ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

 “...หากความป่วยไข้ได้เข้ามากลาย เป็นพลังทำให้เราสามารถยกระดับทางปัญญา มีความกล้าหาญที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกต้อง ตลอดจนนำไปสู่วิถีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะยาวนานหรือเพียงชั่วเวลาหนึ่งก็ตาม ก็ถือว่าเราไม่ได้สูญเปล่า”

คำกล่าวข้างต้นเป็นของ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้เปลี่ยนมะเร็งเป็นพลัง...ผู้ที่มีคุณูปการอย่างอเนกอนันต์แก่ระบบบริการสุขภาพประเทศไทย “30 บาท รักษาทุกโรค” ...และยังเป็นผู้ที่ทำให้เกิดเครือข่ายมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน

แพทย์หญิงเรณู ศรีสมิต กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิมิตรภาพบำบัด (มมบ.) บอกว่า นับตั้งแต่วันที่หมอสงวนจากโลกนี้ไป...ถึงวันนี้มูลนิธิฯถือกำเนิดขึ้นมา 5 ปีแล้ว มีศูนย์มิตรภาพบำบัดกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 200 แห่ง ทั้งในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน

เจตนารมณ์คุณหมอสงวน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับจิตใจผู้ป่วย โดยมี 5 วัตถุประสงค์สำคัญ ได้แก่ เพื่อส่งเสริม...ดำเนินกิจกรรมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต เอื้ออาทรต่อกันในครอบครัว สังคม เพื่อส่งเสริม เชิดชูเครือข่ายองค์กร อาสาสมัคร ที่ทำงานมิตรภาพบำบัด, เพื่อสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสาธารณะ รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับงานมิตรภาพบำบัดและเผยแพร่สู่การรับรู้ในสังคม, ส่งเสริม...ฝึกอบรมให้เกิดผู้มีความรู้ความชำนาญ ในการบริหารจัดการเพื่อสร้างทีมงานมิตรภาพบำบัดบนฐานความรู้ทั้งในและต่างประเทศ

สนับสนุนทุน...รางวัล แก่ผู้ดำเนินงานมิตรภาพบำบัดดีเด่นหรือบุคคลผู้มีจิตอาสาดีเด่น และข้อสุดท้าย...ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ ร่วมมือกับบุคคล องค์กรอื่นๆที่มีเป้าหมายเดียวกัน

เพื่อเป็นการรำลึกถึง นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เชิดชูเครือข่ายมิตรภาพบำบัดดีเด่น แพทย์หญิงเรณู บอกว่า วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ เวลา 08.00-17.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ จะจัดงานมหกรรมคนไทยไม่ทอดทิ้งกัน...

 “รวมพลังพื้นที่ รวมพลคนจิตอาสา ร่วมสร้างหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน” ...โดยจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มย่อยแกนนำระดับจังหวัด และสืบสานปณิธานตัวแทนเครือข่ายทุกจังหวัด

ห้ามพลาดบรรยายพิเศษ “จากหลักประกันสุขภาพ สู่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน” โดย นพ.ประเวศ วะสี, ปาฐกถาเกียรติยศ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ครั้งที่ 5 โดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิมิตรภาพบำบัด, ทอล์กโชว์ “จิตอาสา มิตรภาพบำบัด คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน” โดย ศุ บุญเลี้ยง

เล่าสู่กันฟัง... “เพื่อหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน” ประเด็นปลีกย่อย “กว่าจะมีวันนี้” โดยรสนา โตสิตระกูล, “วันนี้ดีอย่างไร” โดยสุรีพร ยุพา, “หมอสงวน ทำให้มีวันนี้” โดยนายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, “จะช่วยกันทำให้มีวันนี้ตลอดไป” โดยสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล

ไฮไลต์สำคัญแจกรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติเครือข่ายจิตอาสาที่ทำงานด้านมิตรภาพบำบัด น่าสนใจว่าบางคนก็เป็นผู้ป่วยมาก่อนที่จะผันตัวเองมาช่วยผู้ป่วยด้วยกัน บางคนก็เป็นผู้บริหารมาช่วยเหลือผู้ป่วย รวมถึงองค์กรต่างๆที่เข้ามาทำงานด้านมิตรภาพบำบัด

สมพร ถมหนวด อายุ 40 ปี ประสบอุบัติเหตุปี 2537 ป่วยทุพพลภาพครึ่งท่อนล่าง...3 ปีผ่านไปเขาเริ่มต่อสู้กับอุปสรรคที่เป็นอยู่ได้จนปัจจุบันสามารถดูแลตัวเอง ขับรถยนต์และขี่จักรยานยนต์เดินทางด้วยตัวเองได้

สมพรเข้าร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ ให้คำปรึกษา แนะนำทักษะการดำรงชีวิตกับคนพิการ รณรงค์อุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนน ร่วมลงพื้นที่กับโรงพยาบาลเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ให้คำปรึกษาฉันเพื่อน

