ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี และเครือข่ายถกประเด็นการเข้าถึงสิทธิประกันสังคม เสนอให้ทำงานเชิงรุกและป้องกันแทนการตั้งรับ พร้อมรวมตัวรณรงค์ 8 มีนานี้ พร้อมข้อเสนอ 3 ข้อต่อนายกหญิง 1. เพิ่มจำนวน ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กในบริเวณย่านอุตสาหกรรม 2. ให้สัตยาบัน อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 183 เรื่อง การคุ้มครองความเป็นมารดา 3. เพิ่มมิติผู้หญิงในระบบประกันสังคม  โดยขยายการประกันสังคมให้ครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม เพิ่มสิทธิประโยชน์

ในการเสวนา “สะท้อนปัญหาแรงงานหญิงกับการเข้าถึงสิทธิประกันสังคม และสวัสดิการสังคม” วันที่ 6 มีนาคม 2556 ณ.ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ราชดำเนิน กรุงเทพฯ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง

นางสาวอุบล ร่มโพทอง อดีตคนงานไทยเกรียง กล่าวว่า การเรียกร้องกฎหมายประกันสังคมเดิมเรียกร้องมาตั้งแต่ปี 2533 ได้สิทธิมา 3 กรณี เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และตาย กว่าจะเรียกร้องได้สิทธิประโยชน์มาอีก 7 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ว่างงาน ชราภาพ และตาย ก็ต่อสู้กันมานาน ซึ่งหลังจากตกงานได้มาใช้มาตรา 39 เป็นการประกันตนเอง รับสิทธิประโยชน์ 6 กรณีโดยยกเว้นสิทธิกรณีว่างงาน

ช่วงที่ออกจากงานมานั้นเดิมมีปัญหาเรื่องการใช้สิทธิประกันสังคม คนงานไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมอ้างว่า นายจ้างขาดการส่งเงินสมทบ ส่งผลให้คนงานต้องรณรงค์ต่อสู้กว่าจะได้สิทธิกลับมาใช้เวลาถึง 2 ปีเต็ม ปัจจุบันได้เข้าระบบประกันสังคมมาตรา 39 ซึ่งต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ภายใต้ที่ไม่มีนายจ้าง และตกงาน และกลายเป็นผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม โดยแพทย์โรงพยาบาลประกันสังคมได้สั่งตรวจครบจึงพบ กรณีการที่ตนเองป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ที่สามารถตรวจพบได้เร็วอาจเป็นเพราะมีการปรึกษากับเพื่อนๆที่มีความรู้ แต่หากตรวจตามขั้นตอนที่มีการตรวจสุขภาพปกติคงจะไม่ทราบว่าป่วยเป็นมะเร็ง เนื่องจากระบบประกันสังคมไม่มีระบบการเฝ้าระวังหรือตรวจสุขภาพประจำปีที่ครบวงจรสำหรับผู้ประกันตน การตรวจสุขภาพของโรงงานก็จะตรวจเอ็กซเรย์ปอด ตรวจเลือดซึ่งไม่ตรวจอะไรมากมายทำให้ไม่พบอาการที่ป่วยภายในของผู้ประกันตน และหากต้องการที่จะตรวจไปเพิ่มเติมต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก

ตนทำงานมาตั้งแต่อายุ 17-60 ปี ทางเจ้าหน้าสำนักงานประกันสังคมก็จะชวนให้ลาออกจากระบบ ซึ่งจะได้รับเงินบำเหน็จประมาณ 6 หมื่นบาท ซึ่งขณะนี้กองทุนประกันสังคมกำลังจะขยายการรับสิทธิประกันสังคมกรณีชราภาพออกไปเป็นอายุ 60 ปี

