ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลการหารือ 3 ฝ่ายเพื่อหาข้อยุติปัญหาความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างกลุ่มชมรมแพทย์ชนบท กับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ที่ยืดเยื้อมาร่วม 3 เดือน เมื่อ 6 มิถุนายน 2556 ที่ทำเนียบรัฐบาล

ฝ่ายแรกคือ สุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรี เป็นคนกลางทำหน้าที่เจรจา ขณะที่อีกสองฝ่ายคือ ฝ่ายผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข คือ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. และฝ่ายชมรมแพทย์ชนบท รวมถึงองค์กรภาคประชาชน เช่น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม, กลุ่มคนรักหลักประกัน

โดยทั้งหมดใช้เวลาหารือในวันดังกล่าวนานกว่า 4 ชั่วโมง ประเด็นที่มีการพูดคุยกันมากสุดคือ ความเห็นที่ไม่ตรงกันของ นพ.ประดิษฐกับชมรมแพทย์ชนบท ในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี (Pay for Performance: P4P) ซึ่งสุดท้ายมีมติร่วมให้มีการจัดตั้งคณะทำงานไปปรับปรุงกฎระเบียบ ในข้อที่ยังเห็นไม่สอดคล้องกับบริบทของหน่วยบริการในแต่ละพื้นที่ และคิดมาตรการชดเชย เยียวยาให้กับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการที่สถานพยาบาลที่สังกัดทำพีฟอร์พี หรือสถานพยาบาลไม่ได้ทำพีฟอร์พี อันมีสาเหตุจากความไม่พร้อมของส่วนกลางที่ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนได้ โดยคาดว่าคณะทำงานจะใช้เวลาดำเนินการ 2 เดือน

ท่าทีของชมรมแพทย์ชนบทนับจากนี้จะเป็นอย่างไร ต่อข้อเรียกร้องในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา เช่น การขอให้นายกรัฐมนตรีปลด นพ.ประดิษฐ, การเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ที่ถูกให้ออกจากตำแหน่ง ผอ.องค์การเภสัชกรรม และการคัดค้านพีฟอร์พี "ไทยโพสต์ แทบลอยด์" ตรวจแถวท่าทีดังกล่าวหลังการเจรจา 3 ฝ่ายเสร็จสิ้นลง เพื่อดูว่าศึกนี้จบลงหรือยัง

......................................

"นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของแพทย์ชนบท ทำการคัดค้านนโยบายพีฟอร์พีและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีปลด นพ.ประดิษฐออกจากตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข "นพ.อารักษ์" สรุปภาพรวมการเจรจากันเมื่อ 6 มิ.ย.56 ซึ่งผลที่ออกมาแกนนำแพทย์ชนบทบอกว่า มันเป็นชัยชนะของทุกฝ่าย

...ก่อนการเจรจาเราบอกแล้วว่าจะคุยกันแบบสุภาพบุรุษ  ถ้าเมื่อไหร่เรารับปากว่าอยู่บนโต๊ะของการเจรจา สันติวิธี พยายามหาทางออก เราจะไม่ทำอะไรทั้งสิ้นที่จะทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ และทำให้การเจรจาไม่บรรลุผล เราจะไม่มีม็อบมากดดัน เราจะไม่สัมภาษณ์ออกสื่อเพื่อดิสเครดิตอีกฝ่ายหนึ่ง เราจะไม่มีการปลุกระดมเพื่อเอากำลังแต่ละฝ่ายมาเผชิญหน้ากัน

...ปรากฏว่าเราก็ผิดหวัง ฝ่ายนั้นเกณฑ์คนมาเชียร์ ให้โรงพยาบาลจังหวัดถือป้าย แล้วขึ้นป้ายฟอร์แมตเดียวกันหมดเลย บอกสนับสนุนนโยบาย P4P สนับสนุนนโยบายการปฏิรูปอะไรต่างๆ ผมบอกว่ามันไม่ใช่ ถามว่าใครคิดใครทำ ถ้าคิดได้เอง ทำด้วยตัวเอง มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่จะออกมาเป็นฟอร์แมตเดียวกัน แต่อารยะขัดขืนของโรงพยาบาลชุมชนมีหลากหลายมาก ขึ้นป้ายแล้วแต่คนจะคิด อยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละคนว่า คิดว่าสิ่งเหล่านี้มันกระทบต่อพี่น้องประชาชนหรือเปล่า ก่อนหน้าเจรจาวันที่ 6 มิ.ย. หมอประ ดิษฐก็ไปแถลงข่าวก่อน แพทย์ชนบทจึงต้องแถลงแก้ข้อกล่าวหา แต่ก็ยังโชคดีที่ว่าประเด็นที่พูดถึงนั้น มันยังไม่ก้าวล่วงสู่การที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเสียความรู้สึก และมีผลกระทบต่อการเจรจา