พญ.รุจิรา มังคละศิริ อายุ 57 ปี แพทย์เชี่ยวชาญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ผู้ที่ทำงานพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิงานสาธารณสุขมูลฐานดูแลผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนอย่างเป็นองค์รวม พร้อมๆกับทำงานด้านการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างทัศนคติ ทักษะให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

ปี 2546 คุณหมอล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งรังไข่ รักษาตัวด้วยแพทย์แผนปัจจุบันและธรรมชาติบำบัด โดยเฉพาะการใช้ธรรมโอสถเป็นยาใจดูแลตัวเองด้วยหลัก 6 อ คือ อบอุ่นไอรัก อาหารผักหลากหลาย ออกกำลังกายทุกวันวาร อารมณ์เบิกบาน...ผ่อนคลาย เลี่ยงอันตรายจากสารพิษ และนำชีวิตด้วยอริยมรรคมีองค์ 8

คุณหมอรุจิราได้จัดตั้งเครือข่ายมะเร็งโคราชขึ้นมาโดยนำหลักการมิตรภาพบำบัดมาประยุกต์เข้ากับหลักธรรม ประกอบกับความรู้ ประสบการณ์ตรง ก็ได้ตั้งศูนย์เรียนรู้ขึ้นมาในรูปของ “ค่ายมะเร็ง” ที่อำเภอวังน้ำเขียว มาตั้งแต่ปี 2552

มิตรภาพบำบัดระดับโรงพยาบาล... “โรงพยาบาลศรีสมเด็จ” อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง รองรับพื้นที่ 8 ตำบล มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้พิการจำนวนมากที่ยังมีปัญหาด้านการดูแลตัวเอง ผู้มารับบริการก็มีจำนวนมาก แออัด เจ้าหน้าที่ก็เครียด ได้รับข้อร้องเรียนและข้อเสนอแนะเป็นประจำ

การบริการล่าช้า ไม่ทันใจ...ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ป่วยอย่างน้อยรายละ 2 โรค ต้องใช้เวลาตรวจรักษา จ่ายยานาน...บุคลากรทางการแพทย์ก็จำกัด ต้องตรวจรักษาอย่างเร่งรีบ ทำให้ผู้ป่วย ญาติ ไม่เข้าใจ

มิตรภาพบำบัดถูกนำมาใช้ในการพัฒนาองค์กร ตระหนักถึงการบริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ร่วมกันแก้ปัญหาผู้ป่วยและญาติ ด้วยการสร้างเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

งานมิตรภาพบำบัดเริ่มขึ้นในปี 2549 ปัจจุบันมีกลุ่มเครือข่ายกว่า 10 กลุ่ม อาทิ กลุ่มจิตอาสามิตรภาพบำบัดผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน ดูแลคนพิการ คลินิกโรคเอดส์ กลุ่มข้าวต้มมิตรภาพ เพื่อผู้ป่วยเบาหวาน น่าสนใจว่ากลุ่มต่างๆเหล่านี้ได้บูรณาการด้วยสมาธิบำบัด เสริมการแพทย์แผนปัจจุบันเข้ากับวิถีพุทธ การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าร่างกายจะเจ็บป่วย แต่เมื่อจิตใจเข้มแข็งแล้ว ก็ป้องกัน ควบคุมโรคเรื้อรังได้ผลเป็นอย่างดี

ต้องย้ำว่า “คุณหมอสงวนเป็นผู้เริ่มจุดประกายความคิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายที่มีค่าใช้จ่ายสูง ยึดหลัก...เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข จิตอาสา มิตรภาพบำบัด และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา...ผลที่เกิดขึ้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากทั้งในและนอกประเทศ ตามเจตนารมณ์หมอสงวนเครือข่ายมิตรภาพบำบัดในทุกชุมชนทั่วประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญ ที่จะมาเติมเต็มระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เข้มแข็ง

คุณหมอสงวนกล่าวไว้ว่า ระบบสังคมที่เราต้องการในปัจจุบันต้องเป็นสังคมที่มีจิตสำนึก จิตอาสาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมส่วนรวม... ความเจ็บป่วยทางใจที่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งเป็นความเจ็บป่วยที่สูงและหนักกว่าความเจ็บป่วยทางร่างกายที่เกิดขึ้น ผู้มีทุกข์ย่อมเห็นและเข้าใจความทุกข์ของผู้อื่น

มิตรภาพบำบัดเป็นการเยียวยาจิตใจทั้งผู้ป่วยต่อผู้ป่วย ญาติต่อญาติ รวมไปถึงเพื่อนต่อเพื่อน หรือแม้แต่จากคนที่ไม่รู้จักกัน มาก่อนเลย ซึ่งในยามเจ็บไข้ได้ป่วย...ไม่มีอะไรสำคัญเท่าจิตใจ ที่เข้มแข็ง

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556