สิ่งที่อยากถามสำนักงานประกันสังคทม คือปัญหาที่พบหากผู้ประกันตนมาตรา 39 ไม่จ่ายสมทบติดต่อกัน 3 เดือนก็จะถูกตัดสิทธิแต่หากนายจ้างที่ละเลยการจ่ายเงินสมทบห้กับลูกจ้างทั้งที่เก็บเงินจากลูกจ้างแล้ว กลับไม่ถูกลงโทษใดๆ และการที่นายจ้างไม่นำเงินส่งสมทบนั้น กระทบกับสิทธิลูกจ้างในการเข้าถึงสิทธิ และขาดสิทธิอีกเช่นกัน

นางสาวอารมย์ บุญสม อดีตคนงานตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ อายุ 55 ปี กล่าวว่า ขณะนี้เกษียณอายุแล้วกำลังจะไปใช้สิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีบำเหน็จชราภาพหลังจากเกษียณอายุ และถูกเลิกจ้างเมื่อปี 2555 โดยที่นายจ้างไม่ได้จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่เมื่อไปรับเงินบำเหน็จชราภาพ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าได้สิทธิไม่ครบจะจ่ายเงินบำเหน็จให้เพียง 3 หมื่นกว่าบาทเท่านั้น หากได้เต็มตามสิทธิ์ก็จะได้รับราว 5 หมื่นกว่าบาท เจ้าหน้าที่อ้างว่า นายจ้างจ่ายสมทบไม่ครบ มีการเว้นวรรคการส่งสมทบเป็นช่วงๆ ไม่ต่อเนื่อง จึงทำให้ต้องเสียสิทธิ จึงยังไม่ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีบำเหน็จชราภาพ สิ่งที่สงสัยคือ ทำไมนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบทั้งที่หักเงินจากลูกจ้างทุกเดือน แล้วทำไมประกันสังคมไม่ทำอะไรกับนายจ้าง ทางกฎหมาย และลูกจ้างทำผิดอะไรจึงต้องเสียสิทธิ

นางอ้อยใจ คนทำงานบ้าน กล่าวว่า เป็นผู้ประกันตน ช่วงที่ทำงานเป็นแม่บ้านโรงงาน เมื่อท้องต้องลาออกจากงานเพราะทำงานไม่ไหว และเมื่อคลอดลูกจะได้ดูแลลูกได้ ขณะนี้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งดีที่มีระบบประกันสังคมดูแลช่วงที่คลอดลูก

หลังจากคลอดลูกเลี้ยงลูกเองมาโดยตลอด เพราะอยากอยู่ใกล้ลูก หากส่งลูกกลับไปบ้านก็จะได้รับผลกระทบทางจิตรใจแน่ ตอนนี้ค่าใช้จ่ายมาจากรายได้สามี และหากไปฝากลูกไว้กับศูนย์รับเลี้ยงเด็กคงลำบากเพราะค่าใช้จ่ายสูง ขณะนี้ได้เงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 400 บาทเท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอในการใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก และจะได้รับสิทธินี้เพียง 6 ปีเท่านั้น ซึ่งตนคิดว่า จะสามารถหางานทำได้ในช่วงที่ลูกเข้าเรียนหนังสือ

นายไพรัตน์ ลออเงิน พนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ภรรยาต้องคลอดบุตรด้วยการผ่าตัด ตนจึงต้องลาไปดูแลภรรยาและลูก เพื่อทำหน้าที่ดูแลลูกซึ่งยังเป็นเด็กอ่อน ภรรยายังเจ็บแผลอยู่ การดูแลลูกต้องเป็นหน้าที่ของตนที่เป็นสามี แต่วันลาก็จะหมด ลาบ่อยมากก็ไม่ได้เมื่อต้องไปทำงานเลยต้องใช้วิธีการเตรียมอาหาร อุปกรณ์ปั้มนมไว้ให้กับภรรยาเพื่อไม่ให้เหนื่อยมาก และกลับบ้านก็ต้องรีบซักผ้าอ้อม เสื้อผ้าให้ภรรยา รู้สึกเป็นห่วงสงสารเพราะภรรยายังไม่แข็งแรงพอ

