ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นพ.ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งที่หญิงไทยป่วยและเสียชีวิตมากที่สุด คือ มะเร็งเต้านม ซึ่งแตกต่างจากเมื่อ 18 ปีที่ผ่านมาพบว่า มะเร็งอันดับ 1 ในผู้หญิงคือ โรคมะเร็งปากมดลูก กระทั่งเมื่อ 6-7 ปีที่แล้วมะเร็งเต้านมกลับขึ้นมาแทนที่ เนื่องจากพบผู้ป่วยและเสียชีวิตมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าอีก 7 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2563 โรคนี้จะเป็นโรคอันดับ 1 ขณะที่มะเร็งปากมดลูกจะลดลง เพราะคนหันมาสนใจในการตรวจคัดกรอง อย่างไรก็ตาม แม้มูลนิธิจะพยายามช่วยเหลือการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทั้งคนจนและคนรวยอย่างเท่าเทียมกัน แต่คนจนก็ยังคงมีโอกาสเข้าถึงการตรวจเต้านมน้อย จึงจำเป็นต้องรณรงค์ให้คนตรวจเต้านมด้วยตนเอง

"การตรวจเต้านมด้วยตนเองต้องสร้างความรู้ให้ประชาชนด้วยว่า มะเร็งเต้านมเป็นอย่างไร เพราะ 90% ของมะเร็งเต้านมมักเป็นก้อนที่ไม่เจ็บ ซึ่งประชาชนทั่วไปมักเข้าใจว่าไม่เจ็บคือไม่อันตราย แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ทั้งนี้ มะเร็งเต้านมที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นระยะที่ 3 คือมีขนาด 3 เซนติเมตร การรณรงค์ในครั้งนี้จึงต้องการลดระยะ มะเร็งจากระยะที่ 3-4 เหลือเพียงระยะที่ 1 ซึ่งจะช่วยให้ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้" นพ.ธรรมนิตย์กล่าว

นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สำหรับโครงการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จย่า เป็นการดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้มาช่วยตรวจดูว่า ประชาชนมีการตรวจเต้านมด้วยตัวเองที่ถูกต้องและสม่ำเสมอหรือไม่ โดยอาศัยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาช่วยตรงนี้ เพราะหากตรวจไม่พบเป็นประจำอาจทำให้ไม่มีการตรวจอย่างต่อเนื่อง เพราะคิดว่าตรวจอย่างไรก็ไม่เจอ การให้ อสม.มาช่วยทำให้มีการบันทึกว่า มีการตรวจเต้านมด้วยตนเองในเดือนอะไร เจอหรือไม่ โดยมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ช่วยรับรองผลการตรวจ ซึ่งล่าสุดได้นำเรื่องนี้เข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงการรณรงค์ผ่าน อสม. เพื่อให้เกิดการ กระจายการให้ความรู้แก่ประชาชนมากขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 6 พฤษภาคม 2556

เรื่องที่เกี่ยวข้อง