...ในวงหารือที่ทำเนียบรัฐบาล แพทย์ชนบทก็เปิดประเด็นก่อนเลยว่าเรื่องหมอประดิษฐ ทำไมเราต้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาปรับออกจากตำแหน่ง ท่านไม่เหมาะสมอย่างไร จากนั้นก็ตามด้วยเรื่องหลักคือ P4P ที่เราย้ำว่าที่มาที่ไปของการจัดระเบียบค่าตอบแทน ที่จะเป็นแรงจูงใจให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน ให้ประชาชนในชนบทได้ใช้หมอที่มีประสบการณ์ ไม่ใช่หมอมือใหม่หัดขับ หมอเฉพาะทาง ให้เขาได้มีโอกาสอยู่กับระเบียบค่าตอบแทนฉบับเดิม ก่อนมาเป็นฉบับที่ 4 และฉบับที่ 6 ก็ชี้ให้เห็นความสำเร็จของระเบียบค่าตอบแทนเดิมที่ใช้อยู่ แต่กระทรวงทำเป็นมองไม่เห็นและพยายามเบี่ยงเบน โดยชี้ให้เห็นตัวเลขของบุคลากรที่เพิ่มขึ้นว่าแพทย์เพิ่มขึ้น 48% มีแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น 200% มีแพทย์บรรจุรับโอนทันตแพทย์กว่า 200 คน โดยชี้ให้เห็นตัวเลขที่เกิดจากปัญหาของระเบียบค่าตอบแทนฉบับใหม่ ว่ามันจะมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการทุจริตในการเบิกจ่ายเงินอย่างไร เช่น การสมคบสมยอมกัน การฮั้วกัน การจะทำข้อมูลที่เป็น..การที่กระทรวงเร่งรีบทำพีฟอร์พีได้ทำให้บุคลากรในด้านสาธารณสุขเกิดความแตกแยกมากมาย ชี้ให้เห็นว่าการที่คนไปประท้วงกันในทุกพื้นที่ ที่ผู้บริหารกระทรวงพยายามไปชี้แจงฝ่ายเดียวเนี่ย นะครับ มันเกิดปรากฏการณ์อะไร

...เราย้ำว่าทั้งหมดที่ทำ มันบั่นทอนการนำนโยบายลงไปสู่ประชาชน และถ้าเมื่อไหร่ที่บุคลากรมันแตกแยก แล้วยิ่งกระทรวงไปสั่งให้เอาม็อบมาชนกันเนี่ย นั่นหมายความว่าท่านเลือกข้างแล้ว ไม่มีทางที่จะเกิดปรากฏการณ์ของความร่วมมือในการทำงานได้เลย นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขมันก็เหมือนกระดาษ สั่งลงไปมันก็เหมือนกับฟองอากาศ ก็ไม่ปฏิบัติน่ะ แล้วรัฐมนตรีกับปลัดฯ จะอยู่ไปทำไม ในที่ประชุมเราก็เปิดประเด็นในการจัดซื้อเครื่องตรวจเบาหวานตรวจน้ำตาลในเลือดที่จะให้กับพี่น้อง อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) โดยที่ไม่มีระเบียบรองรับ แล้วเพิ่งมาทำระเบียบเมื่อไม่กี่วันมานี้ แล้วถามว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งส่อเจตนาทุจริต มีการชักหัวคิวไม่น้อยกว่า 20-40% และตามปกติเครื่องตรวจเบาหวานเขาไม่ซื้อกันแล้ว  เขาซื้อแถบวัด

...นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันบ่งชี้ว่า การที่จะโยกงบประมาณหลักประกันสุขภาพไปอยู่กับเขตพื้นที่ มันจะเข้าวัฏจักรเดิมๆ กลับไปสู่อำนาจการจัดสรรงบประมาณตามอำเภอใจ ที่ไหนเป็นลูกรักก็ได้มาก ที่ไหนเป็นลูกชังก็ได้น้อย เหล่านี้เป็นต้น ในที่สุดเราก็ได้อธิบายจนกระจ่าง ว่าเหตุผลที่เราคัดค้านคืออะไร ข้อเสนอแนะคืออะไร

"หลังจากนั้นรัฐมนตรีก็ได้ชี้แจง ชี้แจงไม่ยาวมาก เพราะว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่นโยบายของรัฐมนตรี เราฟังวันนี้ในที่ประชุม รู้เลยว่ารัฐมนตรีตกกระไดพลอยโจน แต่ฝ่ายประจำคือคนชงมา ชงมาทั้งหมดโดยที่ไม่รอบคอบ ไปพูดด้านเดียว ไม่ฟังอีกด้านหนึ่ง เราได้เข้าพบปลัดกระทรวงสาธารณสุข 4 ครั้ง เพื่อบอกว่า-พี่ครับนับถือกันเป็นพี่เป็นน้อง พี่อย่าทำแบบนั้นเลย พี่อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่าเลยนะ พร้ามันไม่หักหรอก แต่เข่าพี่จะหัก ท่านอย่าคิดใช้อำนาจแบบนี้เลย มันจะเกิดปรากฏการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าท่านใช้อำนาจที่อยุติธรรม กดขี่ข่มเหง รังแก ผมก็เคยบอกเสมอว่า จำภาษิตที่เขาพูดกันได้ไหม ตายสิบเกิดร้อย ตายร้อยเกิดพัน ตายพันเกิดแสน ไม่ดีหรอกครับ ท่านจะใช้อำนาจไปจงใจเจตนากลั่นแกล้ง ตั้งกรรมการมาสอบสวนแกนนำ ท่านบอกว่าจะสอบสวนการลา วิธีการแบบนี้อย่าใช้เลยครับ ไม่มีใครเขากลัว ไม่สำเร็จหรอก

