ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในที่สุดชมรมแพทย์ชนบท ก็ประสบความสำเร็จในเวทีเจรจากับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุขโดยที่ไม่จำเป็นต้องก่อม็อบประท้วงที่หน้าบ้าน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อย่างที่ตั้งเจตจำนงไว้ตั้งแต่แรก

ข้อสรุปที่ได้ร่วมกันเบื้องต้นคือ จะยืดเวลาการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) ออกไปจนถึงวันที่ 1 ต.ค.และให้มีการตั้งคณะกรรมการ โดยมีชมรมแพทย์ชนบทเข้าไปร่วมพิจารณาพื้นที่และอัตราค่าตอบแทนใหม่อย่างไรก็ดี ข้อเสนอสำคัญที่เรียกร้องให้รัฐบาลปลดนพ.ประดิษฐ ยังคงคาอยู่

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ประเมินการเคลื่อนไหวว่ายังไม่สามารถเรียกได้ว่าชัยชนะจริงๆ เพราะต้องดูว่าข้อสรุปจากวงเจรจา 3 ฝ่าย ถูกฝ่ายการเมืองบิดพลิ้วหรือไม่ ดังนั้น ต้องเฝ้าจับตาจนกว่าจะถึงวันที่ 10 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันที่ นพ.ประดิษฐ จะนำข้อสรุปทั้งหมดรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและยิ่งลักษณ์รับทราบ

"แนวโน้มขณะนี้คือเราเกือบชนะ แต่ยังไม่ได้ชนะจริงๆ"นพ.เกรียงศักดิ์ ระบุ

อย่างไรก็ดี ประธานชมรมแพทย์ชนบทเชื่อว่าการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาได้รับชัยไปกว่าครึ่งหนึ่งแล้วเนื่องจากสามารถหยุดยั้งนโยบายให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และความพยายามทำลายหลักการแยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้วยการใช้กลไก 12 เขตสุขภาพลงได้

นอกจากนี้ ยังร่วมผลักดันข้อเรียกร้องร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยเฉพาะการต่อต้านแปรรูป อภ.ได้สำเร็จ โดยได้รับคำยืนยันจากนพ.ประดิษฐ ว่าจะไม่แปรรูป อภ. พร้อมทั้งมีการออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม อย่างไม่เป็นธรรม

สำหรับข้อเรียกร้องให้ปลด นพ.ประดิษฐ ออกจากตำแหน่งนั้นเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ชมรมแพทย์ชนบทคงไม่เข้าไปก้าวก่าย นอกเสียจากการดำเนินการไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ แพทย์ชนบทก็จะออกมาเคลื่อนไหวอีกคำรบหนึ่ง

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น รายนี้ให้ภาพการทำงานของ นพ.ประดิษฐ ที่มุ่งเน้นรวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่ศูนย์กลางจนสร้างปัญหาเรื้อรังแก่ระบบสาธารณสุขว่า เป็นที่ทราบดีว่า นพ.ประดิษฐ มีอำนาจเหนือ วิทยา บุรณศิริ รมว.สธ.คนก่อน ดังนั้น ก่อนที่ นพ.ประดิษฐ จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ได้เริ่มใช้อำนาจหลายอย่างโดยไม่มีที่มาที่ไปมาแล้ว

เริ่มตั้งแต่การแทรกแซงโครงสร้างของคณะกรรมการ(บอร์ด) ชุดต่างๆ ทั้ง สปสช. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) และพบความพยายามเปลี่ยนโครงสร้างของคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)โดยเพิ่มตัวแทนให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามากยิ่งขึ้น

ทันทีที่ นพ.ประดิษฐ เข้ารับตำแหน่ง ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นใน สปสช. โดยมีการเปิดรับสมัครรองเลขาธิการสปสช.เพิ่มอีก 2 ตำแหน่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 ตำแหน่ง นพ.ประดิษฐ ให้เหตุผลว่าต้องการให้มีผู้ดูแลเรื่องการเงินการคลังมากยิ่งขึ้นกระทั่งที่สุดแล้ว นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธิ์ อดีต สส.อุดรธานี พรรคไทยรักไทยเพื่อนนพ.ประดิษฐ ก็เข้ามาเป็นหนึ่งในรองเลขาธิการคนใหม่

