ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

กระทรวงสาธารณสุขทบทวนแนวทางจ่าย'ค่าตอบแทน' บุคลากร จัดโซนโรงพยาบาลชุมชน 737 แห่งทั่วประเทศ ยกระดับ 20 แห่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไป เล็งหาเม็ดเงิน 910 ล้าน สมทบ

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรียกประชุมผู้ตรวจราชการ 12 เขตบริการสุขภาพ ทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการทั่วประเทศ ซึ่งการประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังชมรมแพทย์ชนบทคัดค้านนโยบาย สธ.ที่เตรียมออกแนวทางการปรับค่าตอบแทนและเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายบุคลากร สาธารณสุขทั้งหมด โดยขู่ว่าจะนัดหยุดงานช่วงสงกรานต์

นพ.ณรงค์เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนกำลังคนสาธารณสุขที่มี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เห็นชอบให้ปรับค่าตอบแทนดังกล่าว แต่มีการท้วงติง ล่าสุดได้มีการทบทวนรายละเอียดใหม่ ดังนี้ บุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานในโรงพยาบาลสังกัด สธ.ทุกคน จะได้รับค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนประจำ โดยประเมินจากภาระงาน หรือ พีฟอร์พี (P4P : Pay for Performance) ยกเว้นบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาลที่ตั้งในพื้นที่เฉพาะหรือพื้นที่ทุรกันดารจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย หรือค่าเสี่ยงภัยตามปกติ

นพ.ณรงค์กล่าวว่า เพื่อความชัดเจนในการจ่ายค่าตอบแทน จะแบ่งการทำงานเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 วันที่ 1 เมษายน 2556 แบ่งพื้นที่โรงพยาบาลชุมชน 737 แห่งทั่วประเทศ ออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.พื้นที่ชุมชนเมือง 2.พื้นที่ปกติ 3.พื้นที่เฉพาะ 1 (ทุรกันดารระดับ 1) และ 4.พื้นที่เฉพาะ 2 (ทุรกันดารระดับ 2) ส่วนโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็น โรงพยาบาลทั่วไป ระดับ ก และโรงพยาบาลทั่วไป ระดับ ข

"ส่วนระยะที่ 2 เริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 จะตัดค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของบุคลากรที่ทำงานโรงพยาบาลในพื้นที่ชุมชนเมืองออก เหลือเพียงค่าตอบแทนตามภาระงาน จากนั้นจะขอเวลาประเมินผล เพื่อปรับปรุงและนำไปสู่แผนงานในระยะที่ 3 เบื้องต้นจะนำข้อเสนอดังกล่าวให้รัฐมนตรี สธ.พิจารณาก่อนเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ" นพ.ณรงค์กล่าว และว่า นพ.ประดิษฐ ได้ตัดสินใจที่จะจัดหางบประมาณ 910 ล้านบาท สมทบการจ่ายค่าตอบแทนที่ประเมินตามภาระ เพราะหากใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลอย่างเดียว อาจทำให้โรงพยาบาลบางแห่งขาดสภาพคล่องได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด สธ.ได้จัดพื้นที่โรงพยาบาลใหม่ ดังนี้ โรงพยาบาลชุมชน 737 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ชุมชนเขตเมือง 33 แห่ง ในจำนวนนี้มี 20 แห่ง จะถูกยกระดับเป็นโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน เช่น ความเจริญ การเดินทางที่สะดวกขึ้น อาทิ รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช รพ.มาบตาพุด จ.ระยอง รพ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ รพ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นต้น ขณะที่โรงพยาบาลชุมชนพื้นที่ปกติ จำนวน 591 แห่ง โรงพยาบาลชุมชนพื้นที่เฉพาะ ระดับ 1 จำนวน 65 แห่ง โรงพยาบาลชุมชนพื้นที่เฉพาะระดับ 2 จำนวน 48 แห่ง ส่วนโรงพยาบาลทั่วไป ระดับ ก มี 7 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วไป ระดับ ข มี 2 แห่ง

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 20 มีนาคม 2556