ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ภายหลังจากที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข มอบหมายให้ นายกมล บันไดเพชร เลขานุการ รมว.สาธารณสุข ไปยื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2556 ตรวจสอบการสำรองวัตถุดิบพาราเซตามอล 148 ตัน และความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกมูลค่า 1,411.70 ล้านบาท ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ล่าสุด นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ได้ส่งสำนวนกรณีการสำรองวัตถุดิบพาราเซตามอล ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว โดยระบุเบื้องต้นว่า อาจจะมีการกระทำเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อดีตประธานบอร์ด อภ. ท่านหนึ่งเคยตั้งข้อสังเกตว่า รัฐมนตรีกำลังพยายามเขี่ย ผอ.อภ. ออกไปให้พ้นหูพ้นตา เมื่อผลสอบดีเอสไอออกมาแบบนี้ถือว่าเข้าทางตามที่มีการตั้งข้อสังเกตหรือไม่  นพ.ประดิษฐ อธิบายว่า

“ไม่มีเข้าทาง เพราะไม่มีเป้า ต้องเคารพผลการสอบสวนของดีเอสไอ ผมเป็นรัฐมนตรีจะไปสั่งเขาได้อย่างไร ยืนยันว่าไม่มีแผนอะไรที่จะไปเขี่ย ผอ.อภ. มันเป็นเรื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นการไปวางกับดัก ไปสร้างเรื่อง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทั้งหมดได้มีการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้มีการใส่ร้าย มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ในเมื่อหน่วยงานทางกฎหมายเห็นว่าอาจจะเข้าข่ายความผิดก็ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. เมื่อ ป.ป.ช.รับเรื่องท่านก็ต้องไปพิจารณาอีก จะให้ความเป็นธรรมกับ ผอ.อภ.ในการชี้แจงอย่างไร?

ฃท่านก็ต้องให้ข้อมูลในการสอบสวน ผมบอกแล้วว่าถ้าให้ข้อมูลที่คนฟังแล้วชัดเจนกระจ่าง ก็ไม่มีใครว่าอะไร อย่างที่ท่านให้ข้อมูลว่าซื้อวัตถุดิบพาราเซตามอลตอนน้ำท่วม ผมก็ถามว่าแน่ใจนะ ท่านก็ให้ข้อมูลมา แต่ก็จะมีหลายคำถามว่าทำไมโรงงานช้า ถ้าให้ข้อมูลว่าทำไมถึงช้าและอธิบายได้ว่าไม่มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้วมันชัดเจนใครจะไปทำอะไรท่านได้ ผมไม่เชื่อว่าดีเอสไอจะไปกล่าวหาหลอก ๆ ลวง ๆ ได้ ไม่มีมูลก็ถูกฟ้องกลับตายสิครับ ต้องเข้าใจว่าดีเอสไอก็ถูกฟ้องได้  เมื่อดีเอสไอเห็นอย่างนี้ ก็ต้องไปพิสูจน์ความจริง ที่พูดในการประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผอ.รพ.ทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงนโยบายเร่งด่วน”

บอกว่าเรื่อง อภ.เป็นเรื่องยาวหมายความว่าอย่างไร?

“ก็ยังมีเรื่องโอเซลทามิเวียร์ เรื่องยาโคพิโดเกล และมีอีกหลายเรื่องกำลังสอบสวนอยู่ เดี๋ยวคงจะมีผลออกมาเรื่อย ๆ ไม่จบภายในวันนี้ เป็นเรื่องยาว และยาวกว่าผมอีก ทำไมจึงมีปัญหาหลาย ๆ เรื่องใน อภ.ออกมา เป็นเพราะที่ผ่านมาไม่มีการตรวจสอบหรือไม่?