นพ.ประดิษฐ ยังริเริ่มนโยบายบริหารงานในระบบเขตสุขภาพ โดยทราบมาว่าจะให้ผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นผู้อำนวยการหรือเป็นอธิบดีเขต พร้อมเตรียมยกเลิกระบบการจ่ายเงินตามกลุ่มโรคร้ายแรง (ดีอาร์จี) และนำงบเหมาจ่ายรายหัวในระบบ 30 บาท มาไว้ในเขตสุขภาพ สุดท้ายผู้ตรวจราชการ สธ.ก็รวบอำนาจทั้งหมด

"การยึดเงินให้ผู้ตรวจราชการและ สธ.เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก สุดท้ายก็กลายเป็นว่าฝ่ายการเมืองสามารถสั่งได้หมด หมอประดิษฐก็คุมได้หมด พื้นฐานของหมอประดิษฐไม่ใช่หมอแต่เป็นนักธุรกิจ เขาไม่เคยมองเรื่องสังคม ตั้งแต่จบแพทย์มาก็ไม่เคยลงไปสัมผัสพื้นที่ชนบทอยู่แต่หน้าห้องผู้ใหญ่เท่านั้น"

นพ.เกรียงศักดิ์ เล่าอีกว่า ได้ยินผู้ใหญ่ใน สธ.หลายคนพูดตรงกันว่า นพ.ประดิษฐ คิดไปถึงขั้นจะแบ่งระดับของผู้ป่วย โดยเรื่องดังกล่าวแสดงออกชัดในหนังสือรายงานประจำปีของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนปี 2555 เรื่องโรงพยาบาลเอกชนจะไปทางไหน ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าควรมีการแบ่งระดับผู้ป่วย

"ในหนังสือเล่มนั้นระบุว่า โรงพยาบาลรัฐดูแลสุขภาพประชาชนมากเกินไปถึง 70-80% ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนจะดูเพียง 20-30% เท่านั้น เพราะฉะนั้นควรจะสลับกัน เพราะภาครัฐบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ และในอนาคตโรงพยาบาลเอกชนจะเข้ามามีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น และสนับสนุนให้นำเข้ายาต่างประเทศด้วยระบบ Fast Track ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพอดิบพอดี ทั้งหมดสอดรับกับนโยบายของ นพ.ประดิษฐ อย่างถูกเหลี่ยม"

ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของชมรมแพทย์ชนบทถูกโจมตีอยู่ตลอดว่ามีเป้าหมายทางการเมืองเพื่อล้มรัฐบาลและเพื่อปกป้องผลประโยชน์ขององค์กรตระกูล ส. และผลประโยชน์ของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นบุคคลสำคัญของฝ่ายอำนาจเก่าอย่าง นพ.ประเวศ วะสี หรือนพ.วิชัย โชควิวัฒน นอกจากนี้มีการวิพากษ์กันไปถึงว่าชมรมแพทย์ชนบทกลายเป็นขั้วอำนาจหนึ่งที่ฝ่ายการเมืองต้องยอมสวามิภักดิ์หากอยากอยู่ในตำแหน่งรมว.สธ.นานๆ

"ชมรมแพทย์ชนบทเองไม่ได้มีอำนาจอะไร หากใครจะมองอย่างนั้นต้องตั้งคำถามกลับไปว่าเราคือใคร จริงๆ แล้วเราก็คือข้าราชการที่อยู่ในพื้นที่ชนบท อำนาจอะไรเราไม่ได้มีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจมีอำนาจผ่านทุนทางสังคมเล็กๆ น้อยๆเท่านั้น" หมอชนบทรายนี้ระบุ

เขาบอกอีกว่า ปัจจุบันแพทย์ชนบทแตกต่างกับในอดีตคือไม่มีพี่ใหญ่ในสายอำนาจคอยสนับสนุน ทั้ง นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นพ.วิชัย โชควิวัฒน หรือแม้แต่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ก็ล้วนอยู่นอกเส้นทางอำนาจใน สธ.

