ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

“บางกลุ่มเข้าใจว่าผมจะมาล้มระบบ ไม่เข้าใจว่าผมอยากทำระบบให้ยั่งยืน..." นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ย้ำถึงนโยบายการปฏิรูประบบสาธารณสุข ที่บางฝ่ายมองว่าเป็นการแทรกแซงจากการเมือง...

นั่นเพราะเขา ถูกแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย ในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งเป็นช่วงที่ถูกกระแสต่อต้านจากภาคเอ็นจีโอ เพราะเชื่อว่ามาจากเสียงของการเมือง เมื่อรับตำแหน่งเจ้ากระทรวงหมอ ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าการบริหารว่าจะออกมาในรูปแบบใด และแม้ว่า จะมีดีกรีเป็นแพทย์ แต่ก็เป็นแพทย์นักบริหาร ที่ภายหลังจบแพทยศาสตร์บัณฑิต ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ผันตัวเองศึกษาด้านบริหารงาน สธ.ระหว่างประเทศ จนจบปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา กลายเป็นแพทย์นักบริหารในองค์กรภาคธุรกิจมากมาย

ล่าสุดรับหน้าที่กุมบังเหียนนโยบายด้านสาธารณสุขระดับชาติ มีโอกาสสัมภาษณ์รัฐมนตรีหน้าใหม่ กับการทำงาน ในตำแหน่งที่ไม่ง่ายนัก

"การปฏิรูประบบสุขภาพ เป็นเพียงวิธีการ แต่เป้าหมาย คือ ต้องการจัดระบบสุขภาพให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เมื่อมาเป็นรัฐมนตรี ทำให้พบว่า การจะมีคุณภาพต้องทำหลายอย่าง เริ่มจากการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า บริหารตรงจุด ใช้บุคลากรสาธารณสุขอย่างเหมาะสม ค่าตอบแทน ต้องเป็นธรรม และยังควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไม่ให้บานปลาย"

นพ.ประดิษฐ บอกว่า ที่ผ่านมาก็พยายามทำให้เห็นว่าไม่มีนอกไม่มีใน แต่การทำงานที่มีการปรับเปลี่ยน ก็เป็นเรื่องปกติ แต่ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารครั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงการรวมสามกองทุนสุขภาพภาครัฐ เพราะทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ มีที่มาต่างกัน

สาเหตุของการปฏิรูป ส่วนหนึ่งมาจากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ 6-7 หมื่นล้านบาท พุ่งขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12 ของงบประมาณทั้งประเทศ หรือคิดเป็นค่าจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) กว่าร้อยละ 3 บางคนบอกว่าประเทศเจริญใช้กว่าร้อยละ 10 ซึ่งหากศึกษาอย่างละเอียดจะพบว่า ประเทศที่ใช้งบมากมาย โอกาสล้มละลายในระบบสุขภาพมีสูง

เมื่อมาดูในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ปัจจุบันให้บริการประชากรราว 48 ล้านคน มีคนมาใช้ในระบบจริง 32 ล้านคน และในจำนวนนี้มีคนมาใช้บริการทางการแพทย์มากกว่าเดือนละ 1 ครั้งประมาณ 8 แสนคน- 1 ล้านคน ส่วนอีก 31 ล้านคนมาหาหมอเพียง 4 ครั้ง ต่อปี แต่งใช้งบสูงเกือบ 2 แสนล้านบาท