ประเด็นที่อยากเสนอต่อรัฐคืออยากให้ผู้ชายที่เป็นพ่อมีสิทธิในการลาช่วยดูแลลูกช่วยภรรยาด้วย เพราะปัจจุบันที่ได้รับสิทธิมีเฉพาะ่ข้าราชการ แม้ว่าพ่ออาจไม่สามารถที่จะดูแลลูกได้ดีเท่าแม่แต่เราต้องการที่จะช่วยดูแลภรรยา ทำงานบ้านที่ภรรยาเคยทำหาอาหารให้ภรรยาทาน และผู้หญิงที่คลอดลูกใหม่ๆ หากต้องเดินขึ้นลงบันได หรือทำงานหนัก เช่นต้องทำอาหาร ซักผ้า จะเกิดผลกระทบร่างกาย มดลูกในอนาคต จึงอยากให้มีกฎหมายที่ให้ผู้ชายลาไปช่วยดูแลลูกได้

นายแพทย์พูลชัย จิตอนันต์วิทยา กล่าวว่า สิทธิของผู้หญิงไทยต้องไม่ตาย หรือป่วยจากมะเร็งปากมดลูก และเต้านม เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มีผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องตายเพราะป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกและเต้านมเนื่องจากไม่ได้ตรวจเพื่อคัดกรอง ซึ่งปัจจุบันผู้หญิงไทยสามารถที่จะใช้สิทธิ “การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ได้ฟรี”เป็นบริการป้องกันโรคมะเร็งที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)จัดให้กับผู้หญิงไทยตั้งแต่อายุ 30-60 ปีทุกสิทธิการรักษาให้ตรวจฟรีมาตั้ง 8 ปีแล้ว และทุกวันนี้ผู้หญิงไทยตายเพราะป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกวันละ 14 คนหรือเทียบกับ 1 คันรถตู้ทั้งที่มะเร็งปากมดลูกตรวจพบระยะแรก รักษาหายขาดไม่ต้องให้คีโม ไม่ต้องตัดมดลูก

กรณีมะเร็งเต้านม สปสช. และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เน้นให้ผู้หญิงมั่นตรวจได้ด้วยตัวเอง หาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ ข้อง่ายคือตรวจตัวเองได้ เมื่อตรวจพบก็จะส่งไปตรวจเมโมแกรม แต่ต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งโชคร้ายของผู้ประกันตน คือโรงพยาบาลประกันสังคมไม่มีเครื่องตรวจนี้ หมอจะใช้มือในการตรวจมะเร็งเต้านมจึงไม่ค่อยพบอาการที่เริ่มแรกของผู้ป่วยจะพบก็ระยะ 3 แล้ว

เมื่อผู้หญิงมีอาการตกขาว คัน มีตกขาวเลือดติดออกมา เมื่อไปพบแพทย์จะได้ยาเหน็บมาใช้ก่อนเมื่อไปหายก็ไปหาใหม่ การตรวจมะเร็งปากมดลูกก็ไม่น่าอภิรมย์สำหรับผู้หญิง ต้องขึ้นขาหยั่ง ใช้ปากเป็ดถ่างทั้งอายทั้งเจ็บผู้หญิงจึงไม่อยากตรวจ ทำให้ผู้หญิงต้องตายเพราะโรคมะเร็งปากมดลูก สปสช.ได้มีการตรวจมะเร็งปากมดลูกฟรี แต่วันนี้ผู้หญิงยังเข้าไม่ถึง หากต้องเดินไปโรงพยาบาล สปสช. จึงมีการเข้าไปตรวจในสถานประกอบการ ตนเคยตรวจพบว่าป่วยเป็นมะเร็งระยะแรก เมื่อต้องไปโรงพยาบาลก็จะตรวจใหม่อีกครั้ง หากต้องรักษากับแพทย์ในโรงพยาบาล ซึ่งจะตรวจอีกหลายรายการ ตรวจซ้ำเดิมเสียเงินเพิ่ม  ซึ่งขณะนี้ตรวจพบก็จะพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อให้เกิดการรักษา