ผมบอกในที่ประชุมเลยว่านายกฯ เหมือนพ่อแม่ของผม ที่ผมมาเรียกร้อง รัฐมนตรีคือพี่ชายคนโต ปลัดฯ ก็คงไม่พูดถึงนะ ส่วนโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดทั่วไปเหมือนพี่ชายคนกลาง  ไอ้พวกผมนี่มันลูกชายคนเล็ก แล้วยังมีพวก รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) เป็นลูกคนสุดท้อง แต่วันนี้เนี่ยรัฐมนตรีบอกว่า ไอ้ลูกชายคนเล็กมันมาโวยวาย ไอ้พี่ชายคนกลางไปตบหัวทีซิ ไอ้อย่างนี้มันไม่ถูก ใครเขาทำกัน ครอบครัวมันแตกแยก"

"แกนนำแพทย์ชนบท" สรุปถึงผลหารือวันดังกล่าวอีกว่า ทั้งหมดที่ได้พูดไปก็เชื่อว่าตอนนี้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบปัญหาแล้ว ส่วนปลัดกระทรวงฯ ก็พยายามพูดเท้าความเรื่องเดิม ที่มาที่ไป พยายามจะให้คนโน้นพูดคนนี้พูด รัฐมนตรีเริ่มเข้าใจ แต่ปลัดฯ ไม่เข้าใจ ปลัดฯ กลัวเสียหน้า รัฐมนตรีเข้าใจทุกอย่าง

...จนกระทั่งช่วงเที่ยงซึ่งมีการพักกินข้าว นั่งกันวงเล็กๆ รัฐมนตรีก็พูดเองกับพวกเราว่า P4P เมื่อเอามาใช้แล้วมีปัญหา สำหรับโรงพยาบาลชุมชนก็ให้เลื่อนออกไปก่อนจนถึงเดือนตุลาคม ในขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขก็มีหน้าที่ทำให้เห็นว่ามันดีจริง มันมีประโยชน์จริง คนทำงานมีความสุข ไม่ใช่บอกว่าแค่ 1% แล้วเอา P4P มาแทนที่เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเนี่ย มันไม่ได้

ประเด็นที่สอง เราบอกว่าระเบียบฉบับที่ 8 ที่เป็นเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ที่ถูกลดทอนไปของโรงพยาบาลหลายๆ โรง คนที่อายุงานเกิน 21 ปีก็ถูกตัดทอน อายุงานเกิน 10 ปีก็ถูกตัดทอน พื้นที่ก็ถูกตัดทอน ทั้งๆ ที่เขาลำบาก หมอยังไม่มีอยู่ วิชาชีพอื่นก็ยังมีปัญหาอยู่ เราก็บอกว่าขอให้เยียวยา เพราะ มติ ครม.คราวที่แล้วที่ฉะเชิงเทราบอกว่า ถ้าบุคลากรคนไหนส่วนไหนได้รับผลกระทบก็ขอให้เยียวยา โดยเยียวยาเหมือนกับฉบับที่ 4 ฉบับที่ 6 แต่ไม่อยากพูดในที่ประชุมว่าฉบับที่ 4 ฉบับที่ 6 นะ จะเยียวยาแต่ในส่วนที่มีผลกระทบ ซึ่งจะต้องเอาเข้า ครม.ในอาทิตย์หน้า จากนั้นออกคำสั่งหรืออะไรก็ได้ เป็นมติให้ดำเนินการเยียวยาโดยเพิ่มจากฉบับที่ 8 ที่ถูกลดทอน ตั้งแต่เมษายนถึงมิถุนายน แล้วหลังจากนั้นก็ตั้งกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เพื่อไปดูทั้งระบบว่าจะออกระเบียบฉบับใหม่ขึ้นมาที่พวกเราพอใจ ในการที่จะทำให้เห็นว่าสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับบุคลากรในชนบท แล้วที่เขาบอกว่าอยากจะให้ความเป็นธรรมกับวิชาชีพอื่นก็อยู่ในชุดนี้ ไปทำให้มันเสร็จ ส่วนคณะกรรมการนั้นขอให้มีส่วนร่วมจากเครือข่ายที่มารวมตัวกันวันนี้ ไม่ใช่เฉพาะแพทย์ชนบทนะ เพราะเรื่อง P4P ต้องให้สหภาพฯ เข้าไปร่วมด้วย เครือข่ายผู้ป่วยเข้าไปร่วมด้วย เขาอยากรับรู้รับทราบ เขาจะได้ตามประเด็นได้ ก็เป็นข้อยุติ เรื่อง P4P ถึงเดือนตุลาคม ปี 2556 ถ้ากรรมการชุดนี้คุยกันเสร็จแล้วตกลงจะทำ มีเงื่อนไขคือ 1.ให้ทำในลักษณะที่สมัครใจ 2.ไม่บังคับว่าต้องทำทั้งองค์กร จะทำเฉพาะกลุ่มวิชาชีพก็ได้

- ท่าทีของแพทย์ชนบทสรุปว่าเวลานี้เอาอย่างไร พอใจมากน้อยแค่ไหนกับการหารือที่ผ่านมา?

