่านมา จึงอยากสนับสนุนหรือเชื่อมต่อด้านการกีฬา

ในส่วนของด้านการศึกษานั้น มีนักเรียนไทยจำนวนมากไปศึกษาต่อที่อังกฤษ ทั้งระดับมัธยมและอุดมศึกษา เนื่องจากสถาบันการศึกษาในอังกฤษมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ นอกจากนี้ ในประเทศไทยก็มีสถาบันสอนภาษาบริติช เคาน์ซิล คอยให้คำแนะนำด้านการศึกษาต่อที่อังกฤษ และการเรียนภาษา อังกฤษ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจากอังกฤษ อย่างมหาวิทยาลัยเซ็นทรัล แลนคาเชียร์ ก็เตรียมเปิดสาขาที่เมืองไทย มีหลักสูตรและบุคลากรจากอังกฤษเข้ามาทำการสอน ทำให้เกิดการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับประชาชน

- การขยายตัวทางการค้าไทยกับอังกฤษ

สำหรับความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่าง 2 ประเทศช่วงปีที่ผ่านมานั้น มีการค้าระหว่างกันประมาณ 5 พันล้านปอนด์ แบ่งเป็นด้านการค้า 3.84 พันล้านปอนด์ และด้านบริการ 1.56 พันล้านปอนด์  ซึ่งด้านการค้านั้น อังกฤษส่งออกมายังไทย 1.36 พันล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปี 2553 และนำเข้าสินค้าจากไทย 2.48 พันล้านปอนด์ ลดลง 1% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ อังกฤษส่งออกสินค้ามายังไทยเกือบ 1 พันล้านปอนด์ คิดเป็นเพิ่ม 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ไทยส่งออกสินค้าไปยังอังกฤษ 1.42 พันล้านปอนด์ ลดลง 1.5%

ส่วนตัวเลขด้านสินค้าบริการนั้น อังกฤษส่งออกด้านบริการมายังไทย 520 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 9.7% เมื่อเทียบปี 2553 และนำเข้าสินค้าบริการจากไทย 636 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบปีก่อน

"เศรษฐกิจในเอเชียกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะไทยมีการคาดการณ์เติบโตเฉลี่ยในปีนี้ที่ 5-6% เทียบกับการเติบโตในเอเชีย ก็ถือว่าโตในระดับเดียวกัน นักลงทุนและนักธุรกิจของอังกฤษกำลังดูโอกาสเพื่อเพิ่มการค้าการลงทุนในไทย และมีบริษัทอังกฤษหลายบริษัทที่ลงทุนในไทยมานาน

ส่วนการขยายตัวเพื่อรองรับการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ก็อาจใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการค้าเพื่อขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ และรู้สึกว่าความสนใจของนักลงทุนอังกฤษที่มีต่อไทยกำลังเพิ่มขึ้น ส่วนเศรษฐกิจอังกฤษตอนนี้ค่อนข้างคงที่ ปีหน้าคาดว่าจะเริ่มขยายตัวอีกครั้ง ซึ่งจากการจัดอันดับ อังกฤษเป็นประเทศที่มีการลงทุนเป็นอันดับ 8 ของโลก จึงยินดีต้อนรับการลงทุนจากทั่วโลก"

- ความคืบหน้า FTA ไทย-อียู

ท่านฑูตอังกฤษกล่าวว่า ในส่วนของความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อเปิดการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) อังกฤษในฐานะประเทศสมาชิกของอียู คาดว่าน่าจะมีการเริ่มเจรจาเรื่องดังกล่าวปลายปีนี้ หลังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ได้หารือกับนายเฮอแมน วามรอมเปย ประธานคณะมนตรียุโรป ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เดือนที่ผ่านมา

สำหรับการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพี สินค้าไทยบางรายการในปี 2557 และ 2558 เป็นเงื่อนไขที่อังกฤษจะต้องปฏิบัติตามกรอบที่อียูกำหนดไว้ในฐานะประเทศสมาชิก และการใช้จีเอสพีนั้นเหมาะกับประเทศที่มีการพัฒนาค่อนข้างต่ำ จึงไม่เหมาะกับไทย เพราะไทยพัฒนารายได้ดีกว่านั้น ฉะนั้นกรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยกับอียูที่เหมาะสมที่สุดคือเอฟทีเอ โดยไทยควรจะเปิดเสรีทางการค้ากับอียูแบบทวิภาคี ก่อนจะมีการเปิดเสรีการค้าแบบพหุภาคีระหว่างอียูกับอาเซียน ซึ่งขณะนี้อียูมีการเจรจาและเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศสมาชิกอาเซียนบางส่วนแล้ว

ความพยายามในการรวมตัวกันของประชาคมอาเซียนนั้นค่อนข้างสมเหตุ สมผล เป็นการเริ่มต้นจากการปฏิบัติ ขั้นตอนต่อไปก็คือการรวมตัวกันทาง การค้า เรื่องสำคัญคือการสร้างบรรยากาศ หรือสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการลงทุน อีกปัจจัยคือเรื่องความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และการวิเคราะห์ด้านความได้เปรียบทางการแข่งขันของแต่ละประเทศ

ในส่วนของไทยนั้นมีโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ดี แรงงานมีทักษะฝีมือขั้นสูง หากไทยจะเคลื่อนตัวไปข้างหน้าในขั้นที่สูงกว่าอาจสูญเสียการผลิตขั้นต่ำ ก็คิดว่าเป็นไปตามกลไกทางเศรษฐกิจ ไทยยังมีแรงงานทักษะฝีมือที่จะตอบสนองความต้องการของบริษัทที่เข้ามาลงทุน เช่น บริษัทจากอังกฤษมองถึงโอกาสที่จะเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มในไทย เช่น ด้านวิศวกรรม ด้านยา หรือแม้ด้านพลังงาน

สิ่งสุดท้ายที่เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยคนใหม่หวังไว้ คือต้องการเห็นความร่วมมือระหว่างไทยกับอังกฤษพัฒนาไปในทางที่ดี ทั้งเรื่องการค้า และปัญหาระดับโลก เช่น ปัญหาโลกร้อน โรคระบาด ผู้อพยพ และการต่อต้านผู้ก่อการร้าย รวมถึงต้องการให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไปเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการ

- ได้รับผลกระทบจากวิกฤตยุโรปมากน้อยแค่ไหน

ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิกที่ใช้สกุลเงินยูโร (ยูโรโซน) อังกฤษก็ได้รับผลกระทบ ส่วนไทยและเอเชียกระทบน้อยกว่า แต่กรอบการค้าและการเมืองของอียูเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เช่นเดียวกับการรวมตัวของยุโรปเป็นเรื่องที่ดี ที่ทำให้กลุ่มประเทศยุโรปมีการพัฒนา และมีประทศสมาชิกเพิ่มมากขึ้น แต่หากเป็นเรื่องในด้านเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ควรมี การแก้บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง และมีเครื่องมือทางเศรษฐกิจ เพราะหากมีเหตุผลทางด้านการเมืองเพียงอย่างเดียว อาจไม่ประสบความสำเร็จ

การที่กลุ่มยูโรโซนกำลังวางแผนเพื่อรวมตัวกันทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะการใช้เงินสกุลเดียวกันต้องมีเครื่องมือจัดการที่เหมาะสม แต่เนื่องจากอังกฤษไม่ได้ใช้สกุลเงินยูโร จึงเข้าไปแทรกแซงยูโรโซนไม่ได้ แต่ในฐานะประเทศสมาชิกก็จะให้การสนับสนุนความพยายามในการแก้วิกฤต และต้องการให้การแก้ปัญหาประสบความสำเร็จ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 - 14 ต.ค. 2555--

เรื่องที่เกี่ยวข้อง