ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

สพศท.ปัดค้าน'พีฟอร์พี' ยันสนับสนุน เหตุแก้ปัญหาการกินแรงเพื่อน ช่วยให้เกิดความยุติธรรม

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) ให้สัมภาษณ์กรณีกลุ่มแพทย์ชนบทออกมาชุมนุมคัดค้านกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปรับเปลี่ยนค่าตอบแทนโดยจะใช้วิธีการจ่ายตามภาระงาน หรือพีฟอร์พี (P4P: Pay For Performance) และกล่าวพาดพิงว่าไม่ใช่เพียงกลุ่มแพทย์ชนบทเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย แต่ยังมีแพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ก็ไม่ต้องการรับค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พี แต่ที่ต้องออกมาแสดงจุดยืนว่าเห็นด้วยเป็นเพราะถูกผู้ใหญ่ใน สธ.บังคับว่า ข้อกล่าวหาที่พาดพิงนั้น ไม่เป็นเรื่องจริงแต่อย่างใด

พญ.ประชุมพรกล่าวว่า ที่ รพศ./รพท.ออกมาสนับสนุนการจ่ายแบบพีฟอร์พี เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมในเรื่องของหลักการ ที่ว่าใครทำงานมากก็จะได้ค่าตอบแทนมาก ใครทำงานน้อยก็จะได้ค่าตอบแทนน้อย ซึ่งการจ่ายแบบพีฟอร์พีจะช่วยสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นภายในวิชาชีพ

"ที่ผ่านมา ยังมีคนบางกลุ่มที่ชอบกินแรงเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นเมื่อมีการจ่ายแบบพีฟอร์พีจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการเอาเปรียบในการทำงานลงได้ ทั้งนี้ การจ่ายแบบพีฟอร์พีเป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องการให้ทำตั้งแต่มีการออกระเบียบฉบับ 4, 6 และ 7 และได้มีการนำร่องจ่ายแบบพีฟอร์พีมาแล้วเกือบ 10 ปี" พญ.ประชุมพรกล่าว

พญ.ประชุมพรกล่าวว่า การจ่ายแบบพีฟอร์พีนั้น ยอมรับว่าในระยะแรกอาจต้องมีปัญหาบ้าง แต่ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกโรงพยาบาลจะต้องพีนั้น ยอมรับว่าในระยะแรกอาจต้องมีปัญหาบ้าง แต่ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกโรงพยาบาลจะต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว และเมื่อดูแล้วการจ่ายแบบพีฟอร์พีเป็นเรื่องที่ได้ค่าตอบแทนดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ และเป็นค่าตอบแทนที่น่าภาคภูมิใจ เพราะมาจากการลงแรงทำงานแลกมา และการจ่ายแบบพีฟอร์จะช่วยทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเกิดความยุติธรรมและยั่งยืน

ขณะที่ผู้อำนวยการและทันตแพทย์โรงพยาบาลชุมชนทั้ง 15 แห่งใน จ.สงขลา นำโดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี ร่วมกันแต่งกายด้วยชุดดำ แสดงอารยะขัดขืนคัดค้านการจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พี ที่บริเวณลานพระรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หน้าอาคารสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา

ทั้งนี้ ได้มีการออกแถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อ ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แก่ 1.ขอให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พี และกลับไปใช้ระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายสำหรับโรงพยาบาลชุมชนเหมือนเดิม เพราะระบบพีฟอร์พีแบบล่าแต้มจะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมในการทำงาน สร้างผลเสียต่ออุดมการณ์ของแพทย์ชนบท 2.ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งมีวันหยุดยาวขอให้ส่ง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการ สธ. ไปร่วมให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชน ในพื้นที่ 4 อำเภอชายแดนของ จ.สงขลา เพื่อให้มีประสบการณ์และเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของแพทย์และวิชาชีพสุขภาพทั้งหมดที่ทำงานเพราะรักในวิชาชีพ ไม่ใช่การล่าแต้ม และ 3.ขอให้ย้ายหรือปลด นพ.ประดิษฐออกจาก สธ.ทันที

แถลงการณ์ยังระบุว่า ขอให้ผู้ใหญ่ใน สธ.ใช้ช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ ตั้งสติ ทบทวนถึงเหตุผลของการคัดค้านพีฟอร์พีอย่างกว้างขวาง หาก สธ.ยังคงเดินหน้า โดยไม่สนใจการคัดค้านที่กว้างขวางเกือบทุกจังหวัดแล้ว ไม่มีทางที่จะบรรลุการปฏิรูป สธ.ตามที่ตั้งใจเอาไว้

ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้ให้นโยบายผู้บริหารที่เกี่ยวข้องชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มแพทย์ที่คัดค้านพีฟอร์พี เพราะขณะนี้เกิดความคิดเห็นที่หลากหลาย จึงต้องชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจในหลักการ และยืนยันว่า หากส่วนใดไม่ถูกต้องยังที่หลากหลาย จึงต้องชี้แจงให้ทุกฝ่ายเข้าใจในหลักการ และยืนยันว่า หากส่วนใดไม่ถูกต้องยังสามารถอุทธรณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่รู้สึกหนักใจ และไม่ถอดใจกับเรื่องนี้ เนื่องจากไม่มีเจตนาที่จะดำเนินการใดๆ ที่เป็นการทำลายบุคลากรทางการแพทย์แน่นอน

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า การที่นายกแพทยสภาออกมาให้ความเห็นและร่วมลงนามในแถลงการณ์ของภาคีเครือข่ายวิชาชีพการแพทย์และสาธารณสุข สนับสนุนนโยบายพีฟอร์พีนั้น จะสร้างความขัดแย้งในวิชาชีพมากขึ้นและทำให้สังคมไม่เชื่อถือยิ่งขึ้น

"สิ่งที่แพทย์ เภสัชกร และทันตแพทย์ชนบทคัดค้านนั้น ไม่ใช่หลักการของพีฟอร์พี แต่คัดค้านพีฟอร์พีของ สธ.ปัญหาที่แท้จริง ระบบที่ สธ.ออกแบบโดยผูกกับการปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย จะนำความแตกแยกมาสู่ทีมงานสุขภาพในชุมชนที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมร่วมกับชุมชน จึงทำให้แพทย์ชนบทรับเรื่องนี้กันไม่ได้ เพราะพีฟอร์พีเป็นระบบที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า ได้ผล แต่ไม่ใช่ว่า ไม่ได้ผลเลยในบางบริบท ขณะที่มีบทเรียนมากมายระบุว่า ทำให้เกิดความเสียหายจึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้" นพ.ชูชัยกล่าว และว่า สิ่งที่สภาวิชาชีพควรทำคือ จัดเวทีวิชาการนำเสนอผลการศึกษาพีฟอร์พีจากทั่วโลก แล้วจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจะเหมาะสมกว่าออกแถลงการณ์

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 12 เม.ย. 2556