ผมเห็นชัดเจนแล้วว่ามันเป็นความบกพร่องอ่อนแอของฝ่ายจัดการไม่เข้าไปดู อย่างเช่น ผมแค่ถามบอร์ด อภ.เฉย ๆ ว่า กรณีจะเอาวัตถุดิบที่ใกล้จะหมดอายุมาผลิตยาอยู่เรื่อย ๆ รู้ไหมมียาตัวไหนบ้าง แล้วทำไมไม่คิดทำก่อนที่จะหมดอายุนาน ๆ หน่อย ทำไมมาทำตอนใกล้ ๆ จะหมดอายุ มันเป็นเส้นบาง ๆ ระหว่างการทำเพื่อกลบความผิดที่ทำในอดีต หรือเป็นทำเพื่อความหวังดี เพราะถ้ามาทำอะไรจวนตัวมันเปลืองตัวเปล่า ๆ ถ้ารู้ล่วงหน้าว่ายาจะหมดอายุ สั่งมา 5 ปี เหลืออีกปีครึ่งจะหมดอายุเอามาผลิตคงไม่มีใครว่าอะไร ถ้าท่านมีการบริหารจัดการที่ดีทุก ๆ เรื่อง แม้แต่โรงงานที่สร้างล่าช้า ถ้าฝ่ายบริหารจัดการดี มีการปรับ มีการฟ้องร้องกัน ก็ไม่มีปัญหาหรอก แต่นี่การบริหารจัดการไม่มี ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม มันก็กลายเป็นปัญหา ทุกคนก็มานั่งถามว่า ทำไมโรงงาน 2 ปี 3 ปีไม่เสร็จ แล้วจะไปยังไงต่อ ถ้าบริหารจัดการดีมันก็จบ”

เป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจเป็นแค่การบริหารจัดการ ไม่มีเรื่องการทุจริต?

“ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ผมไม่ได้มีข้อมูลในมือ ผมชี้ไม่ได้หรอกว่ามีการทุจริตหรือไม่อย่างไร อย่างที่ตั้งข้อสังเกตว่ามันเป็นเรื่องของความตั้งใจในการดำเนินการว่าจะทำอย่างถูกต้องหรือเป็นความตั้งใจที่จะหลีกกฎระเบียบหรือไม่ หรือมีเหตุผลดลบันดาลใจจากเหตุทุจริตหรือไม่ ตรงนี้ต้องให้กระบวนการยุติธรรมเป็นคนพิสูจน์ เมื่อผลสอบดีเอสไอออกมา”

ห่วงทางสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรมจะออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่?

“ไม่ห่วง เมื่อผลออกมาอย่างนี้สหภาพควรออกมาสนับสนุนผมว่าผมทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ผมอยากใช้คำว่าผมไปกล่าวไปพูดอะไรที่เลื่อนลอยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นความสงสัย ซึ่งเป็นความสงสัยที่มีมูล เพราะฉะนั้นสหภาพน่าจะกลับมาสนับสนุนผม ขอบคุณผม และมาร่วมมือกัน เพราะแสดงว่าผมไม่ได้พูดอะไรที่เลื่อนลอย กล่าวอะไรที่ไม่เป็นจริง สหภาพต้องมองอย่างนี้

ข่าวที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นองค์กรอยากให้ทำความเข้าใจกับประชาชน?

“อยากให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจจริง ไม่ได้ปล่อยปละละเลยกรณีของไม่มีคุณภาพ เมื่อเห็นแล้วได้เข้าไปแก้ไขตั้งแต่กระบวนการจัดการ ไปจนถึงปัญหากฎระเบียบที่มันเกิดช่องว่าง ซึ่งช่องว่างตรงนี้ไม่ได้เกิดกับ อภ.อย่างเดียว มันเกิดกับวงการยาได้ทั้งตลาด ดังนั้นเราก็เข้าไปจัดการแก้ไขระเบียบ จะเห็นว่ามีการทำงานครบวงจร บูรณาการครบวงจร ไม่ใช่บอกว่าสอบสวนเรื่องนี้จบ แต่เราไปแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไปแก้ไขตั้งแต่ต้นน้ำ

--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 4 พ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--