ผมคิดว่าพอใจระดับหนึ่งนะ ครึ่งเดียว เพราะว่าสิ่งที่เป็นข้อเสนอในวันนี้มันยังไม่ปรากฏผล สมาชิกเขารออยู่ คือผมเนี่ยเหมือนผู้นำทางจิตวิญญาณนะ ไม่มียศไม่มีตำแหน่ง เขาบอกว่าชมรมแพทย์ชนบทมีไม่กี่คน ไม่จริงหรอก วันนี้มันเกิดปรากฏการณ์ที่เขาว่าฝนถล่มฟ้าทลายน่ะ ออกมาเต็มไปหมดเลย มีผู้นำเต็มไปหมดเลย เป็นปรากฏการณ์ทุกพื้นที่ กระทรวงก็เห็น เพราะฉะนั้นผมมองว่ากระทรวงจะนิ่งเฉยไม่ได้ ถ้าหากนิ่งเฉยต่อไป มันจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล

- ที่บอกว่าพอใจแค่บางส่วน แล้วอีกส่วนที่ยังไม่พอใจคือตรงไหน?

ในส่วนข้อเสนอเนี่ยรับได้หมดแล้ว แต่อีกส่วนที่ขอให้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี เราก็ให้เป็นอำนาจนายกฯ เพราะเป็นคนแต่งตั้ง ต้องให้นายกฯ พิจารณาตรงนี้ เรื่องนี้ยังอยู่ในข้อเสนอ แต่ไม่ได้ดีเบตกันเวลานี้ จากการพูดคุยวันนี้เห็นตรงกันแล้ว 3 ข้อ รัฐมนตรีค่อนข้างที่จะเข้าใจมาก ผมคิดว่าถ้าปลัดกระทรวงฯ ยังดื้อ ตัวรัฐมนตรีต้องใช้อำนาจ

- ถือว่าเป็นชัยชนะของแพทย์ชนบทได้ไหม?

ผมคิดว่าเป็นชัยชนะ ทุกคนมองว่าเป็นชัยชนะ เป็นชัยชนะของทั้ง 2 ฝ่าย กระทรวงสาธารณสุขอย่าคิดว่าเสียหน้า ท่านต้องถือเป็นชัยชนะ เพราะทำให้กระบวนการของการพูดคุยกันของปัญญาชนมันเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมากระทรวงมีทิฐิตลอด มองเราเป็นเด็กเกเร คนที่อยู่ภายใต้ความกดดันจากอำนาจที่ไม่ชอบ ถามว่าการแสดงออกคืออะไร เราก็ต้องใช้สิทธิ์เรียกร้อง นี่คือความงดงามของโรงพยาบาลชุมชนในกระทรวงสาธารณสุข เป็นความงดงามที่สามารถสร้างปรากฏการณ์เพื่อต่อสู้กับความฉ้อฉล ต่อสู้กับความอยุติธรรม ความไม่ชอบมาพากลในระบบ

- ระหว่างนี้ก่อนจะถึงเดือนตุลาคม แพทย์ชนบทมีแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไร?

หนึ่ง-เราจะรอมติ ครม.เร็วๆ นี้ และมาตรการการเยียวยา เข้าใจว่าน่าจะต้องเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อที่ให้เราสามารถจ่ายเงินได้ เพราะเวลานี้ทุกคนรอเงินอยู่ อย่างบางคนอายุราชการ 21 ปีขึ้นไปเนี่ย เขาเริ่มเตรียมตัวที่จะเกษียณแล้ว บางคนเหลืออีก 3-4 ปีจะเกษียณ เริ่มสร้างบ้านแล้ว แต่บอกจะไปตัดเงิน เขาทุ่มเทกับราชการมาทั้งชีวิต วันนี้เขาไม่มีเงินจะไปจ่ายค่าทำบ้านที่เขาเตรียมตัว เขาอยู่บ้านหลวงมาตลอดชีวิต แล้วไปหมิ่นศักดิ์ศรีบอกว่าเขาไม่ทำงาน ทั้งที่ทำมาตลอดชีวิต

ส่วนกระบวนการออกระเบียบใหม่ คุยกันเรื่อง P4P ใหม่ คิดวิธีการคิดงานคิดเงินแบบใหม่ ซึ่งอย่าเอามาเป็นรายกิจกรรมแบบนี้ เอาสิ่งที่เป็นตัวชี้วัดเลยว่าชาวบ้านจะได้อะไร

ถ้าผมมีส่วนในการเสนอนะ ผมจะบอกเลยว่าการคิดคะแนน P4P เนี่ยนะ ผมจะไม่ไปคิดว่าหมอตรวจคนไข้ 1 คน ได้ 5 แต้ม หรือตรวจคนไข้ฉุกเฉินได้ 10 แต้ม หรือผ่าตัดได้เท่านั้นเท่านี้ แต่ผมจะบอกเลยว่าแพทย์มาทำงานตรงเวลาผมให้ วัดตาม KPI (Key Performance Indicator) ไปเลย

อันที่สอง คือปัญหาของประชาชน เช่น คนไข้เบาหวานสามารถคุมน้ำตาลได้ โดยมีตัวชี้วัดคือน้ำตาลในเม็ดเลือดแดงได้ไม่น้อยกว่า 80% ให้เงินเพิ่มเขาไป หรือคนไข้ติดเชื้อเอชไอวี สามารถดูแลจนชี้วัดได้ว่าเม็ดเลือดขาวอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น ให้ไปเลย แล้วลักษณะการให้ ต้องให้เป็นทีมนะครับ เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยก แล้วในทีมก็ไปบอกกันเอง เขาก็ไปแบ่งกันเอง เขามีระบบของเขาอยู่แล้วว่าแพทย์ควรได้เท่าไร พยาบาลควรได้เท่าไร อย่างนี้มันจะเป็นดัชนีชี้วัด P4P ที่แท้จริงว่าประชาชนได้อะไร

