ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

“นับจากกรณีการออกมาแฉบันได 4 ขั้นยึดหลักประกันสุขภาพเมื่อราวๆต้นปีที่แล้ว...ผ่านมาถึงวันนี้ ขบวนการยึดกุมอำนาจในระดับบอร์ด ก็น่าจะสำเร็จไปแล้ว...

แล้ว...ก็ให้บังเอิญว่า สวรส.หรือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มีการปรับเปลี่ยนองค์กรพอดีในการตั้งบอร์ด ก็มีการใช้วิธีใหม่แก้ใน ครม. ยกเลิกวิธีการเดิม โดย ครม.เสนอทันที”

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท บอกอีกว่า เอาล่ะไม่เป็นไร อะไรผ่านไปแล้วก็ให้แล้วกัน แต่ผลกระทบในภาพใหญ่ มีการบังคับ สวรส. จ้างทีมงานหนึ่งศึกษาวิจัยเรื่องการปฏิรูป วงเงินอยู่ที่ราวๆ 8-10 ล้านบาท

แถมเล่าลือกันว่า...ผู้มีอำนาจในกระทรวงการคลังก็ชงให้เป็นบอร์ด สปสช. อีกด้วย

“น่าสนใจว่า เสียเงินไปขนาดนี้กลับไม่มีเปเปอร์ มีแต่พาวเวอร์พอยท์ ผู้ใหญ่ระดับเจ้ากระทรวงก็จับเอามาอ้างว่าศึกษาเรียบร้อยแล้ว จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน...”

ทำงานแบบสุกเอาเผากิน นี่หรือคือการปฏิรูปแบบใหม่

การปฏิรูปหน่วยงานตระกูล “ส” ทั้งหลาย ให้ขึ้นอยู่ใต้รองปลัด นายแพทย์เกรียงศักดิ์ มองว่าแย่กว่าเก่า สิ่งที่เกิดขึ้นถึงจะเฉไฉว่าไม่ได้ยึด พอคนโวยวายก็เปลี่ยนอยู่หลายเวอร์ชั่น เปลี่ยนเป็นภายใต้นายกฯก็แล้วกัน แต่เลขาฯเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองเลขาฯก็เป็นปลัดพูดง่ายๆให้เห็นภาพ...เอาตัวแทนที่มีเพียง 1 คน เปลี่ยนเป็นเพิ่มให้มีคนมาทำงานเพิ่ม เป็นการปฏิรูปกินสองเด้ง เด้งแรก...เป็นการกินรวบ สสส. เหตุ มองในแง่ร้ายก็เพราะอยากได้เงินเอามาใช้ ลึกไปกว่านั้นก็เป็นเด้งที่สอง...ระแวงว่ากลุ่ม “ส” ทั้งหลายเป็นขุมกำลังน้ำเลี้ยงให้ฝ่ายต่อต้านท่านผู้นำพลัดถิ่น

ยิ่งชัดเจน สิ่งที่เกิดขึ้นใน สปสช. เดิมทีเงินขึ้นอยู่กับปลัด หรือรัฐมนตรี ตามหลักก็เป็นสิทธิ โอนไปตามกฎหมายว่าจะให้ตามโรงพยาบาลต่างๆเท่านั้นเท่านี้...ตามสิทธิที่ประชาชนได้รับ มาคราวนี้การปฏิรูปเปลี่ยนโฉมหน้า สิทธิขึ้นอยู่กับผู้ตรวจราชการ ก็กลายเป็นของกระทรวงอีก

อ้างเรื่องการดูแลตามเขต แล้วก็จะวกกลับเข้าสู่วงจรเดิมๆกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้น...กระทรวงสาธารณสุขสั่งจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลแจก อสม.ทั่วประเทศกว่า 80,000 เครื่อง ส่อเค้าเสมือนเป็นการชิมลางทุจริต

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ชี้ว่า ความไม่ชอบมาพากลครั้งนี้ เริ่มจากเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรเงินและสั่งให้จังหวัดต่างๆมีการซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลแจก อสม. ทั้ง 76 จังหวัด ใน 2 กลุ่มคือ ตำบลนำร่องและตำบลจัดการสุขภาพ ตำบลละ 15 ชุด รวม 27,375 ชุด และ ตำบลทั่วไป ตำบลละ 10 ชุด รวม 54,310 ชุด

รวมทั้งสิ้น 81,685 ชุด เป็นเงิน 147,033,000 บาท

ความผิดปกติมีอยู่ว่า...ในปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆทั้งประเทศไม่มีใครเขาซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลกันแล้ว เหมือนการเลิกซื้อเครื่องถ่ายเอกสาร แต่ใช้ระบบเช่าแทน และคิดราคาตามค่าถ่ายเอกสาร

โรงพยาบาลต่างๆใช้วิธีการซื้อแผ่นตรวจน้ำตาลแล้วแถมเครื่องกันทั้งสิ้น ซึ่งราคาจัดซื้อมีตั้งแต่แถบละ 5–7 บาท โดยแถมเครื่องไม่จำกัด เช่น ใช้ในการแจกให้สถานีอนามัย

ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึง...หากซื้อเครื่องไปแล้ว จะทำให้รัฐต้องตกเป็นทาสของบริษัทเจ้าของเครื่อง โดยต้องใช้แถบตรวจน้ำตาลของบริษัทและขึ้นอยู่กับบริษัทจะกำหนดราคาแถบตรวจน้ำตาลมาด้วย...เช่น อบจ.จังหวัดใหญ่แห่งหนึ่งในภาคอีสาน จัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลของบริษัทหนึ่ง ในราคาชุดละ 2,500 บาท (รวมอุปกรณ์อื่นเล็กน้อย) เมื่อแถบตรวจที่แถมมาจำนวน 30-50 แถบหมดไป เครื่องนี้ก็หมดสภาพ เลยต้องจัดซื้อแถบตรวจน้ำตาลแจกใหม่กว่า 600,000 แถบ ในราคา 11 บาทต่อแถบ

น่าสนใจอีกว่า...บริษัทที่เข้าไปทำตลาดก็เป็นบริษัทเดียวกับที่ขายให้ อบจ.ในภาคอีสานดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การดำเนินการในลักษณะนี้จึงส่อไปในความไม่ชอบมาพากล

และ...อาจมีการขอเงินทอนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 สนนราคาเครื่องละ 1,800 บาท เงินทอน 720 บาท ซื้อทั้งหมด 81,685 ชุด...ก็อิ่มพุงกางไม่น้อยไปกว่า 58 ล้านบาทที่สำคัญ กระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยงานกองประกอบโรคศิลปะดูแลมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม กลับกำลังพยายามแจกเครื่องตรวจน้ำตาลที่ต้องมีการเจาะเลือดผู้ป่วย ที่ในทางการแพทย์ถือเป็นวิธีรุนแรง (Invasive) ที่ต้องมีการควบคุมมาตรฐานอย่างเคร่งครัด

“อสม.เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา ไม่สามารถยกระดับไปตรวจคนอื่นได้ ยกเว้นเจาะให้ตนเองเท่านั้น” นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ว่า “ทั้งที่สภาเทคนิคการแพทย์ได้มีมติทักท้วงแล้วก็ตาม...แต่ก็ยังมีการสั่งให้จัดซื้อก่อน แล้วค่อยหาทางแก้กฎหมาย แสดงให้เห็นว่ามีความตั้งใจในการที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างชัดเจน”

ขณะนี้หลายจังหวัดเริ่มกระบวนการจัดซื้อไปมากแล้ว เช่นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณเกินกว่า 2 ล้านบาท ต้องใช้วิธีการอีออกชั่น (eauction) ก็ได้มีกระบวนการกำหนดทีโออาร์ (TOR) ไปแล้วหลายจังหวัด เช่น เชียงราย นครพนม นครราชสีมา อุบลราชธานี

ส่วนจังหวัดที่วงเงินต่ำกว่า 2 ล้านบาท ใช้วิธีสอบราคา ที่สอบราคาเสร็จแล้วคือจังหวัดอำนาจเจริญ และกำลังอยู่ระหว่างยื่นซองคือจังหวัดอ่างทอง

อนึ่ง จากการสอบถาม นพ.สสจ.บางท่าน แสดงอาการอึดอัดใจอย่างชัดเจน เนื่องจากทราบดีว่าเครื่องลักษณะนี้ไม่มีใครเขาซื้อกัน มีแต่ซื้อแถบตรวจน้ำตาลแถมเครื่องเท่านั้น บางคนก็ใช้วิธีการถ่วงเวลา แต่บางคนถูกเร่งรัดจากเบื้องบนมากจึงต้องตอบสนองไป

นี่เองที่ว่าเป็นการส่อไปในทางเตรียมการชิมลางทุจริตครั้งใหญ่

ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้...แพทย์ชนบทขอมองในแง่ร้ายเอาไว้ก่อน ทำให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขกำลังย้อนยุคกลับไปสู่ยุคกรณีทุจริตยา 1,400 ล้าน และสอดรับกับการที่กระทรวงสาธารณสุขภายใต้ผู้นำคิดใหม่รื้อใหม่อาจตั้งธงเดินเกมกลยุทธ์รวบเงิน สปสช.กว่า 180,000 ล้านบาท มาอยู่ในมือกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งนึง

แผนฮุบเงินหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ...จากเดิมที่เป็นไปตามสิทธิของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้อยู่ภายใต้อำนาจการจัดสรรในระดับเขตกระทรวงสาธารณสุขในท้ายที่สุดแล้วก็เชื่อมโยงกับปมปัญหากรณี P4P หรือ “Pay-for-Performance” ในภาพใหญ่ไม่น่าจะมีเจตนาอื่นเพื่อบีบให้หมอรัฐลาออก เดินเข้าสู่อุ้งมือเครือเอกชนได้โดยง่าย

กลเกมการปฏิรูประบบสุขภาพรัฐไทยทั้งหมดไม่ใช่เรื่องดี ข้อมูลวงในบอกว่า ก่อนที่จะมีการเข้ามายึดระบบบริการสุขภาพในบ้านเราทั้งหมดตั้งแต่สมัยยุคที่คนไกลบ้านเรืองอำนาจ...มีรายงานวิจัยต่างประเทศที่ได้รับการว่าจ้างว่า ถ้าจะยึดสัมปทานอะไรสักอย่างจะต้องเริ่มต้นอย่างไรบ้าง

น่ากลัวว่าหนึ่งในนั้นมีเรื่องสุขภาพอยู่ด้วย เห็นแล้วขนลุก ที่เห็นประโยคที่ว่า “บริการสุขภาพบ้านเรา มีหน่วยงานที่เข้มแข็งในการพิทักษ์คือเครือข่ายแพทย์ชนบท ต้องล้มก่อนจึงจะยึดได้”

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 4 พฤษภาคม 2556