เห็นชัดว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงมาก จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนระบบการจัดซื้อยาร่วมกัน เปลี่ยนการบริหารโดยใช้รูปแบบแบ่งปันทรัพยากร โดยก่อนอื่นต้องทำให้ สธ. มีหน้าที่ชัดเจนก่อน โดยแบ่งบทบาทหน้าที่ ดังนี้ 1.การเป็นผู้ให้บริการ (provider) จัดเป็นเครือข่ายบริการสุขภาพ 12 เขตพื้นที่ แต่ละพื้นที่มี 4-5 จังหวัดมาตั้งเป็นเครือข่ายบริการเดียว โดยให้โรงพยาบาลในพื้นที่เดียวกันมาใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า เช่น โรงพยาบาล (รพ.) ขนาดเล็ก มีห้องผ่าตัด แต่หมอไม่กล้าผ่าตัด เพราะกลัวปัญหาฟ้องร้อง ต้องแก้ไข เพราะจะยุบห้องผ่าตัดไม่ได้ เนื่องจากเป็นมาตรฐานต้องมี จึงให้ใช้วิธีแชร์การใช้ห้องผ่าตัดระหว่างแพทย์จาก รพ.ใหญ่ ซึ่งตรงนี้ รพ.เล็ก ยังสามารถเรียกเก็บค่าห้องผ่าตัดได้ และแพทย์ รพ.เล็ก ก็ยังฝึกฝีมือการผ่าตัดได้ด้วย

นอกจากนี้ ควรให้มีการแชร์การใช้แพทย์ร่วมกันในเครือข่ายเดียว คล้ายๆ การทำงานนอกเวลานอกสถานที่ อย่างแพทย์ รพ.ใหญ่ เมื่อทำงานเสร็จก็ให้ไปเข้าเวรอีก รพ.ซึ่งก็จะได้รายได้เพิ่ม อีกทั้ง กรณีที่ห้องผ่าตัดใน รพ.รัฐเต็มจริงๆ ให้ไปเช่า รพ.เอกชนผ่าแทน อย่าไปคิดว่าเอื้อเอกชน เพราะหากเตียงเต็มก็เช่า รพ.เอกชนได้ เราต้องยึดประโยชน์คนไข้ ที่สำคัญนโยบายนี้จะไม่มีการแข่งกันระหว่าง รพ.อย่าง รพ.นี้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ก็จะมีเครื่องมือด้านนี้เฉพาะอีก รพ.เก่งอีกด้านก็ซื้อเครื่องมืออีกชนิด จะลดการซื้อเครื่องมือซ้ำซ้อน2.การเป็นผู้ดูแลระดับนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Authority) โดยกำหนดบทบาทให้กรมวิชาการต่างๆ ใน สธ. ร่วมกันจัดทำบทบาทของตนเองให้เชื่อมโยงกับภายนอกและภายในกระทรวง และแยกให้ชัดเจนว่าเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ โดยทำหน้ากำหนดมาตรฐานของประเทศให้ทุกฝ่ายได้ใช้ร่วมกัน

3.ศูนย์ข้อมูลสุขภาพระดับชาติ (National Health Information) เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มี เพราะกองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุนแยกกันชัดเจน ด้วยเหตุนี้ข้อมูลด้านสุขภาพฯ จะมาจากการทำหน้าที่ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในเรื่องการเบิกจ่ายกลาง ของนโยบายบูรณาการ 3 กองทุน โดยปัจจุบันจะดูแลคนในสิทธิ 48 ล้านคน แต่หากสองกองทุนเข้ามาจะมีข้อมูลพื้นฐานสุขภาพสูงถึงร้อยละ 99 จะขาดอยู่ อปท. รัฐวิสาหกิจ หากทำได้ประเทศก็จะมีข้อมูลพื้นฐานสุขภาพทั้งหมด ที่สำคัญต่อไปหาก สปสช.จะซื้อบริการหรือเพิ่มสิทธิประโยชน์ใดก็จะทราบว่า กลุ่มโรคหรือเรื่องใดจำเป็นบ้าง ซึ่งจะลดการตั้งกองทุนโรคที่ซ้ำซ้อนได้

เมื่อมีการแบ่งบทบาทหน้าที่แล้ว ในเรื่องการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัว ต้องแก้ตั้งแต่ต้นน้ำ เพราะ สปสช.เมื่อกระจายงบไปแต่ละจังหวัด ไม่ผ่านความคิดเห็นในการร่วมตัดสินใจจาก สธ. ทำให้ไม่ทราบบริบทของ รพ.บางแห่งว่า ภารกิจไม่เท่ากัน แต่สธ. เป็นหน่วยงานที่ดูแลรพ.เหล่านี้ จะทราบดี ซึ่งหากร่วมกันทำงานจะเกิดประโยชน์สูงสุด

ในเรื่องบุคลากร ต้องจัดทำแผนในการบริหารให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการรับไม่อั้น และหากได้รับบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ต้องห้ามขอย้าย หรือยืมตัวเด็ดขาด อย่าง รพ.มีบุคลากร 500 คน แต่วิเคราะห์แล้วจำเป็นเพียง 300 คน ที่เกินมา 200 คนแม้จะอยู่มานาน ก็ต้องไปอยู่ รพ.อื่นๆ จะได้ไม่เกิดการจ้างเกินส่วนค่าแรงต่างๆ นั้น ยังมีช่องว่างมาก โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล ต้องให้เท่าเทียม เช่น แพทย์ได้เงินเดือน 50,000 บาท พยาบาลได้ 3-4 พันบาท ไม่ถูกต้อง ต้องลดช่องว่างลง โดยอาจกำหนดให้ได้ 20,000 บาทตายตัว และอีก 30,000 บาทให้เอางานมาแลก

การปฏิรูปดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี จะเริ่ม เห็นผล โดยในปี 2556 จะมุ่งไปที่ปรับโครงสร้างของ สธ. การบริหารต่างๆ และในปี 2557 จะเริ่มปรับวิธีการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าต่อไป

"ผมเข้าใจว่า การทำอะไรย่อมต้องมีความเห็น ที่แตกต่าง แต่หากทุกอย่างมีความเป็นธรรม ก่อ ประโยชน์ในภาพรวมย่อมมีคนเห็นด้วย" นพ.ประดิษฐกล่าวทิ้งท้าย

นโยบายย่อยเพื่อคนไทย

จับใจความการเดินหน้านโยบายสร้างคุณภาพชีวิตของ รัฐมนตรี สธ. ได้ว่า อันดับหนึ่งต้องสร้างสุขภาพพื้นฐานให้แก่ประชาชนทั่วไป เนื่องจากมีข้อมูลว่า คนกรุงเทพฯและปริมณฑลซื้อยากินเอง ร้อยละ 72 โดยไม่รับการบริการสาธารณสุข ทั้งๆ ที่มีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค

การบริการสุขภาพแนวใหม่ต้องมีการทำงานเชิงรุก ให้ประชาชน หันมารับบริการสุขภาพจากภาครัฐมากขึ้น ดังนั้น จะมีการเปลี่ยนรูปแบบตามกลุ่มอายุแต่ละช่วงวัยเช่น หญิงตั้งครรภ์ต้องได้รับการตรวจครรภ์อย่างน้อย 4-5 ครั้งก่อนคลอด ทำคลอดโดยแพทย์

เด็กวัย 7-18 ปี เน้นการเตรียมตัวให้มีสุขภาพ กาย และใจ ที่ แข็งแรงในอนาคต วัย 19-60 ปี เน้นเรื่องการรักษาสุขภาพให้ดี ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ และวัย 60 ปีขึ้นไป เป็นวัยสูงอายุ ดูแลการซ่อมแซมร่างกาย เป็นต้น

ปรับการทำงานของหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เน้นควบคุมด้านอาหารและยา ทั้งๆ ที่ควรทำด้านการส่งเสริมด้วย โดยเฉพาะการส่งเสริมมาตรการการส่งออก รวมทั้งควรส่งเสริมให้มีการผลิตยาสามัญ โดยต้องมีข้อมูลว่ายาตัวไหนหมดสิทธิบัตร เพื่อจะได้เข้าหาผู้ประกอบการให้หันมาผลิตยาตัวนั้น โดยอาจมีมาตรการทางภาษีช่วย เป็นต้น

สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) ต้องมีบทบาทต้องคุ้มครองผู้บริโภค โดยต้องทำเกณฑ์ระดับของแต่ละ โรงพยาบาลว่า อยู่ในเกรดอะไร เพื่อให้กำหนดราคาค่าบริการอย่าง สมเหตุสมผล ยิ่งโรงพยาบาลเอกชน ยิ่งต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เหลื่อมล้ำกัน

นโยบายเชิงรุกที่น่าจับตา...

ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ email : catcatt_2927@hotmail.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 24 มกราคม 2556