แต่ลักษณะดังกล่าวเนี่ย กลายเป็นว่าคุณทำเป็นกิจกรรม แล้วทุกคนก็ทำด้วยความรู้สึกว่าขอให้เสร็จๆ ไป แล้วที่สำคัญที่สุดคือ มันไม่มีเครื่องมืออะไรเลย ที่จะทำให้เขารายงานผลงานที่เขาทำอย่างถูกต้อง และไม่เสี่ยงต่อการทุจริต กลายเป็นว่าถ้ามาคิดแต้มแบบนี้แทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายนะ

ผมยกตัวอย่าง หมอทำงานปกติเริ่มแปดโมงครึ่ง เลิกสี่โมงครึ่ง แต่ตอนนี้บ่ายสามต้องหยุดแล้วเพราะต้องมาคิดแต้ม มีเพื่อนผมที่โรงพยาบาลจังหวัด ปกติก็เลิกสี่โมงครึ่ง แต่ลืมจดแต้ม หลักฐานก็หาไม่ได้ อ้าว ทำยังไงดี เหมาๆ ไปละกัน ไอ้นั่นทุจริตนะ ทุจริตโดยไม่รู้ตัว

บางกลุ่มวิชาชีพที่ใช้เวลาดูแลคนป่วยนานมาก เช่น หมอเวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือนักกายภาพ ที่ต้องไปเยี่ยมบ้านคนไข้ กว่าจะเดินทางไปได้ ไม่ถูกกำหนดไว้ในนี้ หรือผู้บริหารก็ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ว่า เอ๊ะ ประชุม 1 ชั่วโมงได้กี่แต้ม และหากผู้บริหารมากำหนดให้ตัวเองได้แต้มมากผู้ใต้บังคับบัญชาไม่พอใจนะครับ มันจะเกิดความขัดแย้ง เพราะคุณให้คะแนนเป็นรายบุคคล แล้วเมื่อก่อนกระทรวงสาธารณสุขโดยท่านปลัดฯเอง เป็นคนโจมตีวิพากษ์ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ที่พยายามให้โอกาสประชาชนในการเข้าถึงบริการบางประเภทที่หมอไม่ค่อยทำ เช่น ผ่าตัดต้อกระจก ผ่าตัดหัวใจต้องรอคิวนาน ตอนนี้ก็ให้โรงพยาบาลเอกชนมาทำ ให้โรงพยาบาลศูนย์มาทำ โรคมะเร็ง เหล่านี้เป็นต้น เขาบอกว่ามีรายละเอียดมากเกินไป เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ในการบันทึกข้อมูล นั่นขนาดทำเพื่อโรงพยาบาลนะ

แต่วันนี้ทุกคนต้องมีจดแต้มหมดน่ะ แล้วถามว่าใครไปตรวจสอบ ผมจะไปเซ็นสุ่มสี่สุ่มห้าได้อย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่าที่เขาเสนอมานี่ถูกต้อง หมอฟันอุดฟันให้คนนั้นคนนี้เท่านี้ซี่  คุณคิดว่าผมมีปัญญาไปตรวจสอบไหม ผมก็กลัวผมจะติดคุกนะ เพราะกระทรวงไม่ได้รับผิดชอบอะไร

และที่วันนี้มันพิกลพิการ เพราะเงินที่เอามาเนี่ยโรงพยาบาลจังหวัดให้ 8.95% เมื่อคิดรายหัวแล้วคิดว่าทุกคนได้เท่ากัน กลับมากกว่าแฟลตเรตของโรงพยาบาลชุมชนเสียอีก เพราะฉะนั้นที่บอกว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ จะแก้ปัญหาภาระงบประมาณ มันไม่ใช่แล้ว

- ที่เดิมนัดหมายหากการหารือไม่ได้ข้อยุติจะไปชุมนุมหน้าบ้านนายกรัฐมนตรี 20 มิ.ย. ถึงวันนี้เอาอย่างไร?

ตามกำหนด วันที่ 20 ก็ยังไม่ได้ยกเลิก แต่ข้อยุติว่าจะยกเลิกก็ต้องผ่านไป 2-3 วัน ในการที่จะจัดทำข้อเสนอเป็นเอกสาร คือเลขาฯ ของที่ประชุม และเลขาฯ ของกลุ่มเครือข่ายต้องสรุปรายงานการประชุมให้ตรงกัน เมื่อตรงกันแล้วได้ข้อยุติแล้ว ก็ไม่เป็นไรเพราะเวลายังมี วันที่ 20 เราประกาศได้

ถ้าเป็นไปตามที่ตกลงไว้ก็จะยุติการชุมนุม แต่หากมีการเบี่ยงเบนหรือชะลอเรื่อง ถ่วงเวลา ก็มีสิทธิ์ที่จะเกิดขึ้นอีก แต่ผมเชื่อว่าท่าทีของสุรนันทน์และ นพ.ประดิษฐชัดเจนขึ้นว่า เรื่อง P4P ไม่เกี่ยวกับท่านเลย อยู่ที่ปลัดกระทรวงฯ แล้วตอนนี้

- มาถึงวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างแพทย์ชนบทกับหมอประดิษฐ และผู้บริหารของกระทรวง ที่คนเรียกว่าศึกเสื้อกาวน์จบหรือยัง?