"กลุ่มตรงกันข้ามมีข้อเสียอย่างหนึ่งคือไม่เคยเปลี่ยนวิธีคิด เขาคิดเพียงแต่ว่าผมไม่มีหัวสมอง เวลาจะทำออกมาเพราะหมอวิชัยสั่ง บอกว่าเราเป็นทีมงานเดียวกัน ทั้งที่จริงๆแล้วผมคุยกับท่านน้อยมาก"

บริษัทยาสามัคคีโค่น 'วิทิต อรรถเวชกุล'

หนึ่งในข้อหาฉกรรจ์ที่ นพ.ประดิษฐ โดนคือการยึดองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เบ็ดเสร็จโดยเฉพาะข้อครหาการปลด นพ.วิทิต  อรรถเวชกุลผู้อำนวยการ อภ. เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทยาข้ามชาติและผูกขาดการจัดซื้อยาไว้ที่คนใกล้ตัวซึ่ง นพ.เกรียงศักดิ์ ก็เห็นสอดคล้องเช่นนั้น

ตลอด 5 ปี ที่ นพ.วิทิต เป็นผู้อำนวยการอภ.นั้น ฝีมือดีจริง และได้ทำให้ อภ.เปลี่ยนไปจากเดิมเยอะมาก เริ่มจากคุณภาพการบริการ การผลิตยาคุณภาพดีไม่แพ้ต่างประเทศ การลดราคายาลงเป็นเท่าตัว ขณะที่รายได้ของ อภ.ก็เพิ่มขึ้นจาก 5,000 ล้านบาท เป็น 1.2 หมื่นล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี

"นั่นหมายถึงกำไรที่หายไปของบริษัทยาข้ามชาติ และนำมาสู่การร่วมมือร่วมใจกันโค่นหมอวิทิตในที่สุด"

นพ.เกรียงศักดิ์ บอกว่า อภ.เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ทั้งตรึงราคายา ลดราคายา ดังนั้นถ้าไม่มี อภ. และไม่มี นพ.วิทิต ขณะนี้ราคายาก็คงยังแพงอยู่ แต่เมื่อนพ.ประดิษฐ เข้ามากลับปลด นพ.วิทิต โดยอ้างว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ

"อภ.มันกำไรมากไม่ได้หรอก เพราะจุดประสงค์ไม่ได้มีเพื่อแสวงหากำไรแต่เพื่อทำให้คนไทยเข้าถึงยาได้มากขึ้น"

ฉะนั้นหลายครั้งที่ อภ.จำเป็นต้องยอมขาดทุนเช่น ช่วงอุทกภัย ปี 2554 ที่บริษัทน้ำเกลือประสบปัญหาการผลิตทั้งหมด ทำให้ต้องนำเข้าน้ำเกลือจากต่างประเทศทั้งหมด ตอนนั้นรัฐมนตรีวิทยาก็สั่งการให้ นพ.วิทิต หาน้ำเกลือให้ได้ พอ นพ.ประดิษฐ เข้ามารับตำแหน่งก็ยังให้ นพ.วิทิต สำรองน้ำเกลือเพิ่มอีก ทว่าสุดท้ายกลับไม่ได้ช่วย นพ.วิทิตขาย แล้วก็ไปโทษ นพ.วิทิต ว่าบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้น้ำเกลือเหลือมากเกินไป

"ผมไม่เคยคิดเลยนะว่าเขาจะกล้าปลด เพราะภูมิคุ้มกันแกเข้มแข็งมาก แต่เขาก็ทำได้ เขาก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง"

สำหรับสาเหตุที่ต้องปลด นพ.วิทิต ประธานชมรมแพทย์ชนบทวิเคราะห์ว่า 1.นพ.วิทิต แข็งเกินไป 2.ภาพลักษณ์ของ นพ.วิทิต ถูกผูกติดเข้ากับชมรมแพทย์ชนบท โดยเฉพาะติดกับ นพ.วิชัยทั้งที่จริงๆ แล้ว นพ.วิทิต ก็ไม่ได้คลุกคลีอะไรกับเรามาก 3.ต้องการตีชิ่งไปถึง นพ.วิชัย ที่เป็นอดีตประธานบอร์ด เพราะ นพ.วิชัย ถูกมองเป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายรัฐบาล

จึงต้องจับตาว่า คณะกรรมการที่เวทีเจรจา3 ฝ่ายเสนอให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง และแพทย์ชนบทได้เสนอชื่อของนพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองปลัด สธ. มาเป็นประธาน จะสรุปข้อเท็จจริงออกมาเป็นอย่างไร

P4P ปฏิรูปกำลังคน ต้นเหตุสมองไหล

นโยบายปฏิรูปที่เรียกแขกมากที่สุด หนีไม่พ้นการปฏิรูประบบกำลังคนด้วยการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P)

ลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งขนาดใหญ่ เกิดการเดินสายชูป้ายประท้วง ฉีกรูป ไปจนถึงขับไล่นพ.ประดิษฐ ทุกครั้งที่กระทรวงสาธารณสุขจัดเวทีชี้แจง P4P ในภูมิภาค ขณะเดียวกันโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งทั่วประเทศ ก็ขึ้นป้าย "ประดิษฐออกไป" ทั่วประเทศ โดยแกนนำสำคัญก็คือ คุณหมอเกรียงศักดิ์ และแพทย์ชนบทนั่นเอง ที่เดินสายต่อต้าน P4P มาตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา

"ถ้าคุณจะปฏิรูปกำลังคนจริงๆ จังๆ ผมเห็นด้วย แต่พอดูวิธีการของคุณจริงๆ มันไม่ใช่แล้ว คุณมองแค่ประสิทธิภาพ ใช้จ่ายเงินถูกเท่านั้น แต่ถามว่าชาวบ้านจะได้อะไรที่ดีขึ้น คุณไม่พูดถึงเลย มองแต่ด้านทุนนิยมอย่างเดียว พฤติกรรมคุณมันไม่ต่างกับที่โรงพยาบาลเอกชนมองผู้ป่วยเลย" หมอเกรียงศักดิ์ เกริ่นให้ฟัง

ก่อนจะย้อนความต่อว่า นโยบาย P4P เกิดขึ้นหลังจากแพทย์ชนบทผลักดันระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนไม่ "สมองไหล" ไปเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน หรือเคลื่อนที่เข้าโรงพยาบาลใหญ่ในเขตเมือง สำเร็จเมื่อปี2551 ในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น รมว.สาธารณสุข จนทำให้แพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลชุมชน เพิ่มจากประมาณ 2,700 คนเป็น 4,000 คน โดยแพทย์เฉพาะทางเพิ่มจาก 200 คน เป็นเกือบ 800 คน หรือเพิ่มกว่า 200%

"นั่นทำให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดโรงพยาบาลชุมชนจึงได้มากกว่าทั้งที่ทำงานน้อยกว่า จึงไปคิดเกณฑ์เพื่อที่จะทำให้ตัวเองได้บ้าง ทว่ากลับถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทำหนังสือทักท้วง ในที่สุด สธ.จึงออกระเบียบ P4P ขึ้นมา เพื่อให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้ค่าตอบแทนเพิ่มเติมบ้าง เมื่อโรงพยาบาลขนาดใหญ่ต้องทำ P4P เพื่อให้ได้เงินจึงเกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมโรงพยาบาลชุมชนไม่ต้องทำ ในที่สุดเขาก็บอกว่าเราต้องทำด้วย" หมอเกรียงศักดิ์เล่าให้ฟัง

อันที่จริงเขาไม่ได้คัดค้านอะไร หาก P4P ในโรงพยาบาลชุมชนจะเกิดขึ้นด้วยพื้นฐานของการจ่ายเพิ่มจากเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเดิม แต่สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขทำ คือการทยอยตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายออกทั้งหมด ภายในเดือน เม.ย. 2557 คงเหลือเพียงพื้นที่เฉพาะ เช่น พื้นที่เกาะ และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น

"เงินไม่ใช่ปัจจัยอย่างเดียวสำหรับผม แต่ปัญหาคือมันจะไม่มีน้องคนไหนอยากมาอยู่ต่อวันนี้มันอาจจะน้อย แต่ถึงเวลาที่ผมเกษียณ มันอาจจะไม่เหลือแพทย์อยู่เลย" หมอเกรียงศักดิ์แสดงความกังวล

ประธานชมรมแพทย์ชนบท อธิบายว่า ผู้ใหญ่ในกระทรวงมักจะมีชุดความคิดหนึ่งอยู่เสมอว่าหมอในโรงพยาบาลชุมชนไม่ทำงาน คอยแต่ส่งต่อคนไข้อย่างเดียว ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าหลายแห่งอาจวิตกกังวลในการรักษาคนไข้มากขึ้น หลังแพทย์ที่โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ต้องถูกตัดสินจำคุก เพราะผ่าตัดไส้ติ่งแล้วทำให้คนไข้เสียชีวิต เมื่อปี2550 ทำให้หลายโรงพยาบาลชุมชนเลือกที่จะส่งต่อ แทนการแบกรับความเสี่ยง เนื่องจากผ่าตัดภายใต้เครื่องมือไม่พร้อม

