ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันคนไทยใช้เงินสำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ กว่าร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลาง (middle-income country) ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพดังกล่าวมีอัตราที่เพิ่มสูงกว่าอัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) แต่ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยกลับยังมีปัญหาในเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ขาดประสิทธิภาพ ผลลัพธ์และคุณภาพการรักษาขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นอยู่ระบบหลักประกันสุขภาพระบบใด

ระบบประกันสังคมที่ดูแลผู้ประกันตน 10.2 ล้านคน เป็นเพียงระบบเดียวที่เป็นสวัสดิการสังคม (social health insurance) ที่ผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล ต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล สิทธิประโยชน์ การบริหารจัดการ ของระบบประกันสังคมก็ยังด้อยกว่าระบบอื่นๆ ขณะที่คนไทยที่เหลือกว่า 55 ล้านคนใช้ระบบภาษี โดยไม่ต้องจ่ายเพิ่มอีก สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องร่วมกันหาทางออกให้กับระบบหลักประสุขภาพไทย ร่วมกัน

เอกสารฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งจากโครงการการจัดทำข้อเสนอทางเลือกและรูปแบบการบริหารจัดการสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลของระบบประกันสังคมในอนาคตปี 2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย เข้าใจถึงหลักพื้นฐานของการประกันสุขภาพ สภาพปัญหา และทางออกของระบบหลักประกันสุขภาพไทย ด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของไทยในอนาคต เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ มีประสิทธิภาพและคุณภาพของระบบหลักประกันสุขภาพของไทยในอนาคตต่อไป