ผมคิดว่ามาอยู่บนโต๊ะเจรจาแล้ว และฝ่ายเราก็มองประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่มองเพื่อตัวเอง มิเช่นนั้นคงไม่สามารถดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขนาดนี้  พวกเราไม่มีนัยอะไรที่จะมองได้ว่าเป็นเรื่องของการเมือง  พวกเรามีความจริงใจในการเจรจา และหวังว่าข้อสรุปจากการเจรจาในวันนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติโดยเร็ว เพราะการทำอะไรที่ช้าคือความไม่เป็นธรรม การทำอะไรที่ช้ามันจะสะท้อนภาพว่าไม่จริงใจ

- ประเมินยังไงกับท่าทีของหมอประดิษฐที่อ่อนลง ยอมขอเจรจาทั้งที่ก่อนหน้านี้ค่อนข้างแข็งกร้าว?

ยังไม่ได้พูดคุยกันจึงไม่อยากจะเบลม (กล่าวหา) หรือทำให้เสียบรรยากาศการพูดคุย เราโยนเรื่องนี้ไปให้นายกฯ อยู่ที่การบริหารราชการในช่วงต่อไป ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

ต่อไปจากนี้เราจะติดตามต่อไป หวังว่ารัฐมนตรีจะมีการบริหารแบบมีส่วนร่วม อย่าใช้อำนาจ อย่าใช้การบริหารเหมือนบริษัทส่วนตัว กลไกของรัฐมันมีผู้เกี่ยวข้องมากมาย ท่านไม่สามารถทำแบบนั้นได้หรอก เขาบอกว่านักบริหารที่ดีต้องฟังให้มาก ถ้าท่านมีจิตใจของนักบริหาร ท่านต้องฟังให้มากและอย่าเลือกข้าง ถ้าเลือกข้างแล้วเนี่ยไม่สามารถที่จะประสานความร่วมมือทำงานได้สำเร็จ เพราะในกระทรวงสาธารณสุขเนี่ยไม่มีสถานบริการใดๆ ที่จะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง ประชาชนต้องพึ่งกันเป็นแบบลูกโซ่เครือข่าย.

-     มากับพระ-เจรจา 3 ฝ่าย ใครชักใย 'หมอประดิษฐ'?

          นั่งคุยกันที่ทำเนียบรัฐบาล หลังเสร็จสิ้นการหารือกับตัวแทนนายกรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข โดย "นพ.อารักษ์" บอกว่าที่มาคุยกันที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มแพทย์ชนบท 10 กว่าคนได้นำ "พระพุทธรูปปางมารวิชัย" ที่เป็นพระประจำชมรมแพทย์ชนบทมาด้วย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการเปิดโต๊ะเจรจาครั้งนี้ เพื่อหวังให้การหารือบรรลุในสิ่งที่แพทย์ชนบทเคลื่อนไหวกันมาหลายเดือน

ซึ่งระหว่างการสัมภาษณ์ นพ.อารักษ์ก็ได้นำพระพุทธรูปปางมารวิชัยดังกล่าวมาตั้งไว้บนโต๊ะด้วย พร้อมเล่าให้ฟังว่า หลายปีที่ผ่านมาชมรมแพทย์ชนบทเคลื่อนไหวหลายเรื่อง เช่น คดีทุจริตจัดซื้อยา 1,400 ล้านบาท จนศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุกรักเกียรติ สุขธนะ อดีต รมว.สธ., คดีจัดซื้อและวางโครงข่ายระบบคอมพิวเตอร์ 900 ล้าน, คดีจัดซื้อรถฉุกเฉิน, ตรวจสอบงบไทยเข้มแข็งในส่วนของกระทรวงร่วม 3 หมื่นล้านบาท หลายครั้งคนในชมรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทคนปัจจุบัน เคยโดนอดีตปลัด สธ.ย้ายด่วนจาก รพ.ชุมชนที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ชนิดไม่ให้ตั้งตัว เพราะออกมาตรวจสอบเรื่องทุจริตการจัดซื้อคอมพ์ ทำให้มีผู้ใหญ่ที่หมอชนบทเคารพนับถือได้มอบพระพุทธรูปปางมารวิชัยดังกล่าวให้กับชมรมแพทย์ชนบท เพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ

"นพ.อารักษ์" ยอมรับว่าการเคลื่อนไหวเรื่องพีฟอร์พี  ช่วงแรกหมอชนบทเคลื่อนแล้วขยับลำบากพอสมควร เพราะเป็นเรื่องที่อธิบายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ยาก บางคนก็บอกว่าหมอชนบททำเพื่อตัวเอง บ้างก็ว่าไปถึงขั้นมีเรื่องการเมืองอะไรหรือไม่ ต้องใช้เวลาชี้แจงหนักพอสมควร ขณะเดียวกันก็ต้องมาเผชิญหน้ากับพวกหมอเหมือนกัน แต่เห็นต่างกัน หน้าที่ต่างกัน โดยเฉพาะที่เป็นผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข ที่ นพ.อารักษ์บอกว่าวัฒนธรรมบางอย่าง เช่น ความเป็นพี่เป็นน้องกันของคนในวงการแพทย์ที่ก่อนหน้านี้ถือว่ามีสูงมาก แต่เวลานี้ต่างกับอดีตมาก เพราะสิ่งนั้นได้หายไปแล้ว

