ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

จับตาเปิด "เออีซี" ต่างชาติเข้ามา ใช้บริการทะลัก หวั่นหมอขาดสมองไหล แพทยสภาเดินหน้าแก้ไขกฎระเบียบให้ยืดหยุ่น เล็งออก ใบอนุญาตชั่วคราว เปิดโอกาสเอกชนนำเข้าแพทย์-พยาบาล หนุนไทยขึ้นแท่น "เอดูเคชั่นฮับ" ศูนย์การศึกษาด้านการแพทย์ในภูมิภาค

น.พ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-การแพทย์ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 จะเป็นปัจจัยทำให้การเคลื่อนย้ายบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียนได้อย่างเสรี และที่ผ่านมาก็เริ่มมีปัญหาว่าบุคลากรการแพทย์ไหลออกไปบ้างแล้ว แต่เป็นจำนวนที่ยังไม่มากนัก สิ่งที่ควรจะให้ความสนใจ ก็คือการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ไม่ให้ไหลออกไปทำงานประเทศอื่น ตรงกันข้ามเชื่อว่าบุคลากรการแพทย์จากประเทศอื่นก็สนใจเข้ามาทำงานในไทย แต่ยังมีอุปสรรคว่าต้องสอบใบประกอบ โรคศิลปะเป็นภาษาไทย

ขณะที่ น.พ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่า เมื่อเปิดเออีซีปี 2558 จะทำให้มีคนต่างชาติเข้ามาในไทยจำนวนมาก เชื่อว่าการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ โดยภาพรวมจะไม่เพียงพอกับความต้องการที่จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องขยายกำลัง เพิ่มอีก อย่างไรก็ตาม สำหรับยันฮีได้ เตรียมความพร้อมของบุคลากรด้าน ภาษาอังกฤษ และตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมาได้นำเข้าพยาบาลจากฟิลิปปินส์เข้ามาทำหน้าที่ประสานงานด้านเอกสาร ขณะนี้มีทั้งหมด 30 คน ด้านแพทย์ประจำ 150 คน พาร์ตไทม์ 200 คน ซึ่งเพียงพอกับการให้บริการ

ด้านนายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเชน ฮอสปิทัล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันแม้ว่าภาพการขาดแคลนบุคคลากรทางการแพทย์ในเมืองไทยจะยังมีเพียงพอและไม่ขาดแคลน แต่ก่อนที่เออีซีจะเปิดอย่างเป็นทางการ ภาครัฐต้องศึกษาถึงความต้องการด้านบุคลากรทางการแพทย์ และเตรียมกำลังการผลิตให้เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนของแพทย์ต่อประชากรไทยยังอยู่ในอัตราต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว คือแพทย์ 1 คนจะดูแลประชากรถึง 2,893 คน (ข้อมูลจากสำนักปลัด กระทรวงสาธารณสุข)

การขาดแคลนบุคลากรเป็นประเด็นพื้นฐานของประเทศ ที่ต้องเพิ่มกำลังการผลิต และไทยควรใช้ศักยภาพในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่พัฒนาไทยให้เป็นศูนย์การศึกษาทางการแพทย์ หรือเมดิคัล เอดูเคชั่นให้กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนตอนบน อาทิ ลาว กัมพูชา เวียดนามพม่า ซึ่งระบบสาธารณสุขและการแพทย์ยังด้อยกว่า สำหรับภาคเอกชนเอง ที่ผ่านมาก็ได้มีการปรับตัวเพื่อรองรับเออีซีมาเป็นระยะ ๆ แต่เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ

ที่ผ่านมา แม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายการทำให้ไทยเป็นเมดิคัลฮับ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในแง่นโยบาย ขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ มีนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างชัดเจน รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขให้เพียงพอ

ศ.น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวในเรื่องนี้กับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โดยส่วนตัวไม่ได้กังวลว่าบุคลากรทางการแพทย์จะมีไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากสัดส่วนประชากรมีเพิ่มขึ้นปีละ 1% แต่จำนวนแพทย์จบใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 8% ซึ่งไม่เกิน 10 ปีนี้อาจเกิดภาวะแพทย์ล้นตลาดเช่นเดียวกับประเทศในยุโรป สหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนแพทย์ 21 แห่ง สามารถผลิตแพทย์ได้ปีละ 2,500 คน

"สิ่งที่กังวลคือพยาบาลขาดแคลน เนื่องจากพยาบาลจบใหม่มีมาก แต่ผลิตเท่าไรก็ไม่พอ เพราะพอทำงานไปสักระยะ ก็จะเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น และน่ากังวลว่าพอเปิดเออีซีจะมีโรงพยาบาลเอกชน นำเข้าพยาบาลจากฟิลิปปินส์ ตอนนี้เริ่มเห็น นำเข้ามาบ้างแล้ว แต่ใช้เป็นผู้ช่วยพยาบาล ประสานงาน เพราะติดเรื่องกฎระเบียบ ต้องสอบเป็นภาษาไทย"

นายกแพทยสภากล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการเปิดเออีซีในปี 2558 ขณะนี้แพทยสภาอยู่ระหว่างการศึกษาระเบียบ และแก้ไขกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น อาทิ แก้ไขระเบียบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมชั่วคราว สำหรับแพทย์ต่างชาติ การเปิดให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาทางการแพทย์ เป็นต้น

"ใบอนุญาตชั่วคราวไม่ต้องสอบใบประกอบ วิชาชีพเวชกรรม เป็นอีกแนวคิดช่วยแบ่งเบา ภาระของหมอไทยในอนาคตที่จะมีต่างชาติเข้ามามาก โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ทำให้หมอไทยดูแลคนไทยได้เต็มที่ ช่วงแรกน่าจะเป็นกลุ่มพยาบาลต่างชาติ และเปิดให้เอกชนนำเข้าหมอต่างชาติที่เก่ง ด้านรักษาโรคยาก จากยุโรป อเมริกาเข้ามาชั่วคราว 3 เดือน 6 เดือน ช่วยให้หมอไทยได้เรียน เก่งขึ้น อีกแนวทางคือเป็นฮับทางการศึกษาให้กับประเทศเพื่อนบ้าน"

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 - 21 เม.ย. 2556