ทว่า ตัวเลขที่เขามีจากงานวิจัยของ สวรส. หรือจาก สปสช. ก็ระบุชัดว่า หมอโรงพยาบาลชุมชนทำงานหนักกว่าโรงพยาบาลจังหวัดหลายเท่า เพราะฉะนั้นหากเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่เป็นแรงจูงใจเดียวในการอยู่ในพื้นที่หายไป และได้ค่าตอบแทน P4P ที่ไม่ต่างกับโรงพยาบาลในเมือง หรือในโรงพยาบาลเอกชน หมอก็ย่อมไปอยู่ในพื้นที่ที่ทำงานง่ายกว่าและได้ค่าตอบแทนที่ไม่ต่างกัน

"สธ.ให้เราเข้าไปร่วมเวิร์กช็อปเรื่องนี้ไม่ต่ำกว่า4 รอบ ซึ่งเราก็อธิบายหมดแล้วว่าตรงไหนไม่ถูกต้องบ้าง แต่สิ่งที่เขาจะทำ เขาก็ยังยืนกรานที่จะทำ เช่นตัดฐานเงินเดือน 21 ปีขึ้นไปออก กลายเป็นว่าแพทย์ที่มีประสบการณ์มากถูกตัดเงิน ถามว่ามีใครเขาทำบ้าง หรืออย่างเคสคลาสสิก อย่างโรงพยาบาลบางบัวทอง โรงพยาบาลบางกรวย ที่รัฐมนตรี ปลัด ไปบอกอยู่ตลอดว่าไม่ควรให้แล้วเพราะเป็นเขตเมืองแล้ว แต่ถ้าถามว่าให้เลือกระหว่างโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กับโรงพยาบาล2 แห่งนี้ คุณก็ต้องเลือกโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเพราะโรงพยาบาลบางบัวทองมันไม่มีเครื่องมือขณะเดียวกันความก้าวหน้าในวิชาชีพก็น้อยกว่าเพราะฉะนั้นพอไปตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเขา หมอโรงพยาบาลบางบัวทองเลยลาออกทันที 2 คน ผมจะชี้ให้เห็นว่ามันไม่ใช่แค่มีเซเว่นอีเลฟเว่นแล้วจะบอกว่าเจริญแล้วต้องตัดเงินออก แต่มันยังมีปัจจัยอื่นๆแวดล้อมอีกมาก"

ขณะเดียวกัน ในทางปฏิบัติ ระบบนี้ก็จะทำให้หมอมองผู้ป่วยเป็นงานๆ หนึ่งเท่านั้น เพราะจะต้องเก็บคะแนนอย่างละเอียดว่าแต่ละวันตรวจคนไข้ได้กี่คน และได้วินิจฉัย รวมถึงรักษาอะไรไปแล้วบ้าง เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่าการรักษาอาจเป็นไปในเชิงปริมาณมากกว่าในเชิงคุณภาพ ขณะเดียวกันระบบการวัดผลก็ไม่สามารถสะท้อนออกมาได้ว่าคนไข้ได้สุขภาพที่ดีขึ้น หรือมีความพึงพอใจขึ้นจากระบบนี้หรือไม่ เพราะคะแนนทุกอย่างถูกประเมินเพื่อเป็น"ค่าตอบแทนหมอ" เพียงอย่างเดียว

ส่วนการเดินหน้าต่อของ P4P หลังการเจรจาเมื่อวันที่6 มิ.ย. จบลงแล้วนั้น หมอเกรียงศักดิ์ยืนยันว่า จะแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อไปในคณะกรรมการชุดที่แพทย์ชนบทจะเข้าไปร่วมพิจารณารูปแบบค่าตอบแทนและพื้นที่ที่เหมาะสม และหากนพ.ประดิษฐ จะยืนกรานใช้ P4P รูปแบบนี้เหมือนเดิม หลังวันที่ 1 ต.ค.นี้ แพทย์ชนบทก็จะออกมาเคลื่อนไหวแสดงพลังต่อต้านอีกแน่นอน

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 9 มิถุนายน 2556