...มันหายไปจริงครับ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างคุณหมอวิทิต อดีต ผอ.องค์การเภสัชกรรม ภาพลักษณ์ต่อสาธารณะดีมากทำงานเพื่อประชาชน ตั้งแต่ตอนอยู่อุตรดิตถ์ จนมาอยู่บ้านแพ้วเป็นต้นแบบ 30 บาทรักษาทุกโรค มาปฏิวัติวงการเภสัช จนสามารถสร้างภาพลักษณ์องค์การที่ไม่ต้องไปบังคับขู่เข็ญให้เขาซื้อยา สร้างโอกาสให้คนยากคนจน ยารักษาโรคยากๆ ท่านทำได้หมด แต่วันนี้คนที่อยู่ในบอร์ดคือคนที่ท่านเคยเรียก "พี่" อย่างสนิทใจทั้งหมด เป็นอธิบดี เป็นรองปลัดฯ เป็นข้าราชการที่เกษียณแล้ว ในวันนี้เรียกประชุมบอร์ดองค์การเภสัชกรรมแบบฉุกเฉิน ทำกันเป็นขั้นเป็นตอน ไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหา บอกปลดแล้ว บอกว่ามีความผิดด้วย ไม่จ่ายเงินชดเชยด้วย ความเป็นพี่เป็นน้องหมดไปแล้ว เขาทำทั้งนั้น ไม่ใช่พวกผมทำ

ผมพูดในที่ประชุมกับปลัดกระทรวง รมว.สาธารณสุข ว่า ตัวปลัดฯ และรัฐมนตรีมองผมเป็นแกนนำม็อบนะ ว่าผมไปชักจูงเขา ไปหลอกผู้ป่วยให้มาล้างไตที่บ้านท่านนายกฯ ได้ โห! ถ้าผมมีพลังในเชิงอำนาจอย่างนั้น ให้ผมเป็นปลัดกระทรวงฯ ดีกว่า แสดงว่าศักยภาพของผมเหนือกว่าปลัดกระ        ทรวงฯ มากเลย ผมไม่ต้องไปบังคับให้ใครมา ทุกคนเสียเงินกันมา เชื่อเถอะครับ ถ้าเขาไม่มีส่วนร่วม ไม่มีอุดมการณ์ ไม่มีความคิดว่ามันถูกแทรกแซง ไม่รู้สึกว่าถูกหมิ่นเกียรติหมิ่นศักดิ์ศรี เขาไม่มาหรอก

- เวลานี้ธรรมาภิบาลใน สธ.จะกลับไปเป็นเหมือนยุคเดิมไหม ที่มักมีปัญหาเรื่องทุจริตคอรัปชั่น การใช้อำนาจโดยมิชอบ จนมีคดีความมากมายก่อนหน้านี้

ผมคิดว่าท่าทีของผู้บริหารเป็นอย่างนั้น ฝ่ายข้าราชการประจำมีปัญหา ผมมองว่าฝ่ายข้าราชการเอาตัวการเมืองมาเป็นคนเดินเกม เดิมทีเราไม่เข้าใจว่าใครเป็นเครื่องมือใครกันแน่ แต่วันนี้ผมรู้สึกเสมือนหนึ่งว่าข้าราชการเป็นใหญ่ ผมใช้คำว่าคนใจแคบมากกว่า เพราะถ้าคนใจกว้างมันต้องเปิดโลกทัศน์ให้กว้าง จะได้ช่วยกันทำงาน กระทรวงสาธารณสุขต้องทำตัวให้เล็กลง

ผมอยู่โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลเล็กๆ พยายามมอบอำนาจ กระจายอำนาจให้ทุกคนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ตัดสินใจร่วมกัน แต่บางอย่างที่ต้องตัดสินใจวิกฤติก็ต้องเร็ว วันนี้เนี่ยจะมาบริหารงานโรงพยาบาลของรัฐเป็นแบบเสื้อโหลไม่ได้ และต้องสะท้อนให้เขาฟังว่า โรงพยาบาลรัฐไม่ได้ทำเพื่อกำไร แต่กำไรเพื่อขาดทุน เพราะบางพื้นที่ประชากรมีนิดเดียว แต่จำเป็นต้องมีโรงพยาบาลเพื่อให้ประชาชนเข้าถึง ไฟฟ้าถึงได้ ถนนถึงได้ ทำไมโรงพยาบาลทำให้เข้าถึงประชาชนไม่ได้ เขาก็เสียภาษีเหมือนกัน ที่ผ่านมายอมรับว่าเรื่องพีฟอร์พี ตอนแรกอธิบายให้ประชาชนเข้าใจยากว่าจะกระทบกับประชาชนอย่างไร จะทำให้เกิดภาวะสมองไหลหมอลาออกไปอย่างไร การอธิบายเรื่องนโยบายเมดิคัลฮับของรัฐมนตรีที่ก็จะส่งเสริมให้หมอถูกดูดออกจากระบบ อย่างถ้าไปทำพีฟอร์พีในสถานการณ์ที่อย่างในโรงพยาบาลชุมชน ทุกวันนี้หมอก็ไม่พออยู่แล้ว การทำพีฟอร์พีมันจะเกิดประโยชน์อะไร มันไม่มีประโยชน์ที่จะทำ เพราะทำอย่างไรก็ไม่มีหมอที่อาจจะลาออกไป