การปรับเปลี่ยนของประกันสังคมในการดูแลแรงงานหญิงที่ป่วยเป็นมะเร็ง จาก 5 หมื่นบาท เป็น1.3 แสนบาท วันนี้แม้โรงพยาบาลจะได้เงินจากประกันสังคมไปจำนวนมาก แต่ก้ยังไม่มีการซื้ออุปกรณ์ตรวจที่มีคุณภาพ ยังคงส่งตัวผู้ที่ส่งสัยว่าจะป่วยเป็นมะเร็งไปโรงพยาบาลของรัฐ

สิทธิแรก ตรวจมะเร็งเต้านม สิทธิที่สอง สปสช.ตรวจมะเร็งปากมดลูกฟรี หากมีแรงงาน 50 คนขึ้นไปจะเดินทางไปตรวจฟรีถึงโรงงาน และอยากฝากบอกผู้ชายว่าการที่ผู้หญิงป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกนั้น ต้นเหตุมาจากผู้ชายที่มีเชื้อไวรัสHPV ที่สอดใส่และปล่อยทิ้งไว้ที่ปากมดลูกของผู้หญิง และตอนนี้มีบริษัท และโรงพยาบาลมาขายของเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งนั้นไม่ใช่ใช้ได้กับทุกคน เขาให้ฉีดกับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ตอนนี้ได้ต่อรองให้ค่าใช้จ่าย 3 เข็ม 3,500 บาท ขณะนี้แพงเกิดไปในการที่จะจ่ายเพราะต้นทุนเพียง 1,800 บาทเท่านั้น

นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมอาเซี่ยน และมีผู้หญิงข้ามชาติที่มาทำงานในประเทศจำนวนมาก และต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม การทีดูแล และการป้องกันไม่ให้ผู้ประกันตนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ระบบประกันสังคมไม่มีการดูแลป้องกันมีเพียงการดูแลรักษา ซึ่งเป็นการดูแลที่ปลายเหตุ ขณะนี้ทางขบวนการได้มีการเสนอร่างกฎหมายประกันสังคม พ.ศ. …. โดยการช่วยกันลงลายมือชื่อ14,000 กว่าชื่อรอเข้าสภาอยู่ วันนี้ต้องมีการพัฒนาและปฏิรูประบบประกันสังคมให้สอดคล้อง ทั้งต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น

เวลาต่อมากลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีและเครือข่ายได้จัดแถลงข่าว และเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่รัฐสภาเนื่องในโอกาสที่ “วันสตรีสากล”  8 มีนาคม ที่หมุนเวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่ง ทางกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ร่วมกับ องค์กรเครือข่าย จัดกิจกรรมวันสตรีสากลครั้งนี้ขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญสองประการ ได้แก่ เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานของคนงานหญิง และเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์แห่งการต่อสู้นั้นในยุคสมัยปัจจุบัน

วันสตรีสากล มีกำเนิดมาจากการเคลื่อนไหวของคนงานหญิง  ที่ทำงานในโรงงานสิ่งทอในสหรัฐอเมริกา จากสภาพการทำงานที่เลวร้าย จึงได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และปรับปรุงสภาพการทำงาน รวมทั้งลดเวลาทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง การประท้วงหลายครั้งจบลงด้วยการใช้ความรุนแรงต่อคนงาน  อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องได้รับการสนับสนุนจากทั่วโลก  ดังนั้น ในเวทีการประชุมสมัชชานักสังคมนิยมหญิงนานาชาติ “คลาร่า เซทกิ้น” ซึ่งเป็นผู้นำในการต่อสู้และผู้นำคนหนึ่งของสมัชชา  จึงได้เสนอให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ดังกล่าว  และได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุมอย่างเป็นเอกฉันท์  หลังจากนั้น ผู้หญิงจากแทบทุกประเทศทั่วโลก ต่างใช้วันสตรีสากลเป็นสัญลักษณ์  เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จในการต่อสู้ และแสดงความมุ่งมั่นที่จะขจัดอุปสรรคที่ยังมีอยู่

