ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ข้ออ้างเรื่องประสิทธิภาพของระบบถูกยกมาใช้สร้างความชอบธรรมในการรื้อโครงสร้างกระทรวงหมอ

ท่ามกลางความเคลือบแคลงฝ่ายการเมืองจ้องรวบอำนาจองค์กรอิสระด้านสุขภาพ ภายหลัง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศนโยบายใหม่กลางเวทีประชุมการพัฒนา สธ.วันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา

"จะยกเลิกระบบอัตราค่าเหมาจ่ายรายหัวที่ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยจะโอนงบเหล่านั้นซึ่งเดิมโรงพยาบาลต้องเบิกจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมถึงงบประมาณเงินเดือนแพทย์และบุคลากร ซึ่งเดิมอยู่ที่สธ. ไปไว้ที่เขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต ซึ่งมีผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นประธาน" นพ.ประดิษฐ ระบุทั้งนี้ ในแต่ละเขตบริการสุขภาพจะมีการกำหนดตัวชี้วัดจากสุขภาพของประชาชนที่ใช้บริการ หากสถิติโรงพยาบาลใดดีก็จะได้รับงบประมาณพิเศษมากขึ้น

นพ.ประดิษฐ อธิบายอีกว่า หลังจากนี้จะไม่มีการจ่ายเงินตามอัตรากลุ่มโรคร้ายแรง (ดีอาร์จี) อีก แต่จะใช้วิธีเบิกจ่ายตามราคากลางในการรักษา ส่วนการคำนวณดีอาร์จีจะใช้เพื่อคำนวณหาต้นทุนและมาตรฐานการจ่ายเงินของ สธ.เท่านั้น

สาเหตุที่ต้องยกเลิกระบบดีอาร์จี เนื่องจากหากเกิดโรคแทรกซ้อนมากขึ้น โรงพยาบาลก็จะเบิกงบได้มาก ทำให้โรงพยาบาลไม่ส่งเสริมการรักษาให้เกิดประสิทธิภาพ

นพ.ประดิษฐ ยังได้สั่งการให้ "ยกเลิก" การจ่ายเบี้ยเลี้ยงทุรกันดารสำหรับแพทย์ในชนบท ซึ่งเดิมทีจะเบิกจ่ายผ่านระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมของ สปสช.โดยเปลี่ยนมาจ่ายตามระบบเขตและพวงบริการ ชี้วัดจากผลลัพธ์ของการรักษาในพื้นที่เป็นหลัก คาดว่าจะเริ่มได้ภายในวันที่ 1 เม.ย.นี้

เหตุผลคือ ที่ผ่านมาการของบไม่สิ้นสุด และบางพื้นที่ก็ไม่ได้ทุรกันดารจริง

นำมาสู่การเคลื่อนไหวของนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติประธานชมรมแพทย์ชนบท ที่นัดรวมตัวแต่งดำและเตรียมเข้ายื่นหนังสือถึงยิ่งลักษณ์ชินวัตรนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 มี.ค.นี้ เพื่อให้พิจารณาเปลี่ยนตัว รมว.สธ.คนใหม่

"นโยบายไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย เอาแต่รวบอำนาจไว้ที่ตัวเองเพียงอย่างเดียว"นพ.เกรียงศักดิ์ ให้เหตุผล

สัญญาณทางการเมืองทั้งหมดนี้ เป็นหนึ่งในนโยบายที่หวังตัดทอนอำนาจ-ลดบทบาท สปสช. เพื่อดึงอำนาจกลับไปยัง สธ. ในที่สุด

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 13 มีนาคม 2556