เราก็พยายามบอกว่าถอยมาก่อนได้ไหม ช่วงแรกยอมรับว่าประชาชนฟังก็ไม่ค่อยเข้าใจ เพราะไปฟังกระทรวงสาธารณสุข ฟัง รมต. ฟังปลัดกระทรวงอธิบายเรื่องการทำพีฟอร์พีมันก็ดูดี เพราะเขาพยายามบอกว่าทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ประชาชนได้ประโยชน์ แต่วันนี้ที่เราได้เคลื่อนไหวมาทั้งหมด เชื่อว่าคนจำนวนมากเริ่มเห็นแล้วว่าเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ไม่ได้มีการเมืองอะไรทั้งสิ้น

- ดูจากที่หมอชนบทบอกว่าตัว รมว.สาธารณสุขไปตกกระไดพลอยโจนผลักดันนโยบายหลายเรื่องออกมา เพราะมีข้าราชการชงเรื่องไปให้ ทำไมถึงเชื่อเช่นนั้น

ผมคิดว่าชัดขึ้น ผมมองว่าคุณหมอประดิษฐ  เป็นหมากตัวหนึ่งที่มีกลุ่มคนเบื้องหลังชักใย ผมมองว่าผู้บริหารฝ่ายข้าราชการประจำบางคนชักใยอยู่เบื้องหลัง แล้วใช้หมอประดิษฐเป็นตัวพรีเซนเตอร์ในการที่จะนำไปสู่เป้าหมาย

ส่วนคุณหมอประดิษฐเองจะมีกรอบความคิดอยู่ในหัวบ้างหรือเปล่า ผมไม่อาจวิเคราะห์ แต่เชื่อว่าคงมีอยู่บ้าง ถ้าไม่มี ใครมันจะชักจูงได้ง่ายๆ แต่ถามว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลหรือไม่นั้น หากเป็นนโยบายของรัฐบาล มันต้องสื่อผ่านคุณสุรนันทน์ วันนี้คุณสุรนันทน์ก็พูดชัด รัฐบาลไม่มีความคิดเรื่องนี้ แต่จริงเท็จอย่างไรผมไม่รู้นะ จะติดตามเรื่องเหล่านี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด

...การชุมนุมของเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชน และกลุ่มผู้รักความเป็นธรรมเนี่ย ตอนนี้ไม่ยากแล้ว เพราะหากประกาศว่าความเป็นธรรมยังไม่เกิดขึ้น ก็พร้อม แต่ไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้มันออกไปสู่สาธารณะว่าเราไปข่มขู่ ไม่ได้ข่มขู่อะไรทั้งสิ้นเลย แต่อยากให้สิ่งที่เราเรียกร้องว่าประชาชนจะสูญเสียโอกาส ไม่อยากให้ถึงเวลานั้น แล้วเราต้องมาตามแก้ปัญหากัน เพราะเราแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนหมอมา 30 ปีแล้ว เราใช้เงิน 160,000 ล้าน เพื่อผลิตหมอออกมาประมาณ 40,000 คน แต่เรากลับมีหมออยู่แค่ 10% ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 73% ของประเทศ จึงต้องถามว่าเป็นธรรมกับคนชนบทไหม เขาควรจะมีหมอที่มีประสบการณ์เฉพาะทาง อยู่กับเขานานๆ ยกเว้นว่าคนไหนมันเลวจริงๆ นะ ชาวบ้านก็จะไล่ไปเอง

การทำงานในโรงพยาบาลชุมชน มันไม่มีเวลาเข้างาน ไม่มีเวลาราชการ มันมีแต่เวลาราษฎรน่ะ เดี๋ยวชาวบ้านก็มาบอกว่า วันนี้มีงานศพนะ มีงานบวชนะ แข่งกีฬาต้านยาเสพติดนะ มีงานแต่งงานนะ มีงานทำบุญที่นั่นที่นี่นะ ต้องไปหมดครับ ไม่ไปไม่ได้ โรงพยาบาลจังหวัดไม่โดนแบบนี้นะครับ ภาษีสังคมแบบนี้ ท่านรัฐมนตรีไม่เจอเท่าผมหรอก แล้วเดี๋ยวนี้ใส่ซอง 300 บาทไม่พอนะ จะมีความรู้สึกว่าคนเป็นหมอนี่มันต้อง 500 บาทนะ (ฮา) แล้วคุณคิดดู เดือนๆ หนึ่งศพตั้งกี่ศพ พวงหรีดก็ 500 บาทแล้ว เงินทำบุญอีก ผมจะเอาเงินโรงพยาบาลไปให้ไม่ได้นะ มันเป็นเงินหลวง ใช้ไม่ได้ เงินส่วนตัวทั้งนั้น ภาษีสังคมเดือนหนึ่งเท่าไหร่ล่ะ แล้วถามว่าเราไม่อยู่แบบนี้กับเขาเหรอ เราต้องอยู่แบบนี้กับเขา ไม่เช่นนั้นเราจะหาความร่วมมือจากเขาไม่ได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 9 มิถุนายน 2556