สำหรับการรณรงค์ในปี 2556 นี้ ทางกลุ่มฯ และเครือข่าย ให้ความสำคัญกับประเด็น ผู้หญิงทำงาน ความมั่นคงในชีวิตและครอบครัว โดยใช้คำขวัญว่า “ ผู้หญิงทำงาน ชีวิตมั่นคง ครอบครัวยั่งยืน” การที่ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญสองด้าน คือ การมีส่วนร่วมเป็น “กำลังแรงงาน” และ “การเจริญพันธุ์หรือการมีบุตร”

ปัญหาด้านการเจริญพันธุ์หรือการมีบุตร ปัจจุบัน อัตราเจริญพันธุ์รวมของผู้หญิงอยู่ที่ร้อยละ 1.5  ซึ่งน้อยเกินไป ทำให้สัดส่วนประชากรของประเทศเสียความสมดุล นั่นคือ ในอนาคต จะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น และมีสัดส่วนคนวัยทำงานลดลง ปัญหานี้มีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการที่ ผู้หญิงทำงาน โดยเฉพาะคนทำงานโรงงานจำนวนมากเป็นโสด หรือมีลูกน้อย เนื่องจากรายได้น้อย และขาดแคลนสวัสดิการที่ช่วยคุ้มครองความเป็นมารดาและอุดหนุนการเลี้ยงดูเด็ก เช่น ศูนย์ให้นมลูก ศูนย์เลี้ยงเด็ก เงินค่าเลี้ยงดูบุตร สิทธิการลาเลี้ยงบุตรของบิดา  เป็นต้น

ปัญหาด้านความมั่นคงในชีวิตผู้หญิงทำงาน ปัจจุบันผู้หญิงจำนวน 18 ล้านคน มีส่วนร่วมในการทำงานสร้างสรรค์การพัฒนาเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ซึ่งควรได้รับการดูแลให้มีความมั่นคงในชีวิต ประเทศไทยมีกฎหมายประกันสังคมมานานกว่า 20 ปี แต่กฎหมายดังกล่าวยังมีข้อด้อยบางประการ ที่สำคัญ คือ

- ความครอบคลุมที่ยังไม่ทั่วถึง ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคนทำงานทั่วประเทศ 39 ล้านคน ระบบประกันสังคมครอบคลุมคนทำงานเพียง 10 ล้านคน ตัวอย่างคนทำงานที่ยังเข้าไม่ถึงประกันสังคม ได้แก่ ลูกจ้างทำงานบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

- สิทธิประโยชน์ที่ยังไม่เพียงพอ ปัจจุบัน ผู้หญิงทำงานจำนวนมากต้องเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยปัญหาสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์  การตรวจสุขภาพประจำปีสามารถช่วยป้องกันได้ แต่ระบบประกันสังคมยังไม่ให้สิทธิดังกล่าว  นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์กรณีลาคลอดและเลี้ยงดูบุตรก็น้อยเกินไป

ดังนั้น ในโอกาสวันสตรีสากล ปี 2556 กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสวัสดิการและการประกันสังคมให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้หญิงทำงาน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.     เพิ่มจำนวน ศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กในบริเวณย่านอุตสาหกรรม และปรับคุณภาพบริการให้ตรงกับความต้องการของคนงานหญิง

2.     ให้สัตยาบัน อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 183 เรื่อง การคุ้มครองความเป็นมารดา และนำหลักการดังกล่าวมาดำเนินการโดยเร็ว

3.     เพิ่มมิติผู้หญิงในระบบประกันสังคม  โดยขยายการประกันสังคมให้ครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม เพิ่มสิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และให้มีตัวแทนของผู้หญิงในกลไกการมีส่วนร่วม

พร้อมกำหนดการรณรงค์ในวันที่ 8 วันสตรีสากลครั้งทางกลุ่มบูรณาการแรงงานและเครือข่าย จัดการเดินรณรงค์และยื่นหนังสือต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยจะเริ่มตั้งขบวนเวลา 09.00 น.ที่หน้าอาคารสหประชาชาติ (UN) แล้วเดินเท้าไปยังประตู4 ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือตามลำดับ

ที่มา : www.voicelabour.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง